เตือนการเฝ้าระวัง โรครากเน่า และโคนเน่า ในมะละกอ ประจำเดือน กรกฎาคม 2567
18 ก.ค. 2567
5
0
เตือนการเฝ้าระวัง
เตือนการเฝ้าระวัง โรครากเน่า และโคนเน่า ในมะละกอ ประจำเดือน กรกฎาคม 2567

เตือนการเฝ้าระวัง โรครากเน่า และโคนเน่า (เชื้อรา Pythium aphanidermatum, Phytophthora palmivora) ในมะละกอ

     สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกมะละกอ ในระยะ ทุกระยะ การเจริญเติบโต รับมือโรครากเน่า และโคนเน่า (เชื้อรา Pythium aphanidermatum, Phytophthora palmivora)
     อาการระยะต้นกล้า ส่วนของลำต้นบริเวณผิวดินมีลักษณะฉ่ำน้ำ ใบเหี่ยว ถ้าอาการรุนแรงบริเวณโคนต้นจะหักพับและตายในที่สุด
     อาการระยะต้นโต เริ่มแรกมะละกอแสดงอาการใบล่างเหลือง ก้านใบลู่ลงและหลุดร่วงได้ง่าย ใบที่อยู่ส่วนบนของต้นมีสีซีด ยอดอ่อนมีขนาดเล็กลง เมื่ออาการรุนแรงใบจะสลด เหี่ยว และหลุดร่วงเหลือแต่ใบยอด บางครั้งบริเวณโคนต้น พบแผลเน่าฉ่ำน้ำมีของเหลวสีน้ำตาลเยิ้มออกมา ต้นจะหักล้มพับได้ง่าย และตายในที่สุด เมื่อขุดดูพบรากแขนงเป็นสีน้ำตาลหลุดขาดได้ง่าย และรากแก้วเน่าเปื่อย

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
     1. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี ไม่มีน้ำขัง
     2. ใช้ต้นกล้าจากแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรคนี้ และไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ
     3. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบมะละกอเริ่มแสดงอาการของโรค รดดินบริเวณโคนต้นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล แมนโคเซบ 4% 64% WP อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
     4. หากพบต้นที่เป็นโรครุนแรง ควรขุดต้นที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วโรยปูนขาว หรือรดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามข้อ 3 ในหลุมที่ขุดและบริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
     5. แปลงที่มีการระบาดของโรครุนแรง ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นหมุนเวียน

ที่มา กรมวิชาการเกษตร

ตกลง