หมูหลุมคืออะไร ต่างจากการเลี้ยงหมูปกติอย่างไร เข้ามานี่มีคำตอบ เผยเทคนิคการเลี้ยงหมูหลุมที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน ว่าทำไมแต่ละแห่งบอกว่า จัดการง่าย ไม่เหม็น ทำอย่างไร ต้องขุดหลุม หรือมีคอก ฯลฯ อ่านบทความนี้จบ ไปหาหมูมาเลี้ยง รวยแน่นอน
ต้นกำเนิดการเลี้ยงหมูหลุม เริ่มจากไหนใครคิดค้น?
“หมูหลุม” ภาษาทางการเรียกว่า “สุกรที่เลี้ยงในระบบเกษตรธรรมชาติ“
คำว่า “หมูหลุม” เป็นภาษาชาวบ้านที่เรียกการเลี้ยงหมูแบบเดิมที่ผู้เลี้ยงไม่อยากให้หมูวิ่งเพ่นพ่าน พื้นที่เลี้ยงน้อย จึงขุดหลุมลึกประมาณ 1.5 – 2 เมตรเพื่อเป็นคอกสำหรับเลี้ยงหมู โดยมีวัสดุรองพื้นหลุม และอาหารหมู เป็นสิ่งที่หาได้ตามท้องถิ่นนั้นๆ
ต้นกำเนิดแต่เดิมผู้เขียนค้นเจอว่ามาจากประเทศเกาหลี ซึ่งเกษตรกรมีแนวคิดตามหลักการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ ที่เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (โดยแนวคิดนี้เป็นแนวคิดคล้ายๆ กับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวง ร.9) อยากรู้ว่าคล้ายกันอย่างไร ก็อ่านเต็มๆ ได้ที่ลิ้งด้านล่างนี้
การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำอย่างไรถึงได้ผล
เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ถูกคิดค้นมาเพื่อการ แก้ปัญหาดินและน้ำสำหรับเกษตรกรรม...
การทำเกษตรแบบพอเพียง
ในหลวง ร.9 ท่านบอกเราตั้งแต่ปี 2517 พระองค์ทรงเน้นการมีพอกินพอใช้ของประชาชน...
แนวคิดการเลี้ยงหมูหลุม และการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับแนวคิดการเลี้ยงหมูหลุมนี้ เป็นแนวคิดการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ทำลายระบบนิเวศน์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น วงจรชีวภาพห่วงโซ่อาหาร ดิน พืช สัตว์ จุลินทรีย์ พลังธรรมชาติหมุนเวียนจากพลังงานแสงแดด และน้ำ
เพราะจุดเด่นคือ “ระบบ” เนื่องจากมีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน พืชที่ปลูกส่วนหนึ่ง ถูกนำมาใช้เลี้ยงหมู และเมื่อหมูถ่ายมูลออกมา ก็นำมูลนั้นมาทำเป็นปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ เพื่อใช้เพิ่มความอุดมสมบรูณ์ให้กับดินสำหรับปลูกพืชผักต่อไป
แนวคิดนี้สามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาระบบเกษตรภาคครัวเรือน พัฒนาขึ้นไปยังภาคท้องถิ่น และชุมชน การพึ่งพาตนเองในด้านการผลิตและการบริโภคขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง ที่เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในท้องถิ่น ตลอดจนภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนได้ในที่สุด
ข้อดีของการเลี้ยงหมูหลุมมีอะไรบ้าง
ข้อดีส่วนใหญ่ที่พบคือ ลดต้นทุนในการเลี้ยง เนื่องจากอาหารที่เลี้ยงจะใช้วัตถุดิบที่ได้จากท้องถิ่น เช่น ฟาง แกลบ สำหรับปูพื้นหลุม ผัก ผลไม้ในท้องถิ่นสำหรับเป็นอาหารหมู และไม่ต้องทำเป็นฟาร์มหรือโรงเรือนใหญ่โต เพียงกั้นคอก ขุดหลุมให้หมูอยู่ก็ได้แล้ว ซึ่งหมูหลุมจะใช้พื้นที่การเลี้ยงไม่มาก หมู 1 ตัวใช้พื้นที่เพียง 1.5 ตารางเมตรเท่านั้น
ข้อดีอื่นๆ ก็มีมากมาย เช่น ลดภาระการทำความสะอาดคอกหรือหลุม เพราะไม่ใช่พื้นปูน แต่เป็นพื้นดิน มีการใช้ฟาง หรือแกลบปูพื้น เมื่อมีความสกปรกมากก็ตักออกไปทำปุ๋ย แล้วก็นำวัสดุรองพื้นใหม่มารองหลุมอีกรอบ การทำแบบนี้จะได้ปุ๋ยอินทรีย์จากมูลหมูหลุมไปใช้ประโยชน์ได้อีกต่อ
ไม่มีปัญหาเรื่องสารเคมี และมลภาวะในการเลี้ยง เนื่องจากการเลี้ยงระบบนี้ กลิ่นไม่รบกวนมาก รวมไปถึงไม่จำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีในการกำจัดกลิ่น เพราะเมื่อตักวัสดุรองหลุมออกหมด กลิ่นก็จางหาย หมูสะอาดปลอดภัย
บางแห่งใช้ระบบการกำจัดของเสียแบบธรรมชาติ เช่น การใช้จุลินทรีย์ หัวเชื้อ EM น้ำหมักชีวภาพ ใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ชีวภาพ ในการกำจัดของเสียและกลิ่นเหม็น
เลี้ยงหมูหลุมอย่างไรให้สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น
หัวใจสำคัญในการเลี้ยงหมูหลุมคือ พื้นที่ วัตถุดิบในท้องถิ่น และการจัดการกับระบบการเลี้ยง โดยเฉพาะเรื่องกลิ่นและความสกปรก ควรศึกษาเรื่องการทำน้ำหมักเชื้อจุลินทรีย์ และหัวเชื้อประเภทต่างๆ ให้ถี่ถ้วน เพื่อเป็นตัวช่วยในเรื่องการกำจัดของเสียและกลิ่น รวมไปถึงความสะอาดของหลุมเลี้ยง
เริ่มต้นเลี้ยงหมูหลุมด้วยการหาพื้นที่ และแหล่งวัตถุดิบสำคัญ
เริ่มต้นจากการสร้างโรงเรือน โดยมีหลังคากันแดดฝน ป้องกันไม่ให้น้ำท่วม หรือน้ำขังภายในหลุมหมู การใช้วัสดุจากท้องถิ่นและคำนึงถึงเงินในกระเป๋า จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ โดยหมู 1 ตัว ใช้พื้นที่เพียง 1.5 ตารางเมตร การเลี้ยงในจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนสูง โดยอายุเฉลียตั้งแต่หมูเด็กจนถึงขนาดขายได้ ใช้เวลาในการเลี้ยง 5 เดือน ถึง 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของหมูด้วย
ขุดหลุม หรือกั้นคอก แล้วแต่ทุน หากกั้นคอก ขุดหลุมลึกประมาณ 40-50 ซม. หากไม่มีคอก ให้ขุดลึกที่ระดับ 1.5 เมตร แล้วนำวัสดุที่ย่อยสลายได้ลงไปถมรองพื้นหลุม หนาประมาณ 40-50 ซม.
วัสดุรองพื้นหลุม สำหรับเลี้ยงหมูหลุม
ใช้เศษพืชแห้ง ใบไม้แห้ง ฟาง หญ้า ถ่าน เกลือ ปูทับเป็นชั้นๆ อัดทับด้วยดินหรือแกลบชั้นบนสุด ความหนาโดยรวมประมาณ 30-40 ซม. เหยียบอัดให้แน่น ด้านบนสุดใช้แกลบหรือฟางอัดทับอีกชั้น หนาประมาณ 20-30 ซม.
ทำบ่า หรือกั้นพื้นที่ไว้สำหรับเป็นที่ให้อาหารและน้ำหมู ไม่ควรนำอาหารและน้ำวางในพื้นที่เดียวกับที่หมูอยู่ จะทำให้เป็นภาระในการจัดการ มีปัญหาเรื่องการทำความสะอาด