เตือนการเฝ้าระวัง โรคเหี่ยวหรือเหง้าเน่า ในขิง ประจำเดือน กรกฎาคม 2567
19 ก.ค. 2567
3
0
เตือนการเฝ้าระวัง
เตือนการเฝ้าระวัง โรคเหี่ยวหรือเหง้าเน่า ในขิง ประจำเดือน กรกฎาคม 2567

เตือนการเฝ้าระวัง โรคเหี่ยวหรือเหง้าเน่า (เชื้อแบคทีเรียRalstonia solanacearum) ในขิง

     สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อน มีฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกขิง ในระยะ ทุกระยะ การเจริญเติบโต รับมือโรคเหี่ยวหรือเหง้าเน่า (เชื้อแบคทีเรียRalstonia solanacearum)
     อาการเริ่มแรก ใบแสดงอาการม้วนห่อ สีของใบซีดต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้ง บริเวณโคนต้นมีอาการฉ่ำน้ำ ลำต้นเน่าหลุดออกจากเหง้าได้ง่ายและหักพับ แต่ไม่มีกลิ่นเหม็น หากตรวจดูที่ลำต้นจะพบส่วนของท่อลำเลียงน้ำและอาหารมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อนำต้นมาตัดตามขวางแช่ในน้ำสะอาดประมาณ 5-10 นาที จะเห็นของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกมา
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
     1. ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดี
     2. ไถพรวนดินให้ลึกเกินกว่า 20 เซนติเมตร จากผิวดินและตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินลงได้มาก
     3. พื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค สามารถฆ่าเชื้อโรคในดิน โดยใช้ยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80 : 800 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านลงในแปลงหลังไถพรวนดินครั้งแรก จากนั้นไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์ จึงเริ่มปลูกพืช
     4. ใช้หัวพันธุ์ปลอดโรค
     5. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรค ให้ขุดต้นที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที และโรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
     6. ในแปลงที่มีการระบาดของโรค หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว นำส่วนต่าง ๆ ของพืชที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก
     7. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือ มันฝรั่ง พริก และถั่วลิสง ให้สลับปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัย เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรของโรค

ที่มา กรมวิชาการเกษตร

ตกลง