เตือนการเฝ้าระวัง โรคเถาเหี่ยว (เกิดจากเชื้อรา) ในแตงโม ประจำเดือน กรกฎาคม 2567
23 ก.ค. 2567
4
0
เตือนการเฝ้าระวัง
เตือนการเฝ้าระวัง โรคเถาเหี่ยว (เกิดจากเชื้อรา) ในแตงโม ประจำเดือน กรกฎาคม 2567

เตือนการเฝ้าระวัง โรคเถาเหี่ยว (เกิดจากเชื้อรา) ในแตงโม

     สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศชื้น มีฝนตกชุกตลอด เตือนผู้ปลูกแตงโม ในระยะ ออกดอก รับมือโรคเถาเหี่ยว (เกิดจากเชื้อรา) ระยะแรก แตงโมจะแสดงอาการใบเหลือง โดยเริ่มที่ใบล่างๆ และเหลืองต่อเนื่องขึ้นไป จนเหลืองทั้งต้น ต่อมาเถาแตงจะเหี่ยวและตาย บางครั้งจะมีรอยแตกตามยาวของลำต้น โดยเฉพาะบริเวณโคนเถาที่ใกล้กับผิวดิน เมื่อผ่าไส้กลางเถาดูจะเห็นภายในเป็นสีน้ำตาล

** โรคนี้จะระบาดรุนแรงในช่วงแตงโมออกดอก และมีฝนตกติดต่อกัน โดยเฉพาะในสภาพดินกรด และการปลูกแตงโมติดต่อกันในพื้นที่เดิมจะทำให้เกิดการระบาดของโรครุนแรง

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
     ๑. ก่อนปลูกควรตรวจสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน ถ้าดินเป็นกรดจัด ให้ปรับสภาพดินด้วยปูนขาวประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ กิโลกรัมต่อไร่
     ๒. เมื่อจำเป็นต้องปลูกแตงโมซ้ำพื้นที่เดิม ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากหลังจากการใส่ปูนขาว จะช่วยทำให้โรคนี้ลดน้อยลง หรือปลูกพืชตระกูลถั่วแซม หรือปลูกสลับแล้วไถกลบต้นถั่วให้เป็นปุ๋ยพืชสดลงไปในดิน แต่ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิมเกินกว่า ๓ ปี
     ๓. ปลูกพืชหมุนเวียน ที่ไม่ใช่พืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา ฟักทอง มะระ แคนตาลูป) และพืชในกลุ่มพริก มะเขือเทศ และมันฝรั่ง เนื่องจากพืชกลุ่มนี้อ่อนแอต่อโรคนี้เช่นกัน
     ๔. เมื่อพบแตงโมเป็นโรค ถอนต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก แล้วราดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราควินโตซีน ๒๔% อีซี อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร โดยราดดินตรงจุดที่พบโรคและบริเวณใกล้เคียง

ที่มา กรมวิชาการเกษตร

 

ตกลง