เกษตรกรพิจิตร เผยเทคนิคผลิตส้มโอขาวแตงกวา ให้ได้คุณภาพเยี่ยม
8 พ.ค. 2560
33,346
0

เกษตรกรพิจิตร เผยเทคนิคผลิตส้มโอขาวแตงกวา ให้ได้คุณภาพเยี่ยม

คุณสมเจต ซิ้มประดิษฐ์ ชาวสวนส้มโอยุคแรกที่นำส้มโอขาวแตงกวามาปลูกที่ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง

 

 

 

 

 

ตัวอย่างเกษตรกรที่ปลูกส้มโอขาวแตงกวา ที่โพธิ์ประทับช้าง ทำรายได้ต่อปีนับล้านบาท ในพื้นที่ปลูก45 ไร่ คุณสมเจต ซิ้มประดิษฐ์ บ้านเลขที่ 225/3 หมู่ที่ 9 ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร โทรศัพท์ (081) 740-0010

สวนส้มโอทุกสวน ต้องมีระบบน้ำทั้งหมด

สมัยก่อน เมื่อ 20 ปีที่แล้วระบบน้ำในสวนส้มโอ เป็นของแปลกใหม่มาก เพราะก่อนหน้านี้การนำระบบน้ำมาใช้ในสวนส้มโอไม่มีเลย แต่เมื่อทำสวนส้มโอเชิงพาณิชย์ เรื่องของน้ำและระบบการให้น้ำนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก น้ำจะช่วยเรื่องไม่ให้ต้นส้มโอขาดน้ำในช่วงหน้าแล้ง ต้นส้มโอจะแสดงอาการเหี่ยวชัดเจนมาก ไม่ได้ทนแล้งมากเหมือนพวกมะม่วงอย่างที่บางคนเข้าใจ ยกตัวอย่าง จากการสังเกต ส้มโอที่แสดงอาการขาดน้ำได้เร็วที่สุดจากมากไปหาน้อยคือ ส้มโอท่าข่อย รองลงมาก็ส้มโอขาวแตงกวา ทนแล้งได้ดีที่สุดก็เป็นส้มโอทองดี คุณสมเจต อธิบาย น้ำยังเป็นตัวควบคุมที่นำมาใช้ในการเปิดตาดอกส้มโอหลังจากการอดน้ำ น้ำมาช่วยในการเลี้ยงผลส้มโอ ช่วยเรื่องการขยายผล ทำให้น้ำหนักผลดี

น้ำและระบบน้ำที่ดี เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการผลิตส้มโอเชิงพาณิชย์

ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับส้มโอ

คุณสมเจต เล่าว่า เรื่องของระยะปลูกส้มโอก็คงแล้วแต่ชาวสวนและการจัดการของแต่ละคน เช่น ชาวสวนที่มีพื้นที่ปลูกมาก ก็ระยะ 8×8 เมตร แต่ชาวสวนบางคนก็อาจจะปลูกระยะชิด 4×4 เมตร หนึ่งเพื่อใช้พื้นที่ปลูกให้คุ้มค่ามากที่สุด ได้จำนวนต้นที่มาก ได้ผลผลิตดีในช่วงแรก โดยปล่อยให้ต้นส้มโอติดผลเมื่ออายุยังน้อย เพื่อเอาผลผลิตก่อน แต่ต้องบริหารตัดแต่งควบคุมทรงพุ่มให้ดี เนื่องจากอายุต้นส้มโอได้สัก 4-5 ปี พุ่มก็จะชนกัน ทำงานลำบาก ต้องขยันแต่งทรงพุ่ม ก็ค่อยมาตัดต้นส้มโอออกต้นเว้นต้นเพื่อให้ระยะปลูกเปลี่ยนเป็น 8×8 เมตร หรือเมื่อก่อนเคยทดลองปลูกระยะ 8×4 เมตร ก็คุมทรงพุ่มได้ราวๆ 6-7 ปี สุดท้ายก็ต้องตัด เพราะทรงพุ่มชนกัน ใบส้มโอบังร่มเงากัน ก็จะส่งผลต่อการออกดอก

สภาพสวนที่ต้องเน้นเรื่องของความสะอาดและไม่ให้หญ้ารก

แต่ก่อนที่จะตัดก็ได้ทดลองตัดแต่งทรงพุ่มแบบหนัก ตัดแบบครึ่งต้นเพื่อให้พุ่มส้มโอเตี้ย ผลปรากฏว่าต้นที่ตัดแต่งหนักนั้นมีแต่กิ่งกระโดง ไม่ออกดอกติดผลนานมากกว่า 2 ปีทีเดียว ซึ่งส้มโอเป็นผลไม้ที่ตัดแต่งกิ่งหนักไม่ได้เลย จะทำให้ชะงักไม่ออกผลนานทีเดียว ส่วนตัวคิดว่า ปลูกระยะ 8×8 เมตร ลงตัวที่สุด ก็กว่าทรงพุ่มจะชนกันก็ราวๆ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งส้มโอพอจะให้ผลบ้างในปีที่ 3 (ถ้าดูแลดี) แต่โดยมากจะไว้ผลกันในช่วงปีที่ 4 และจะเริ่มดีเต็มที่ตั้งแต่ปีที่ 7 ขึ้นไป

 

การใส่ปุ๋ยส้มโอปลูกใหม่ และส้มโอที่พร้อมกำลังเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่

ส้มโอ ควรใส่ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอกควบคู่กันไป ในระยะที่ส้มโออายุ 1-3 ปี หรือยังไม่ให้ผล ให้ใส่ปุ๋ยคอกเก่าผสมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ปุ๋ยเคมี ใช้อัตรา 300-500 กรัม ต่อต้น ต่อครั้ง โดยเป็นไปได้ควรใส่น้อยแต่บ่อยครั้ง เช่น ใส่ 3-4 ครั้ง ต่อปี เมื่อส้มโอให้ผลแล้วเมื่ออายุ 4 ปีขึ้นไป การใส่ปุ๋ยจะแตกต่างกันไปตามช่วงของการออกดอกติดผล กล่าวคือ หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วจะให้ปุ๋ย สูตร 15-15-15 เพื่อช่วยให้การเจริญเติบโตของผลดีขึ้น จนกระทั่งผลมีอายุได้ 5-6 เดือน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 เพื่อช่วยให้ผลมีการพัฒนาด้านคุณภาพของเนื้อดีขึ้น มีความหวานมากขึ้น

สวนส้มโอปัจจุบันใช้รถแอร์บัสในการฉีดพ่นสารเคมีเกือบทั้งหมด

อัตราการใช้ ควรพิจารณาจากขนาดของทรงพุ่มและจำนวนผลที่ติดบนต้นในแต่ละปี โดยทั่วไปเมื่อต้นส้มโออายุได้ 6-7 ปี ก็จะโตเต็มที่ การใส่ปุ๋ยอาจจะใส่ครั้งละประมาณ 1 กิโลกรัม สำหรับต้นส้มโอที่มีการติดผลมาก ควรใส่ปุ๋ยทางใบเสริมเป็นประจำ เพื่อช่วยให้ผลส้มโอมีคุณภาพดี วิธีการใส่ปุ๋ยโรยบนพื้นดินภายในบริเวณทรงพุ่ม แต่ระวังอย่าใส่ให้ชิดกับโคนต้น เพราะปุ๋ยจะทำให้เปลือกรอบโคนต้นส้มโอเน่าและอาจทำให้ส้มโอตายได้

 ส้มโอต้องอาศัยหลายปัจจัยประกอบ

ทั้งการดูแลรักษา เทคนิค การใช้สารป้องกันกำจัดโรคและแมลง สภาพดินฟ้าอากาศและดวง การบังคับให้ส้มโอออกดอก หลักการคล้ายๆ กับการทำมะนาวนอกฤดู สมมุติว่าช่วงที่เราจะพยายามงดน้ำ เกิดฝนทิ้งช่วงให้เราสัก 10-15 วัน ดินแห้งดี เมื่อเปิดน้ำให้หรือฝนตก ร่วมกับการใช้ปุ๋ยและฮอร์โมน ทุกอย่างพอดีก็เป็นโอกาสจังหวะและดวงของสวนนั้นๆ

ก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 15 วัน ต้องงดการใช้สารเคมี เพื่อไม่ให้สารตกค้าง

สูตรเปิดตาดอกส้มโอ

ก่อนเปิดตาดอก ชาวสวนก็ต้องดูแลใส่ปุ๋ยทางดิน เช่น ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 และฉีดพ่นทางใบ ปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 ช่วงก่อนการงดน้ำ หลังจากงดน้ำได้สัก 1 เดือน หรือสังเกตความพร้อมของใบว่าแก่มีสีเขียวเข้มดีหรือไม่ การเปิดตาดอกส้มโอก็เน้นการใช้ปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46 ใช้ร่วมกับฮอร์โมนพวกสาหร่าย แคลเซียม-โบรอน เพื่อกระตุ้นการเกิดยอดพร้อมการออกดอก อาจจะเปิด 2-3 ครั้ง ทุกๆ 5-7 วัน เพื่อให้ส้มโอออกดอกอย่างเต็มที่

เพลี้ยไฟ ก็เน้นใช้สารเคมีที่มีคุณภาพสูง เช่น ช่วงดอก-ช่วงผลอ่อน ก็จะใช้สารพวกอิมิดาคลอพริด เป็นหลัก ส่วนช่วงอื่นๆ เช่น ช่วงใบที่ไม่สำคัญมากก็จะใช้ยาฆ่าแมลงถูกๆ ทั่วไปเท่านั้น เพื่อไม่ให้ต้นทุนการผลิตสูงจนเกินไป การฉีดยาก็จะใช้รถแอร์บัสทั้งหมด ซึ่งส้มฉีดยาค่อนข้างบ่อย ทำให้แรงงานในการฉีดยาค่อนข้างหายาก เกือบทุกสวนตอนนี้ก็ต้องใช้รถแอร์บัสเข้ามาแทนที่ทั้งหมดแล้ว ซึ่งมีประสิทธิภาพดี ที่สำคัญประหยัดการใช้ยาเกือบเท่าตัวทีเดียว

เมื่อผลพัฒนาเต็มที่ สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ เรื่องของการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราคุมไว้ เช่น พวก คาร์เบนดาซิม โพรพิเน็บ ฉีดสลับกันไป โดยเฉพาะช่วงฝนตกบ่อยๆ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันโรคเชื้อรา เช่น พวกโรคขั้วผลเน่า ที่ทำให้ผลร่วงก่อนกำหนด โรคราจุดสีน้ำตาล ช่วงนี้อย่าให้ส้มโอขาดน้ำ เพราะจะทำให้ส้มโอผลนิ่ม เมื่อผลส้มโอพร้อมเก็บเกี่ยวได้เริ่มเปลี่ยนสีผิว ก็จะให้น้ำแบบพอควร ไม่ให้ดินแฉะชุ่มเกินไป เพื่อให้เนื้อส้มโอมีรสชาติดี ไม่แฉะน้ำ

ช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว 15-30 วัน จะงดการฉีดพ่นสารเคมี ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องเลือกใช้สารเคมีที่มีการสลายตัวเร็วไม่ตกค้างนาน การเก็บเกี่ยวเพื่อส่งออก ก็จะเก็บส้มโอความแก่ 80-90% ไม่เก็บส้มโอที่อายุหรือความแก่ไม่ได้กำหนด เพราะรสชาติจะอมเปรี้ยว ซึ่งเป็นความซื่อสัตย์ของเกษตรกรเอง จะส่งผลในการซื้อขายส้มโอในระยะยาว

ราคาส้มเมื่อปี 2558 ราคาส้มโอขาวแตงกวา ส่งออก กิโลกรัมละ 60 บาท ในปี 2559 ราคาส้มโอขาวแตงกวาขึ้นสูงมากถึงกิโลกรัมละ 90 บาท ทีเดียว แต่ราคาส้มโอส่งออกรับซื้อกันอยู่ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 30 บาทโดยประมาณ ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรอยู่ได้ จะได้ผลกำไรมากขึ้นในตอนที่สินค้าในตลาดขาดถ้าชาวสวนไหนมีผลผลิตในช่วงนั้นๆ ก็ถือว่าโชคดีไป

ส้มโอรุ่นสุดท้ายที่หลงเหลือในสวน แม้ผิวไม่สวยมาก แต่แก่รสชาติดีมาก ก็จะขายให้แม่ค้าในประเทศไป

ผลผลิตต่อไร่ของส้มโอขาวแตงกวา ก็ขึ้นอยู่กับอายุและการดูแลรักษา ซึ่งได้ต่ำสุดก็ไร่ละ 2 ตัน ต่อปี สูงสุดก็ไร่ละ 6 ตัน ต่อปีทีเดียวสำหรับส้มโอขาวแตงกวา ส้มโอตอนนี้อนาคตคงขึ้นอยู่กับตลาดส่งออก โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่มาก ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าส้มโอของไทย หรือเฉพาะที่อำเภอโพธิ์ประทับช้างเกือบทั้งหมด

 

หลังเก็บเกี่ยวส้มโอ

หลังเก็บเกี่ยวส้มโอหมดแล้ว การให้น้ำก็จะน้อยลง เพื่อให้ต้นส้มได้พักต้นบ้าง ถ้าหญ้ารกก็ต้องตัดหญ้าให้สะอาดเป็นการเปิดหน้าดินให้ดินแห้งเพื่อลดการเกิดโรครากเน่าโคนเน่า ถ้าจะฉีดพ่นป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า ก็จะฉีดพ่นด้วยสารฟอสฟอริกแอซิด เมื่อเห็นว่าต้นส้มฟื้นสภาพก็จะมีการตัดแต่งกิ่งส้มโอ โดยจะตัดแต่งกิ่งพอประมาณ ไม่ควรตัดแต่งกิ่งหนัก จะตัดแต่งกิ่งที่แน่นหนาทึบ กิ่งกระโดงหนามภายในทรงพุ่ม กิ่งที่มีโรคและแมลงทำลาย กิ่งไขว้ เพื่อเป็นการจัดทรงพุ่มและให้มีแสงแดดส่องถึง

หลังการตัดแต่งกิ่งก็จะฉีดล้างต้นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราและแมลง จากนั้นก็จะเข้าสู่วงจรในการเตรียมต้นเตรียมใบ เช่น จะทำใบ รุ่นที่ 1 ก็จะต้องเริ่มการใส่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์เพื่อกระตุ้นให้ต้นส้มโอผลิใบอ่อนพร้อมๆ กันทั่วทั้งต้น เมื่อต้นส้มโอแตกใบอ่อนก็ต้องระวังเพลี้ยไฟทำลายยอดอ่อน หนอนชอนใบส้ม หนอนแก้ว เมื่อช่วงใบเพสลาดและเป็นช่วงหน้าฝนก็ต้องฉีดสารป้องกันกำจัดโรคแคงเกอร์ หากสังเกตว่าใบอ่อนที่แตกออกมาเหลือง ก็ฉีดพ่นเสริมด้วยฮอร์โมนธาตุอาหารเสริม เช่น สังกะสี แมกนีเซียม และแมงกานีส

เนื่องจากต้นส้มโอมีอายุมาก ต้องตัดแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อให้ส้มโอติดผลทั่วทั้งต้น

ส้มโอขาวแตงกวา ถ้านับจากหลังดอกบาน 5 เดือน ถึง 6 เดือนครึ่ง ก็จะทยอยแก่เก็บจำหน่ายได้ คุณสมเจต เล่าว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะทำให้ต้นส้มโอออกดอกราวเดือนกรกฎาคม เพื่อให้เก็บขายช่วงตรุษจีน แต่ตอนนี้คิดว่าจะพยายามเลี่ยงช่วงเทศกาล ในปีนี้ตั้งใจจะทำให้ส้มโอออกดอกช้ากว่าเดิม คือให้มีดอกสักช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม คนสวนก็จะมีโอกาสแค่ 2 เดือน ที่จะเห็นเงิน คือหลังสงกรานต์ราวหลังเดือนเมษายนถึงกลางเดือนมิถุนายนที่ราคาส้มโอจะดี

ราคาส้มโอในช่วงเทศกาลมีแนวโน้มเริ่มถูกลง เช่น ปีใหม่ สารทจีน ตรุษจีน ที่ส้มโอจะมีราคาแพงมาก ชาวสวนทุกคนก็เฝ้าคอยช่วงเทศกาลเหล่านี้ แต่ช่วงไม่กี่ปีคาดว่าชาวสวนบางส่วนคงจะต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องว่าจะให้ผลผลิตออกช่วงไหน เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเทศกาล ซึ่งแต่ก่อนมีราคาสูงมาก แต่ปัจจุบันกลับมาราคาถูกลง เนื่องจากสามารถทำให้ออกช่วงดังกล่าวได้ง่าย ทุกสวนก็พยายามให้ออกมาช่วงนี้เหมือนๆ กันเกือบทุกสวน

ช่วงที่ผ่านมา โดยมากช่วงเดือนมีนาคมส้มโอก็ราคาสูงขึ้น แล้วจะมีราคาสูงๆ ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พอถึงเดือนกรกฎาคมราคาส้มโอเริ่มลง แต่ในอนาคตก็กำลังมองส้มโอทับทิมสยามไว้อีกตัวหนึ่ง เนื่องจากราคาซื้อขายภายในประเทศดีมาก ราคากิโลกรัมละ 150-250 บาททีเดียว จากการนำส้มโอทับทิมสยามมาปลูกที่สวนตนเอง พบว่า มีการเจริญเติบโตที่ดี ออกดอกติดผลดก เนื้อดีมาก สีแดงสวย รสชาติหวาน คาดว่าเร็วๆ นี้จะขยายพันธุ์ส้มโอทับทิมสยามให้มากขึ้นแน่นอน

ปลูกส้มโอ ด้วยกิ่งตอนทั้งหมด

คุณสมเจต เล่าว่า จากประสบการณ์ที่ทดลองปลูกส้มโอที่ขยายพันธุ์จากการตอนกิ่งกับส้มโอที่ขยายพันธุ์จากการเปลี่ยนยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศ ปรากฏว่าสู้ส้มโอที่ได้จากกิ่งตอนไม่ได้ ซึ่งการขยายพันธุ์ชาวสวนก็จะขยายกันเองภายในสวน ฤดูที่ตอนกิ่งส้มโอ ตามปกติแล้ว การตอนกิ่งไม้ทุกชนิดจะตอนในฤดูฝน คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม เพราะในระยะนั้นต้นไม้กำลังอยู่ในระยะที่กำลังเจริญเติบโต ฝนตกบ่อย ไม่ต้องเสียเวลาในการรดน้ำให้กับกิ่งตอน

กิ่งตอนส้มโอ เลือกตอนกิ่งจากต้นแม่พันธุ์ที่ดี ให้ผลดี ไม่เป็นโรค

การคัดเลือกกิ่งตอน ก่อนที่จะคัดเลือกกิ่งส้มโอที่จะตอน ต้องพิจารณาเลือกต้นก่อน เพราะถ้าต้นแม่พันธุ์ที่ใช้ตอนไม่ดีแล้ว กิ่งตอนที่จะนำไปปลูกต่อไปก็จะไม่ดีด้วย ซึ่งมีหลักในการพิจารณาหลายประการ เช่น เลือกต้นแม่พันธุ์ที่ให้ผลแล้ว ซึ่งทำให้เราสามารถจะพิจารณาลักษณะที่ดีๆ ตามมาได้อีก เป็นต้นที่ให้ผลดก ให้ผลสม่ำเสมอ เป็นพันธุ์ดี และมีรสดี เลือกจากต้นที่มีความเจริญเติบโต แข็งแรง

สังเกตจากมีการเจริญเติบโตดีกว่าต้นอื่นๆ เลือกจากต้นที่ปราศจากโรคและแมลงรบกวน เมื่อเลือกได้ต้นที่ดีแล้ว จึงมาคัดเลือกกิ่งที่จะตอน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ส่วนมากชาวสวนมักไม่ค่อยคำนึงถึงกัน

ที่มา https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_18467

ตกลง