เตือนการเฝ้าระวัง โรคใบไหม้ หรือใบจุดตาเสือ (เชื้อรา Phytophthora colocasiae) ในเผือก
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตกในตอนกลางคืนและมีแดดจัดในตอนกลางวัน เตือนผู้ปลูกเผือก ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคใบไหม้ หรือใบจุดตาเสือ (เชื้อรา Phytophthora colocasiae)
อาการบนใบ พบจุดสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ ขนาดเล็ก ต่อมาจะขยายใหญ่ มีลักษณะเป็นวงซ้อนกันคล้ายดวงตา ในช่วงเช้าหรือเมื่ออากาศยังมีความชื้น จะพบหยดสีส้มบริเวณแผล หากโรครุนแรงแผลจะขยายติดกัน ทำให้ใบไหม้ ต่อมาใบจะเหี่ยวม้วนพับเข้า ใบแห้ง หรือใบอาจเน่า หากอากาศมีความชื้นหรือมีฝนพรำ
อาการบนก้านใบ พบจุดสีน้ำตาลฉ่ำน้ำ ขนาดเล็ก ต่อมาจะขยายใหญ่ลักษณะยาวรี สีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม ทำให้ก้านใบช้ำ ใบเหี่ยว ก้านหักพับได้ง่าย
ในแปลงที่เป็นโรครุนแรง เผือกจะมีจำนวนใบเหลือน้อย ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิต และเชื้อสาเหตุโรค อาจเข้าทำลายหัวเผือก ทำให้หัวเผือกเน่า
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไดเมโทมอร์ฟ ๕๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๑๐-๒๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไพราโคลสโตรบิน ๒๕% อีซี อัตรา ๑๕ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อีทาบอกแซม ๑๐.๔% เอสซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งต้น ทั้งบริเวณใบและก้านใบ
ทุก ๕-๗ วัน
๒. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และควรหลีกเลี่ยงไม่ปลูกเผือกซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
การป้องกันกำจัดโรคในฤดูถัดไป
๑. หลีกเลี่ยงการปลูกเผือกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน
๒. ไถพรวนดินและใส่ปูนขาว ตากดินไว้นานกว่า ๒ สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก
๓. ในแหล่งที่พบการระบาดของโรค ควรใช้พันธุ์ต้านทานหรือทนทานต่อโรค เช่น พันธุ์ พจ.๐๖
๔. ใช้ส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งที่ไม่พบการระบาดของโรค
๕. ควรจัดระยะปลูกเผือกให้เหมาะสม ไม่ควรปลูกชิดกันเกินไป เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค