รู้ได้ไงว่าเราธาตุอะไร? กินตาม “ธาตุเจ้าเรือน” รักษาสมดุลร่างกาย ตามหลักแพทย์แผนไทย
“ธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4″ เป็นศาสตร์สุขภาพแห่งธาตุโบราณตามทฤษฎีการแพทย์ไทยกล่าวไว้ว่า “ภายในร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ” ซึ่งแต่ละคนจะมีธาตุหลักเป็นธาตุประจำตัวที่เรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน” ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ ธาตุเจ้าเรือนที่เป็นไปตามวัน เดือน ปีเกิด และธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน พิจารณาจาก บุคลิก ลักษณะอุปนิสัย
โดยในกรณีของการแบ่งออกธาตุตามวัน/เดือน/ปีเกิด สามารถแบ่งได้ดังนี้
1.ธาตุดิน คือ ผู้ที่เกิดในเดือน ตุลาคม/พฤศจิกายน/ธันวาคม
2.ธาตุน้ำ คือ ผู้ที่เกิดในเดือน กรกฎาคม/สิงหาคม/กันยายน
3.ธาตุลม คือ ผู้ที่เกิดในเดือน เมษายน/พฤษภาคม/มิถุนายน
4.ธาตุไฟ คือ ผู้ที่เกิดในเดือน มกราคม/กุมภาพันธ์/มีนาคม
ส่วนกรณีพิจารณาจาก บุคลิก ลักษณะอุปนิสัย พท.ป.พัชญา ขำสะอาด ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ (พท.ป.) จากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงลักษณะของธาตุต่างๆ ดังนี้
ลักษณะธาตุประเภทวาตะ หรือธาตุลม ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของอากาศและลม จะมีลักษณะรูปร่างผอมบาง โปร่ง ผิวคล้ำ ผิวหนังเย็น หยาบ แห้ง ร่างกายสูงมากหรือเตี้ยมาก โครงร่างเบาบาง ปลายกระดูกนูนชัด กล้ามเนื้อเจริญไม่ดี ผมหยิกบาง มักมีความเครียดง่าย อารมณ์ไม่คงที่ มักกินอาหารเพื่อคลายเครียด
ลักษณะธาตุประเภท ปิตตะ หรือธาตุไฟ เกิดจากการรวมกันของธาตุไฟกับธาตุน้ำ จะมีลักษณะรูปร่างสูงปานกลาง กล้ามเนื้อเจริญปานกลาง ผิวนุ่ม อุ่น ผมละเอียดบาง ผมหงอกล้านก่อนวัย
ลักษณะธาตุเจ้าเรือน ประเภท เสมหะ หรือธาตุน้ำและดิน เกิดจากการรวมกันของธาตุน้ำและดิน โดยผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือน ประเภทนี้ มักมีลักษณะใบหน้าอวบอิ่ม ค่อนข้างกลมแป้นรับกับดวงตาที่กลมโตเป็นประกาย จมูกกลมสวยได้รูป ริมฝีปากอวบอิ่ม รูปร่างหนา บึกบึน เจ้าเนื้อ แต่มักมีระบบการเผาผลาญอาหารในร่างกายไม่ดีเท่าไรนัก กินน้อยแต่อ้วนง่าย ผิวพรรณที่สวยกว่าธาตุอื่นๆ ผิวค่อนข้างขาวอมชมพู ดูมีสุขภาพดี ชุ่มชื่นตลอดเวลา เส้นผมส่วนใหญ่จะดกดำ หนา เงางาม
พท.ป.ฐานิตา บุญเชิด กล่าวว่า เมื่อรู้ธาตุเจ้าเรือนตัวเองแล้ว การดูแลเรื่องอาหารการกินตามธาตุเพื่อรักษาสมดุลของร่างกาย ก็เป็นสิ่งสำคัญทั้งนี้ โรคหรือความเจ็บป่วยที่มักเกิดในคนแต่ละกลุ่ม ย่อมต้องแตกต่างและมีการดูแลที่ต่างกันไป
โดยธาตุลม อาหารที่ควรรับประทานควรมี รสหวาน เปรี้ยว เค็ม อาหารที่ช่วยเพิ่มแคลเซียม เช่น นม งา ผักบุ้ง ฟักทอง ใบตำลึง อาหารที่ให้ความอบอุ่น จำพวกผักกินหัว เช่น หน่อไม้ มัน เผือก แครอต และอาหารที่ให้ความชุ่มชื้นรสมัน เช่น ข้าวเจ้า เมล็ดพืช ถั่ว งา และควรรับประทานอาหารที่ปรุงโดยผ่านการต้ม นึ่ง ที่ย่อยง่าย
หลีกเลี่ยง อาหารรสขม เผ็ด ฝาด มัน หรือรับประทานในปริมาณน้อย และอาหารที่ไม่ปรุง น้ำสมุนไพร แนะนำให้ใช้ หญ้าดอกขาว เทพธาโร งดเครื่องดื่มที่เย็นๆ ยาสมุนไพร ควรใช้สมุนไพรที่มีรสหอมร้อน เช่น กระวาน อบเชย ลูกผักชี ว่านสาวหลง ยาหอมเทพจิตร (ช่วยคลายเครียด) ยอ ขมิ้นชัน เพชรสังฆาต ส่วนการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวช้า มีจังหวะ เช่น โยคะ
สำหรับธาตุไฟ อาหารที่ควรรับประทานเน้นที่รสหวาน ขม ฝาด อาหารที่ไม่ผ่านการปรุง เช่น ผักสด ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี ผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง คะน้า ตำลึง
ควรหลีกเลี่ยง อาหารที่ปรุงรสจัดรส ผักที่มีรสร้อนและเปรี้ยว เช่น หน่อไม้ กุยช่าย มะเขือเทศ อาหารมัน ของทอด น้ำสมุนไพร แนะนำให้ดื่มชากำแพงเจ็ดชั้นสามารถรับประทานได้ทั้ง 3 ธาตุ ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาลในเลือด ช่วยระบาย ขับถ่ายของเสีย ขับลม หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ยาสมุนไพร แนะนำให้ใช้ยาหอมเทพจิตร บอระเพ็ด พริกไทยดำ แห้วหมู
ส่วนการออกกำลังกาย ไม่ควรเล่นกีฬากลางแจ้ง หรือกีฬาที่หนักหน่วง ควรออกกำลังกายเบาๆ ในที่เย็นสบาย เช่น ว่ายน้ำ การฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจให้เกิดการผ่อนคลาย
ส่วนธาตุดินและน้ำ อาหารที่ควรรับประทาน คืออาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อน ฝาด ขม เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ดีปลี พริกไทย กะหล่ำ แครอต ผักบุ้ง มะระ เห็ด ตำลึง เป็นต้น
ไม่ควรรับประทานอาหารที่รสเปรี้ยว เค็ม หวาน มากนัก และผักชุ่มน้ำ เช่น มันเทศ แตงกวา มะเขือเทศ รวมถึงอาหารดองต่างๆ พยายามหลีกเลี่ยง ของมันของทอด และไม่ควรรับประทานจำพวกธัญพืช เนื้อสัตว์ในปริมาณมากๆ ไม่ควรรับประทานผลไม้รสหวานจัด เช่น มะม่วงสุก แต่สามารถรับประทานผลไม้ที่หวานไม่มาก และติดรสฝาดบ้าง เช่น ทับทิม แอปเปิ้ล ฝรั่ง