ประวัติความเป็นมา
History
  • ความเป็นมา
    ความเป็นมาของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร

     

    คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2534 อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ใน 4 จังหวัด ที่มีสำนักงานภาคตั้งอยู่ คือ จังหวัดเชียงใหม่, ขอนแก่น, ชัยนาท, และสงขลา ต่อมาปี พ.ศ. 2537 การประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทั้ง 4 แห่ง โดยสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ผลในระดับที่น่าพอใจจึงได้ยุบเลิกสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ภาคทั้ง 4 ภาค และได้เกลี่ยอัตรากำลังไปปฏิบัติงานในสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ ของจังหวัดและคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2537 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดตั้งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นการถาวร โดยให้ กำกับ ดูแล ประสานการจัดทำแผนปฏิบัติงานโครงการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนเป็นศูนย์ข้อมูลด้านการเกษตรและสหกรณ์ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดตั้งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขึ้น เป็นส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 112 ตอนที่ 6 ก. ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

    สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีบทบาทภารกิจในการอำนวยการและบริหารจัดการเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามนโยบาย แผนงานและเป้าหมายที่กำหนด โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายในส่วนภูมิภาค ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถึงฉบับที่ 4 พ.ศ. 2558 ดังนี้

    1. อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

              1) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาการเกษตรรายสินค้า แผนบูรณาการการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด และการจัดทำงบประมาณด้านการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด

    2) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด กำกับการบูรณาการ และติดตามการใช้งบประมาณของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงในจังหวัด

    3) กำกับ ดูแล ควบคุม ประสาน ดำเนินงาน ติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานตามแผนงานและโครงการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัด

    4) ดำเนินงานโครงการพิเศษ โครงการในพระราชดำริ งานช่วยเหลือเกษตรกร งานภัยพิบัติ การเตือนการระบาดและเฝ้าระวัง และเตือนภัยสินค้าเกษตรในจังหวัด

    5) กำกับดูแล ควบคุม และพัฒนาข้าราชการและลูกจ้างในสังกัดกระทรวงในจังหวัด

    6) ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดให้เป็นศูนย์ข้อมูลและศูนย์แม่ข่ายข้อมูลด้านการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัด

    7) กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

    8) ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

    9) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

    2. โครงสร้างอำนาจหน้าที่กลุ่มงาน/ฝ่ายภายในสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

    1) ฝ่ายบริหารทั่วไป

    - บริหารงานทั่วไปของสำนักงาน

    - บริหารงานบุคคล

    - ประสานงานตรวจราชการประจำปีและของผู้บริหารระดับสูง

    - ประสานงานการดำเนินงานภายในจังหวัดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แหล่งวิชาการ และหน่วยงานอื่น

    - ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

    2) กลุ่มยุทธศาสตร์พัฒนาการเกษตร

    - จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของจังหวัด กลุ่มจังหวัด และพัฒนาการเกษตรรายสินค้า และแผนเชิงพื้นที่

    - บูรณาการจัดทำแผนงาน/โครงการ/งบประมาณของส่วนราชการสังกัดกระทรวงฯ ในจังหวัด และกลุ่มจังหวัด

    - จัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีด้านการเกษตรของจังหวัด

    - บูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานตามแผนงานโครงการ

    - ดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งกำหนดแผนและการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด

    - ติดตามประเมินผล แผนงาน โครงการ และงบประมาณของหน่วยงานในสังกัด

    - ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

    3) กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและโครงการพิเศษ

    - จัดทำ และประสานงานโครงการพระราชดำริ

    - งานความร่วมมือระหว่างประเทศ

    - งานรับเรื่องร้องทุกข์ การช่วยเหลือเกษตรกร งานภัยพิบัติ

    - งานนายทะเบียนกลุ่มเกษตรกรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

    - ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

    4) กลุ่มสารสนเทศการเกษตร

    - จัดทำข้อมูลและสารสนเทศด้านการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

    - เป็นศูนย์ข้อมูล และศูนย์แม่ข่ายข้อมูลด้านการเกษตรของจังหวัด

    - จัดทำระบบเตือนภัยด้านการเกษตร โดยแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืชและสัตว์ เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยสินค้าเกษตร

    - ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่การพัฒนาการเกษตร งานนิทรรศการ ผลิตเอกสารและวัสดุเพื่อการประชาสัมพันธ์

    - ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

    3. กรอบวิธีปฏิบัติของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

    กลไกการบริหารงานในส่วนภูมิภาค

    คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ โดยมีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นกรรมการและเลขานุการ ได้มีคำสั่งที่ 2/2561 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2561 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการ

    1) กำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน โครงการกิจกรรมพัฒนาการเกษตร และสหกรณ์ของจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบาย (Agenda) และแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ให้เป็นไปตามของนโยบายของรัฐบาล

    2) ทำหน้าที่เป็นกลไกในการกำกับ ดูแล ขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายและแนวทางการพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งแผนพัฒนาจังหวัดนั้น ๆ

    3) ประสานการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัด (Area-based) กับหน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

    4) ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานโครงการตามนโยบายที่สำคัญด้านการเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัด

    5) สื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารด้านการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

    6) แต่งตั้งคณะทำงาน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็นและเหมาะสม

    7) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย

               

     สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดกำแพงเพชร” ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2539   ตั้งอยู่ที่ ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร ชั้น 3 ถนนกำแพงเพชร-สุโขทัย ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 

ตกลง