กรมชลประทาน มุ่งพัฒนาระบบฐานข้อมูล ภายในหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดึงเอาเทคนิคของ AI มาใช้ เทคโนโลยีมีความแม่นยำสูง สามารถนำข้อมูลไปบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน พร้อมวิเคราะห์ คาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อน – อ่างเก็บน้ำล่วงหน้า ชี้เกษตรกรได้ประโยชน์สามารถนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจวางแผนเพาะปลูกในรอบสัปดาห์ต่อไป เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
กรมชลประทาน ได้มุ่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อใช้ปฏิบัติงาน (Big Data) ภายในหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรและประชาชน โดยนำเทคนิคของ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ ซึ่งเทคโนโลยีนับว่ามีความแม่นยำสูง โดยผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน วิเคราะห์ การคาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อน – อ่างเก็บน้ำล่วงหน้า 7 วัน และคาดการณ์การเพาะปลูกรวมไปถึงความต้องการน้ำของพืชรายสัปดาห์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันและนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจวางแผนการเพาะปลูกในรอบสัปดาห์ต่อไปเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กรมชลประทานได้พัฒนาระบบฐานข้อมูล (Big data) โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จัดทำ Dash Board กลางของกรมชลประทาน เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลกลางในการรับ-ส่ง ข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ และเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญเข้ามาสู่ Dash Board กลาง เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ระยะที่ 2 จัดทำ Dash Board เพื่อการวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ – อ่างขนาดกลางของกรมชลประทานและน้ำท่าตามสถานีวัดน้ำที่สำคัญตามลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กรมชลประทานตรวจวัดอยู่ ระยะที่ 3 จัดทำ Dash Board เพื่อใช้สำหรับรายงานข้อมูล และติดตามสถานการณ์น้ำ หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติ ของภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง