หนอนกระทู้ ถือเป็นแมลงศัตรูพืชของพืชเศรษฐกิจเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะพืชไร่ และพืชผัก มักพบการแพร่ระบาดในทุกพื้นที่ และสร้างความเสียหายให้แก่พืชอย่างวงกว้าง โดยเฉพาะในระยะหนอนที่ชอบกัดกินใบพืชเป็นอาหาร
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spodoptera litura ( Fabricius )ชื่อภาษาอังกฤษ : Cotton worm, Tobacco cutworm, Fall armywormชื่อวงศ์ : Noctuidaeชื่ออันดับ : Lepidoptera
การแพร่กระจายหนอนกระทู็เป็นแมลงที่มีการแพร่ระบาด กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบประเทศเอเซียที่มีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นจะพบการแพร่ระบาดมากกว่าประเทศอื่นๆ ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาค ตลอดทั้งปี และไม่จำกัดฤดูกาล โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกพืชไร่ พืชผักในจังหวัดต่างๆ
พืชอาหารหนอนกระทู้ผัก กินพืชผักเป็นอาหารได้หลายชนิด (Polyphagous insects) จากการสำรวจ และการนำพืชหลายชนิดมาเลี้ยง พบว่า มีการกินพืชอาหารได้มากกว่า 30 ชนิด ได้แก่ กระหล่ำดาว, กระหล่ำดอก, กระหล่ำปม, กระหล่ำปลี, ข้าว, ข้าวโพด, คะน้า, ตำลึง, ถั่วฝักยาว, ถั่วพู, ถั่วเหลือง, บร๊อคโคลี่, บัวหลวง, บอน, เบญจมาศ, ผักกาดกวางตุ้ง, ผักกาดขาว, ผักบุ้ง, เผือก, ฝ้าย, แพงพวยน้ำ, เฟิร์น, มะเขือเทศ, มะระ, มันเทศ, มันสำปะหลัง, เยอร์บีรา, ละหุ่ง, ว่านมหากาฬ, หญ้าขน, หม่อน, หอมแดง, หอมหัวใหญ่, และแอสเตอร์
วงจรชีวิตหนอนกระทู้ผักลักษณะ และอุปนิสัยตัวเต็มวัยของหนอนกระทู้ผักจะเป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก มีปากแบบ Siphoning type มีหนวดแบบ Filiform กลางวันจะชอบเกาะตัวนิ่งบริเวณที่มืดหรือใต้ใบพืช เมื่อปีกหุบจะมีรูปเหมือนหลังคา? และจะเริ่มออกบินเมื่อพระอาทิตย์ตก เพศเมียปีกคู่หน้ายาวประมาณ 38- 40 มิลลิเมตร และ เพศผู้ยาวประมาณ 32-35 มิลลิเมตร ความยาวจากศีรษะถึงปลายหางมีขนาดใกล้เคียงกันทั้ง 2 เพศ ประมาณ 18-20 มิลลิเมตร ปีกคู่หน้ามีลวดลายออกสีน้ำตาลอ่อน สีเทา สีดำ และขาวสลับกัน ส่วนปีกคู่หลังเป็นแผ่นบางสีขาวนวล บริเวณขอบปีกมีขนสีน้ำตาลอ่อน ขนาดเล็กกว่าปีกคู่หน้า
การแยกเพศผีเสื้อหนอนกระทู้มีหลายวิธี ได้แก่ เพศผู้จะมีปีกคู่หน้าสีเข้ม และลวดลายสีขาวเด่นชัดกว่าเพศเมีย ด้านท้องเพศผู้บริเวณปล้องที่ 7, 8, 9 และ 10 จะมีลักษณะคอดเล็กลง และส่วนปลายปล้องที่ 10 จะเป็นพู่หางยาว ส่วนเพศเมียจะมีลักษณะปล้องท้องใหญ่ และมีขนาดเท่ากันทุกปล้อง ไม่มีพู่หางหรือถ้ามีจะเล็กกว่าเพศผู้
การผสมพันธุ์ และวางไข่ จะเริ่มที่ตัวเต็มวัยที่มีอายุ 1 วัน โดยจะออกบิน และผสมพันธุ์ในเวลากลางคืน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืนของอีกวัน ลักษณะการวางไข่จะวางเป็นกลุ่ม ๆ ใต้ใบพืช เรียงตัวกันอย่างมีระเบียบเป็นชั้นๆ มีลักษณะขนสีน้ำตาลอ่อนบางๆปกคลุม ไข่มีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลมแบบคว่ำ มีลายเส้นบางใสเป็นรัศมีโดยรอบ ไข่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ตัวเมียหนึ่งตัวจะวางไข่ได้ 4-6 กลุ่ม ประมาณ 2,000-4,000 ฟอง โดยใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน แต่ละกลุ่มไข่จะมีไข่ประมาณ 400 – 900 ฟอง ตัวเมียหนึ่ง ๆ
ไข่ที่วางใหม่ๆ จะมีสีเหลืองอ่อน และวันถัดมาจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง วันที่ 3 ไข่จะฟักออกเป็นตัวหนอน ซึ่งไข่ในระยะก่อนฟักจะมีสีดำจางๆ ที่เป็นสีของกระโหลกศีรษะ และขนของตัวอ่อน เมื่อถึงกำหนดฟัก ตัวอ่อนจะกัดเปลือกไข่เป็นวง แล้วใช้ศีรษะมุดออกมา ซึ่งส่วนใหญ่จะฟักในเวลากลางวัน
ระยะตัวอ่อนตัวอ่อนหนอนกระทู้จะเป็นแบบ Eruciform มีลักษณะศีรษะ Hypognathous types มีขาจริง 3 คู่ ขาเทียม 5 คู่ บริเวณท้องมีรูหายใจ 10 คู่ ที่ปล้องที่ 1 และปล้องท้องทุกปล้อง (ยกเว้นปล้องสุดท้าย) ตัวอ่อนลอกจะคราบประมาณ 5 ครั้ง โดยแบ่งตัวอ่อนออกเป็น 6 ระยะ แต่ละระยะมีลักษณะ และอุปนิสัย ดังนี้
ระยะที่ 1 :ตัวอ่อนระยะนี้มีอายุ 3 วัน สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ลำตัวมีรูปทรงกระบอก สีเขียวอมเหลืองส่วนศีรษะจะดำสนิท มีขนาดเท่าส่วนอก ส่วนอกปล้องแรกจะมีแผ่นแข็ง (Sclerite) สีน้ำตาลเข้ม มีขนสีน้ำตาลอ่อนกระจายข้างลำตัว ขาจริง และขาเทียมจะมองเห็นชัดเจน ส่วนรูหายใจจะยังมองไม่เห็น ตัวอ่อนวัยนี้มักอยู่รวมเป็นกลุ่ม และจะกัดกินผิวใบพืชบริเวณโดยรอบๆ
เมื่อตัวหนอนถูกรบกวนจะทิ้งตัวลงที่ต่ำ ด้วยการปล่อยเส้นใยออกจากปากเพื่อพยุงตัวให้ห้อยในอากาศ เมื่อผ่านไป 3 วัน ตัวหนอนจะมีสีเขียวขึ้นมากกว่าเดิม ลำตัวเป็นมันวาว ส่วนศีรษะจะเล็กกว่าส่วนอกปล้องแรก บริเวณท้องปล้องที่ 1 จะเริ่มมีแถบสีดำจางๆ พาดขวางลำตัว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของตัวอ่อนหนอนกระทู้ผัก และจะเริ่มเห็นรูหายใจได้ชัดในวันสุดท้ายของระยะที่ 1 โดยจะมีลวดลายสีเทาอ่อน-แก่ เป็นเส้นตามยาว และตามขวางลำตัว ด้านหลังส่วนอกปล้องที่ 1 และ 2 มีสีดำปล้องละ 2 จุด เรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เมื่อตัวหนอนได้รับการรบกวนจะพ่นน้ำสีเขียวออกมาในขณะที่สะบัดหัวซ้ายขวา
ระยะที่ 2-4 :ตัวอ่อนเริ่มแยกออกจากกลุ่มเพื่อออกหากิน หากพบในแปลงพืชจะพบว่า ตัวหนอนกระจายกันออกทำลายพืชผักทั่วทั้งแปลง ซึ่งจะหลบตัวอยู่ใต้ใบหรือเงามืด ระยะนี้ ส่วนอกปล้องที่ 1จะกว้างที่สุดทั้งลำตัว ซึ่งบริเวณนี่จะมีแถบสีดำคาดขวางลำตัว
ระยะที่ 5:ระยะนี้ตัวอ่อนจะโตเร็วมาก หากเลี้ยงในที่แคบ และขาดอาหาร ตัวหนอนจะกัดกินกันเอง ลำตัวที่มีสีเขียวจะเริ่มซีดลง เปลี่ยนเป็นสีเทา และมีแถบสีดำจางๆ พาดตามยาว ทั้งซ้าย และขวาด้าน ด้านละ 2 แถบ? บริเวณระหว่างแถบสีดำนี้จะมีแนวสีขาวเล็กๆ คั่นไว้ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง ด้านท้องเปลี่ยนเป็นสีเทาอ่อน ระยะนี้จะซ่อนตัวในเวลากลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืน
ระยะที่ 6:ระยะนี้เป็นระยะสุดท้าย ลำตัวจะมีลักษณะอ้วนกลม กินอาหารจุ ขับถ่ายมาก สีลำตัวจะเข้มจนดำสนิท ลวดลาย บนลำตัวจะค่อยๆ หายไป ซึ่งจะเป็นระยะก่อนเข้าดักแด้ที่จะหยุดกินอาหาร ระยะก่อนเข้าดักแด้นี้ ลำตัวจะมีสีดำเป็นมัน แบน และหดสั้นลง ชอบกัดใบพืชเป็นชิ้นเล็กๆ สำหรับนำมาสร้างรัง (Cocoon) เพื่อหุ้มดักแด้ ทำให้ใบพืชแลดูสกปรกจ และพืชเกิดการตายมาก หากตัวอ่อนถูกรบกวน และตกลงดินก็จะมุดลงดิน จนลำตัวเป็นรูปกระสวย เดินไม่ได้ แต่จะใช้การพลิกตัวเพื่อเคลื่อนที่แทน เมื่อถึงระยะสุดท้ายก่อนการเข้าระยะดักแด้ ลำตัวจะมีสีเทาดำ ส่วนด้านท้องจะมีสีขาวอมเหลือง และจะเข้าดักแด้ในวันถัดมา
ระยะดักแด้หนอนกระทู้ระยะดักแด้จะเป็นแบบ Obtected pupa เมื่อเข้าดักแด้ใหม่ ๆ จะมีสีเขียวอมเหลือง และเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนศีรษะจะมีสีเข้ม ดักแด้เพศเมียจะมีขนาดใหญ่ และยาวกว่าเพศผู้ เมื่อใกล้ระยะฟักตัว ดักแด้จะหดตัวลง การแยกเพศดักแด้จะใช้วิธีสังเกตที่อวัยวะเพศ โดยเพศผู้จะมีอวัยวะเพศเป็นแถบนูนสีเข้มเล็กๆ 2 แถบ ประกบกันที่ปล้องท้องปล้องที่ 8 ส่วนเพศเมียจะอวัยวะแบนเรียบ มีจุดสีดำเล็กๆ ที่ปล้องสุดท้าย ดักแด้ทั้ง 2 เพศ จะมีรยางค์แหลมขนาดเล็ก 2 อัน (Cremasters) ระยะดักแด้จะใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน แล้วจะฟักออกเป็นตัวเต็มวัย และตัวเมียจะฟักออกก่อนตัวผู้ประมาณ 2-3 วัน
ระยะตัวเต็มวัยเมื่อฟักออกจากรังแล้วจะเป็นผีเสื้อกลางคืน ตัวเมียมีส่วนท้องอ้วนป้อม ลำตัวมีขนเล็กน้อย ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาล มีลวดลายสีขาวทั่วปีก ปีกคู่หลังมีสีเทาบาง ส่วนผีเสื้อตัวผู้ ท้องจะเรียวยาว ส่วนปลายของท้องจะมีขนเป็นกระจุก ลำตัวมีขนปกคลุมเล็กน้อย ปีกคู่หน้ามีสีน้ำตาล มีลวดลายคล้ายตัวเมีย แต่จะต่างกันที่ปลายปีก ปีกคู่หลังบางใสออกสีเทาขาว ตัวผู้ และตัวเมียจะเริ่มผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อ 3-5 วัน หลังออกจากฟักตัว และใช้เวลาวางไข่ 5-7 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 7-10 วัน
การป้องกัน กำจัด1. วิธีกลเมื่อพบเห็นตัวหนอนหรือกลุ่มไข่ในแปลงพืชให้เก็บ และนำมาทำลาย ด้วยวิธีการฝังกลบ พร้อมถอนต้นพืชบริเวณที่มีการระบาดนำมาทำลายด้วย ซึ่งอาจใช้วิธีการไถพรวนร่วมด้วยก็ได้
2. การใช้สารเคมีสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดหนอนกระทู้ ได้แก่ monocrotophos, acephate, และ quinalphos ที่ขนาดความเข้มข้น 0.1 เปอร์เซ็นต์ ผสมน้ำ และฉีดพ่นให้ทั่วแปลง
สารเคมีชนิดอื่น ได้แก่ ไดอะเฟนไทยูรอน (โปโล 25% SC) เทบูฟีโนไซด์ (มิมิค 20% F) คลอร์ฟูอาซูรอน (อาทาบรอน 5% EC) คลอร์ฟินาเพอร์ (แรมเพจ 10% EC) ฟลูเฟนนอกซูรอน (แคสแคด 5% SC) เป็นต้น
3. การใช้สารสกัดสมุนไพรสมุนไพรที่เกษตรกรนิยมนำมาสกัดด้วยการต้มน้ำ และฉีดพ่นในแปลงเกษตร เพื่อป้องกัน และลดการแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ ได้แก่ ว่านน้ำ กระเทียม กระวาน ขมิ้นชัน สะเดา และข่า เป็นต้น