เตือนการเฝ้าระวัง โรคเหี่ยวเขียว หรือเหง้าเน่า มะเขือเทศ ประจำเดือน กรกฎาคม 2567
15 ก.ค. 2567
3
0
เตือนการเฝ้าระวัง
เตือนการเฝ้าระวัง โรคเหี่ยวเขียว หรือเหง้าเน่า มะเขือเทศ ประจำเดือน กรกฎาคม 2567

เตือนการเฝ้าระวัง โรคเหี่ยวเขียว หรือเหง้าเน่า (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum) ในมะเขือเทศ

     สภาพอากาศในช่วงนี้ฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกมะเขือเทศ ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคเหี่ยวเขียว หรือเหง้าเน่า (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum)
     อาการเริ่มแรกใบล่างจะเหี่ยวและลู่ลง ใบแก่ที่อยู่ล่างๆ มีอาการเหลือง และใบที่เหี่ยวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ระยะแรกจะแสดงอาการเหี่ยวเฉพาะเวลากลางวันที่อากาศร้อนจัด ต่อมาอาการเหี่ยวจะนานขึ้นจนกระทั่งเหี่ยวถาวรทั้งวัน อาการจะลามขึ้นไปยังส่วนยอด ขอบใบม้วนลงด้านล่าง เมื่อถอนต้นขึ้นมาพบว่ารากเกิดอาการเน่า และถ้าตัดลำต้นตามขวางแช่น้ำสะอาด ภายใน ๕-๑๐ นาทีจะมีเมือกสีขาวขุ่น (bacterial ooze) ไหลออกมาตามรอยตัดเป็นสายละลายปนกับน้ำออกมา หากอาการรุนแรงจะพบภายในลำต้นกลวง เนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลายโดยเชื้อสาเหตุโรค และมะเขือเทศจะตายในที่สุด
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
     ๑. ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดี
     ๒. ฆ่าเชื้อสาเหตุโรคในดินปลูกโดยการอบดินฆ่าเชื้อด้วยยูเรีย อัตรา ๘๐ กิโลกรัม และปูนขาว อัตรา ๘๐๐ กิโลกรัมต่อพื้นที่ ๑ ไร่ โดยอบทิ้งไว้ ๒-๓ สัปดาห์ก่อนปลูกพืช
     ๓. อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร ควรฆ่าเชื้อโดยจุ่ม หรือพ่นด้วยแอลกอฮอล์ ๗๐% หรือ คลอรอกซ์ ๑๐% ก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระบาดของเชื้อ
     ๔. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรคให้ขุดต้นและดินบริเวณรอบต้นออก นำไปทำลายนอกแปลงปลูก โรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดออกเพื่อลดการระบาดของเชื้อสาเหตุโรค
     ๕. ไม่ควรปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือ พริก และถั่วลิสง บริเวณใกล้แปลงปลูกมะเขือเทศที่เป็นโรค เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค
     ๖. ปรับระบบการให้น้ำ ควบคุมความชื้นในดินไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดการเกิดโรค
     ๗. ในพื้นที่ที่เกิดโรคระบาด ควรปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น ข้าวโพด ข้าว ฝ้าย ถั่วเหลือง สลับกันเป็นเวลามากกว่า ๑ ปี

ที่มา กรมวิชาการเกษตร

ตกลง