เตือนการเฝ้าระวัง เพลี้ยจักจั่นฝ้ายและโรคเส้นใบเหลือง กระเจี๊ยบเขียว ประจำเดือน กรกฎาคม 2567
23 ก.ค. 2567
4
0
เตือนการเฝ้าระวัง
เตือนการเฝ้าระวัง เพลี้ยจักจั่นฝ้ายและโรคเส้นใบเหลือง กระเจี๊ยบเขียว ประจำเดือน กรกฎาคม 2567

เตือนการเฝ้าระวัง เพลี้ยจักจั่นฝ้ายและโรคเส้นใบเหลือง กระเจี๊ยบเขียว

เพลี้ยจักจั่นฝ้าย
     เพลี้ยจักจั่นฝ้ายจะเข้าทำลายในช่วงต้นพืชยังเล็ก ทำให้ต้นไม่เจริญเติบโตหรือตายได้ โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ มีผลทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและงอลง ใบจะเหี่ยวแห้งและแห้งกรอบในที่สุด ดังนั้นในช่วงที่พืชยังเล็กควรหมั่นตรวจนับแมลง หากพบตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายเฉลี่ยมากกว่า ๑ ตัวต่อใบ ควรทำการป้องกันกำจัด
วิธีป้องกันกำจัด
     ใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัด ได้แก่ สารฟิโพรนิล ๕% เอสซี อัตรา ๒๕ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม ๒๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน ๑๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๑๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด ๗๐% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน ๑๖% เอสจี อัตรา ๑๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร เริ่มพ่นสารเมื่อพบตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายเฉลี่ยมากกว่า ๑ ตัวต่อใบ

โรคเส้นใบเหลือง(เชื้อไวรัส)
     ใบด่าง เส้นใบมีสีเหลือง ยอดเหลือง ใบและยอดม้วนงอ ต้นเตี้ยแคระแกร็น ฝักมีสีเหลือง ติดฝักน้อยและฝักไม่สมบูรณ์
วิธีป้องกันกำจัด
     ๑. ใช้กระเจี๊ยบเขียวพันธุ์ต้านทานโรค เช่น พันธุ์ OK 9701 และพันธุ์พิจิตร ๑
     ๒. เชื้อไวรัสสาเหตุโรคพืช ยังไม่มีสารป้องกันกำจัดโดยตรง แต่ป้องกันการระบาดของโรคได้โดยกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งเป็นพาหะนำโรค โดยใช้สารฆ่าแมลง บูโพรเฟซิน ๒๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด ๑๐% เอสแอล อัตรา ๒๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน ๒๐% อีซี อัตรา ๓ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
     ๓. ไม่ปลูกพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อ ได้แก่ พืชตระกูลแตง เช่น แตงกวา ฟักทอง มะระ และบวบ ตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วแขก ตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว พริก และยาสูบ และพืชชนิดอื่น ได้แก่ งา กะเพราขาว ตำลึง ฝ้าย หงอนไก่ บานไม่รู้โรย และทานตะวัน ใกล้แปลงปลูกกระเจี๊ยบเขียว
     ๔. กำจัดวัชพืชในแปลง และรอบแปลงปลูก โดยเฉพาะวัชพืชที่เป็นพืชอาศัยของเชื้อไวรัสสาเหตุโรค เช่น สาบแร้งสาบกา กะเม็ง หญ้าขน ลำโพง โทงเทง และขี้กาขาว เพื่อลดแหล่งสะสมเชื้อไวรัสและแมลงพาหะ
     ๕. ตรวจแปลงปลูกสม่ำเสมอ ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ถอนแล้วนำไปทำลายนอกแปลงปลูก
     ๖. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกกระเจี๊ยบเขียว

ที่มา กรมวิชาการเกษตร

ตกลง