ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช
จะพูดถึงแร่ธาตุที่อยู่ในดินที่เป็นอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชแล้วละก็ หลายคนอาจจะนึกถึงแค่ไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส(P) และโพแทสเซียม(K) แต่จริง ๆ แล้วยังมีธาตุอาหารอีกมากมายหลายชนิดที่อยู่ในดิน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเจริญเติบโตของพืช เปรียบเสมือนคนเราที่ต้องได้รับสารอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว แต่ก็ยังคงต้องการวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
ธาตุอาหารพืชมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชมาก นอกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และออกซิเจนแล้ว ก็ยังมีธาตุอาหารในดินอีก 14 ธาตุ ในวันนี้ผมจะมาพูดถึงธาตุอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- ธาตุอาหารหลัก
- ธาตุอาหารรอง
- ธาตุอาหารเสริม
ธาตุอาหารหลักประกอบด้วย
1.ไนโตรเจน (N)
เป็นส่วนที่ช่วยในการเจริญเติบโตของพืช ทั้งยังเป็นอาหารหลักของพืช ช่วยทำให้พืชใบเขียวตั้งตัวได้ โดยไนโตรเจนยังเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์พืชเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโปรตีน ไนโตรเจนยังมีส่วนช่วยในกระบวนการสร้างอาหารและสร้างพลังงานให้กับพืชอีกด้วย
ไนโตรเจนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างคลอโรฟิลล์ ซึ่งคลอโรฟิลล์อยู่ในส่วนที่เป็นสีเขียวของพืชที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง ช่วยให้พืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ไนโตรเจนมักอยู่ในปุ๋ยหมักและพืชตระกูลถั่ว ซึ่งเราควรปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบเพื่อเพิ่มไนโตรเจนให้กับดิน
2.ฟอสฟอรัส (P)
ฟอสฟอรัสก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยในการสังเคราะห์แสง มีส่วนช่วยในการผลิตแป้งและน้ำตาล ฟอสฟอรัสมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทางเคมีในพืช ช่วยผลิตอาหาร มีส่วนช่วยในการเจริฐเติบโต กระตุ้นการออกดอกและการเจริญเติบโตของราก
ฟอสฟอรัสก็จะมีอยู่ในปุ๋ยหมัก เศษอาหารและกระดูกป่นเช่นกัน จะเห็นได้ว่าฟอสฟอรัสก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้ธาตุอาหารใด ๆ เลย
3.โพแทสเซียม (K)
โพแทสเซียมจะมีอยู่ในดินชั้นล่าง จะถูกดูดซึมโดยรากพืช มีส่วนช่วยในการสร้างโปรตีน ทำให้ผลมีคุณภาพ ลดโรคพืช โพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่อยู่ในดิน วัตถุอินทรีย์และปุ๋ยอินทรีย์
ธาตุอาหารรอง ประกอบด้วย 3 ธาตุดังต่อไปนี้
1.แคลเซียม (Ca)
ช่วยในการแบ่งเซลล์ ผสมเกสร การงอกของเมล็ด มีส่วนสำคัญต่อโครงสร้างของเซลล์พืช ช่วยในการลำเลียงอาหาร แคลเซียมช่วยในการปรับสมดุลทั้งกรดและด่างของพืช
2.แมกนีเซียม (Mg)
เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ ช่วยในการสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมันและน้ำตาล ช่วยในการสังเคราะห์แสง นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
3.กำมะถัน (S)
เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน วิตามินและโปรตีน ช่วนสร้างคลอโรฟิลล์ ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของรากและเมล็ดพืช ทำให้พืชแข็งแรงและทนต่อความเย็น
ธาตุอาหารเสริม แบ่งออกเป็น 8 ธาตุดังต่อไปนี้
1.โบรอน (B)
ช่วยในการสร้างสารอาหารและควบคุมสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตของเมล็ดพันธุ์ ช่วยในการออกดอก ผสมเกสร ช่วยในการติดผลและย้ายน้ำตาลมาสู่ผล
2.ทองแดง (Cu)
ช่วยในการเจริญเติบโตของระบบสืบพันธุ์พืช ช่วยในการเผาผลาญอาหารของรากพืชและเป็นประโยชน์ต่อการใช้โปรตีนของพืช การสังเคราะห์คลอโรฟิลล์และกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์
3.คลอรีน (CI)
พบในดิน ช่วนกระตุ้นการย่อยอาหารสำหรับพืช มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับฮอร์โมนพืช
4.เหล็ก (Fe)
จำเป็นต่อการสร้างคลอโรฟิลล์ การสังเคราะห์คลอโรฟิลล์และสังเคราะห์แสง
5.แมงกานีส (Mn)
ช่วยในการทำงานของเอนไซม์ มีส่วนประกอบของคาร์บอนไดออกไซด์และการย่อยไนโตรเจน
6.โมลิบดีนัม (Mo)
ช่วยในการดึงไนโตรเจนออกมาใช้งานและช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน พบธาตุชนิดนี้ในดิน
7.สังกะสี (Zn)
ช่วยสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน คลอโรฟิลล์และแป้ง ควบคุมการย่อยน้ำตาลของพืช เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานขอเอนไซม์ที่มีส่วนในการควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และจำเป็นต่อการเปลี่ยนสภาพของคาร์โบไฮเดรต
8.นิกเกิล (Ni)
เป็นธาตุอาหารทำสำคัญต่อเอนไซม์ ทำหน้าที่ปลดปล่อยไนโตรเจนให้อยู่ในรูปที่จะนำไปใช้ได้ และยังช่วยในกระบวนการงอกของเมล็ดอีกด้วย
ลักษณะการขาดธาตุอาหารของพืช
ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าสาเหตุที่ทำให้พืชผิดปกติในพืช จะมาจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ
- สภาพแวดล้อมผิดปกติ เช่นแดดจัดมาก น้ำขังนาน อากาศหนาวจัด ก็จำทำให้พืชที่เราปลูกมีความผิดปกติได้ หรืออาจมีการเข้าทำลายของโรคและแมลง ซึ่งเราก็ต้องดูสาเหตุของความผิดปกติให้ดี
- สาเหตุมาจากพืชขาดธาตุอาหารที่จำเป็นคือ เราปลูกพืชโดยไม่เติมอินทรีย์วัตถุลงไปในดินเลย เหตุเพราะธาตุอาหารเหล่านี้จะถูกดูดออกไปโดยผลผลิตรุ่นแล้วรุ่นเล่า วิธีสังเกตุคือในปีแรก ๆ ผลผลิตจะได้เยอะ แต่ในปีต่อ ๆ ไปผลผลิตจะค่อย ๆ ลดจำนวนลง โดยอาการขาดธาตุอาหารจะมีลักษณะดังนี้
- ถ้าพืชขาดไนโตรเจน ใบพืชจะเหลืองจากส่วนปลายใบเข้ามา
- ถ้าพืชขาดฟอสฟอรัส ใบแก่หรือใบล่างจะมีสีม่วงแซมเขียวอ่อน
- ถ้าพืชขาดโพแทสเซียม ขอบใบแก่จะมีสีเหลืองและจะได้ผลขนาดเล็ก ถ้าเป็นข้าวก็อาจเมล็ดลีบได้
-
นอกจากพืชจะต้องการธาตุอาหารหลักแล้ว ธาตุอาหารเสริมและรองก็ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน
- ถ้าขาดธาตุแคลเซียม จะมีอาหารใบหงิก ใบใหม้ ผลแตกหรือก้นผลเน่าได้
- ถ้าขาดธาตุแมกนีเซียม ใบแก่จะเหลืองและร่วงหล่นเร็ว
- ถ้าขาดธาตุกำมะถัน ใบทั้งบนและล่างจะมีสีเหลืองซีด ยอดผลจะชงักการเจริญเติบโต
- และธาตุอาหารเสริมอีก 8 ธาตุที่ถ้าขาดก็จะทำให้ใบอ่อน สีซีด เจริฐเติบโตช้าและได้ผลผลิตน้อย
วิธีแก้เมื่อดินขาดธาตุอาหาร
วิธีแก้คือ เพิ่มอินทรีย์วัตถุและปุ๋ยคอกลงปรุงดินก่อนปลูกในแต่ละรอบ และฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์น้ำทางใบพืชเพื่อช่วยในการเจริญเติบโต
สำหรับการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว ธาตุอาหารเหล่านี้มีอยู่อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพืชตระกูลถั่ว ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยพืชสด น้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักจากปลาหรือหอยเชอรี่ มูลไส้เดือน เศษวัตถุอินทรีย์ที่หาได้ตามท้องถิ่น ฯ ซึ่งมีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน
เพราะฉะนั้นแม้ว่าธาตุอาหารเหล่านี้จะมีอยู่ในดิน แต่ถ้าเราไม่เพิ่มเติมธาตุอาหารลงดินหรือบำรุงดิน ก็จะทำให้พืชเราปลูกขาดธาตุอาหารที่จำเป็นเหล่านี้ได้
โดยสาเหตุที่จะทำให้ธาตุอาหารเหล่านี้หายไปจากดินคือ เวลาเราปลูกพืช พืชก็จะดูดธาตุอาหารเหล่านี้ไปสะสมในส่วนต่าง ๆ เช่น ยอด ดอก ผล ลำต้น ใบ ฯ พอถึงเวลาเก็บเกี่ยว ธาตุอาหารที่สะสมอยู่กับพืชก็จะถูกนำออกไป หรือแม้กระทั่งธาตุอาหารที่ละลายน้ำได้ก็จะถูกชะล้างออกไปด้วย ไนโตรเจนบางส่วนอาจสูญหายระเหยออกไปเมื่ออยู่ในรูปแบบของแก๊ส ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมบางส่วนจะถูกดินตรึงไว้ทำให้พืชดูดไปใช้งานได้น้อย
แต่เราก็สามารถให้ปุ๋ยทางใบได้ เพื่อช่วยให้พืชสามารถดูดธาตุอาหารได้โดยตรงและได้มากกว่าดูดซึมทางรากอีกด้วย จะช่วยให้พืชฟื้นตัวจากการขาดธาตุอาหารได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย
สรุปแล้ว เราควรปรับปรุงบำรุงดินหลังการเพาะปลูกในแต่ละรอบ เพื่อเพิ่มเติมธาตุอาหารที่จำเป็นลงไปในดิน และฉีดพ่นปุ๋ยน้ำทางใบเพื่อช่วยให้พืชได้รับสารอาหารโดยตรงและเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ที่มา : หนังสือเกษตรอินทรีย์ภาคปฏิบัติ 3
http://www.ncagr.gov/cyber/kidswrld/plant/nutrient.htm