คำว่า “พอเพียง” ยังใช้ได้ดีเสมอกับทุกยุคทุกสมัย เพราะถ้าทุกคนมีความพอเพียง ไม่อยากมี อยากได้ จนเกินความจำเป็น ชีวิตก็จะมีความสุขขึ้นเป็นกอง ดังเช่น ลุงจ่อย-สุริยา บุญทะสอน อดีตหัวฝ่ายผลิตที่โรงงานแห่งหนึ่ง ย่านสมุทรปราการ ยอมทิ้งเงินเดือนครึ่งแสน กลับบ้านมาทำเกษตร ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว มีกิน มีใช้ ไม่ขัดสน ลุงจ่อยบอกว่านี่คือความสุขที่สุดแล้ว
คุณสุริยา บุญทะสอน หรือ ลุงจ่อย อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 277 หมู่ที่ 3 บ้านโนนรังน้อย ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี อดีตหัวหน้าฝ่ายผลิต ประจำโรงงานแห่งหนึ่ง ย่านสมุทรปราการ ตัดสินใจทิ้งเงินเดือนครึ่งแสน กลับบ้านเกิดที่อุบลราชธานี มาทำเกษตรผสมผสาน ยึดหลักเกษตรพอเพียงในการดำเนินชีวิต “พออยู่ พอกิน พอใช้” เน้นใช้ชีวิตให้มีความสุขทุกวัน
ลุงจ่อย เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาทำเกษตร ตนเองทำงานเป็นพนักงานโรงงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายผลิต ทำมานานกว่า 33 ปี รับเงินเดือนกว่าครึ่งแสน จนมาถึงวันที่ต้องคิดถึงวัยเกษียณออกจากงานแล้วจะกลับไปทำอะไร และก็โชคดีที่ตนเองมีลูกชายเรียนจบปริญญาตรี ด้านการจัดการการตลาด ซึ่งลูกชายก็ได้มาทำงานโรงงานเดียวกัน จึงได้มีการปรึกษากับลูกชายว่าหลังจากที่ตนเองออกจากงานแล้วจะกลับบ้านไปทำเกษตรจะดีไหม ลูกชายก็เห็นด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำเกษตร
โดยในช่วงแรกของการเริ่มต้น ตนเองและลูกชายยังไม่ลาออกจากงาน แต่จะหาเวลาว่างช่วงหยุดยาว หยุดเสาร์-อาทิตย์ กลับไปบุกเบิกพื้นที่ทำเกษตรที่บ้านก่อน ในขณะที่ยังทำงานประจำอยู่ บนพื้นที่ 4 ไร่ อันดับแรกคือการวางแผนขุดสระน้ำ เนื่องจากพื้นที่สวนตรงนี้เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ระบบชลประทานเข้าไม่ถึง จึงต้องลงทุนขุดคลองไว้สำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง เพราะตระหนักอยู่เสมอว่าการทำเกษตรน้ำสำคัญที่สุด ขุดในรูปแบบทำคลองไส้ไก่ รวมถึงวางแผนปลูกพืชอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บนพื้นฐานของความพอเพียง “ที่ต้องบอกว่าเราปลูกพืชบนพื้นฐานของความพอเพียง ก็เพราะว่าเรามองแล้วว่าถ้าทำเกษตรแล้วจะหวังรายได้ หวังให้รวยคงไม่ใช่ แต่เราหวังแค่ให้เรามีกิน มีอยู่ มีใช้ เหลือกินแล้วถึงมีรายได้เข้ามา เพราะฉะนั้นผมจะย้ำกับลูกชายเสมอว่า ถ้าทำเกษตรหวังรายได้ เราจะอยู่ไม่ได้นะ ลูกชายก็เข้าใจและมองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน สวนเกษตรผสมผสานลุงจ่อย จึงเกิดขึ้นได้มาถึงทุกวันนี้”
พื้นที่ 4 ไร่ ปลูกพืชผสมผสาน ได้มากกว่า 50 สายพันธุ์ ลุงจ่อย อธิบายถึงแผนการจัดการพื้นที่ในสวนว่า อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าที่นี่ให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำมากที่สุด เพราะฉะนั้นคลองไส้ไก่ที่สวนขุดจะมีความกว้าง 5 เมตร ลึก 3 เมตร ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ รวมถึงขุดบ่อเล็กๆ ไว้อีก 3-4 บ่อ เพื่อในอนาคตจะเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอยเพิ่มเติม ซึ่งข้อดีของคลองไส้ไก่ คือช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง เนื่องจากถ้าหลังจากปีใหม่ไปแล้วพื้นที่ตรงนี้จะไม่มีน้ำเลย ทางสวนจึงต้องใช้วิธีขุดคลองไส้ไก่เพื่อกักเก็บน้ำให้มีใช้ตลอดทั้งปี และหลายคนสงสัยว่าทำไมต้องขุดคลองใหญ่ขนาดนี้ สาเหตุเดียวเลยคือการทำเกษตรทำเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ซึ่งนอกจากการที่จะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปีแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการนำปลาลงไปปล่อยเลี้ยงสร้างรายได้ มีการเลี้ยงแหนแดงไว้ในบ่อเล็กๆ สำหรับทำเป็นอาหารเลี้ยงปลา สลับกับอาหารเม็ด ช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร และยังสามารถนำเอาแหนแดงไปทำปุ๋ยหมักใส่ต้นไม้ รวมถึงการจำหน่ายสำหรับคนที่ต้องการนำไปเป็นอาหารสัตว์ เป็ด ไก่ ได้อีกด้วย ถัดมาคือการวางแผนปลูกพืชผสมผสาน เริ่มต้นจากการหากล้วยหลากหลายสายพันธุ์มาปลูก เช่น กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 กล้วยหอมทอง กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหักมุก กล้วยนมสาว เป็นต้น เมื่อลงปลูกกล้วยเสร็จ ต่อมาคือการลงมือปลูกมะพร้าวน้ำหอม ที่นำพันธุ์มาจากสมุทรสาคร จากนั้นก็เริ่มหาพืชผักผลไม้ชนิดอื่นๆ มาปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่ง อ้อย น้อยหน่า ชะอม ข้าว แหนแดง ผักกระโดน แคนา และพืชผักสวนครัวที่ใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน รวมถึงเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ไว้ในคลองไส้ไก่ หรือพูดง่ายๆ ว่า “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ข้าวเรามี ผลไม้เรามี ปลาเรามี อยากกินอะไรได้กิน”
การจัดการดิน ด้วยพื้นที่สวนแห่งนี้มีสภาพดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ หรือที่ชาวบ้านแถวนี้เรียกว่า ดินด่าง โดยสภาพดินเป็นลักษณะดินเหนียวที่ติดหินขึ้นมา เป็นดินที่ไม่มีอินทรียวัตถุเลย จึงต้องมาปรับปรุงบำรุงดินใหม่ในช่วงแรก ด้วยการนำเอาปุ๋ยขี้วัว ขี้ไก่ มาทำปุ๋ยหมัก ผสมกับแกลบดำ แกลบดิบ คลุกเคล้าหมักทิ้งไว้แต่ละจุด นำไปใส่ต้นไม้พืชผักผลไม้ที่ปลูก และเสริมด้วยการนำฟางข้าวมาคลุมหน้าดินเพื่อกักเก็บความชื้นภายในดิน และย่อยสลายเป็นปุ๋ยพืชสด ก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนดินเริ่มอุดมสมบูรณ์ปลูกอะไรก็งาม โดยที่ไม่ต้องพึ่งสารเคมีใดๆ
ผลผลิตคุณภาพเต็มร้อย จากที่เริ่มต้นทำสวนผสมผสานได้เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ผลผลิตบางส่วนทยอยออกผลผลิตให้เก็บกิน เก็บขายได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้าของที่สวนที่กำลังเป็นที่ต้องการของคนในหมู่บ้านมากๆ คือกล้วยยังไม่ทันสุกจากเครือ ก็มีคนเข้ามาขอจองแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า กล้วยน้ำว้าของที่สวน ลูกใหญ่ ผิวสวย รสชาติหวานอร่อย ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด ถัดมาคือชะอม ที่ปลูกไว้ 60 หลุม ฝรั่งกิมจู ผลผลิตก็ออกมาให้ได้เก็บกินเก็บขายแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของการจับปลานิล ปลาตะเพียน ที่เลี้ยงไว้ในคลองไส้ไก่ขาย วันละ 3-4 กิโลกรัม รวมไปถึงเวลาที่แถวบ้านมีงานบุญก็จะเข้ามาสั่งซื้อปลาจากที่สวนไปทำอาหารเลี้ยงแขกครั้งละ 10-20 กิโลกรัม ที่สวนก็จะแถมตะไคร้ ใบมะกรูดให้ไปด้วย
รายได้ การทำสวนกับการประจำถ้าเทียบด้วยเงินตราการทำเกษตรคงสู้ไม่ได้ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับความสุขแล้วมีล้นเหลือ เพราะอยู่ตรงนี้ได้เป็นเจ้านายตัวเอง รับผิดชอบตัวเราเอง ต้องขยันมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า แต่มีความพึงพอใจกับรายได้ และความสุขที่ได้ในแต่ละวันมากๆ “เราคิดคิดไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าทำตรงนี้ไม่รวย แต่ขอแค่ให้เรามีอยู่มีกิน ได้กินตามที่อยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องซื้ออะไรเลย ทุกวันนี้ลุงก็ยังไปตลาด ไปเพื่อให้ได้รู้ว่าตลาดตอนนี้เขาขายอะไรกันบ้าง ขายราคาเท่าไหร่ เป็นการศึกษาการตลาดไปในตัว ซึ่งตอนนี้ตลาดของเราอยู่ที่บ้านอย่างเดียว มีลูกค้าเข้ามาหาถึงที่บ้าน เพราะของเราดีมีคุณภาพ ชาวบ้านก็ช่วยกันบอกปากต่อปากให้เราว่าของสวนเราดีแบบนั้นแบบนี้ กลายเป็นว่าเราไม่ต้องไปหาตลาดเองเลยทีนี้”
ทำเกษตรผสมผสาน “ไม่รวยเงินตรา แต่รวยความสุข” ลุงจ่อย บอกว่า สำหรับคนที่ยังยึดติดกับรายได้จากงานประจำอยู่ ถ้าจะมาทำเกษตรให้มีความสุขต้องรู้จักคำว่า “พอ” เพราะตามหลักคิดของตนเองไม่ได้เอาเงินมาเป็นตัวนำทาง แต่จะเอาการอยู่ดี กินดี มานำร่องในการทำเกษตร “วันหนึ่งเราต้องรู้จักคำว่าพอ เพราะถ้าเรายังมุ่งหวังว่าได้ร้อยจะเอาสองร้อย ได้สองร้อยจะเอาพัน ได้พันจะเอาหมื่น ได้หมื่นจะเอาแสน รับรองว่าคุณจะไม่มีความสุขจากการทำเกษตรแน่นอน เพราะช่วงแรกที่ลุงเริ่มลาออกจากงานก็นั่งคิดเหมือนกันว่าเมื่อก่อนทำงานได้เงินเดือน มีโบนัสทุกปี แต่ถ้ามัวแต่ไปคิดถึงสิ่งที่เคยได้ แล้วไม่ปล่อยวางก็จะไม่มีความสุข แต่พ่อลุงคิดได้ว่าลุงจะพอกับตรงนั้น เราก็ปล่อยวางแล้วภูมิใจกับปัจจุบัน ทุกวันนี้ลุงภูมิใจมากที่มีคนมาซื้อชะอมลุง 5-10 บาท มันคือความพอใจ และความพอเพียง เรากินอยู่กับสวน อยู่กับไร่กับนาของเราอยู่เป็นครอบครัวของเรา อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากัน”
และนอกจากความพอเพียงแล้ว การทำเกษตรยั่งยืนถือเป็นเรื่องสำคัญ คือเกษตรที่ยั่งยืนได้ก็ต้องมีทุกอย่าง อย่าปลูกแต่พืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว ยกตัวอย่างจากที่เคยเห็นจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ คือ การทำนาปลูกข้าวอย่างเดียว ทีนี้หลังจากเก็บเกี่ยวเสร็จ ก็ไม่มีอาชีพอย่างอื่นเสริม ปล่อยผืนนาไว้โดยเปล่าประโยชน์ แต่ตอนนี้เราไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้ว จะมาเน้นทำเกษตรผสมผสานสร้างความยั่งยืน “ตอนนี้ในสวนของลุงปลูกทุกอย่างที่ลุงอยากกิน อย่างเดินไปในสวนอยากกินกล้วยสวนลุงมีกล้วยให้กิน อยากกินมะพร้าว มะม่วง ฝรั่ง ชะอม เรามีหมด หรือถ้าเราทำกับข้าวเราเลี้ยงปลาก็จับปลาในบ่อไปทำ ตะไคร้ ใบมะกรูดเรามีแล้ว คือเราต้องมีหลายๆ อย่าง ไม่ใช่เราทำนาแล้วขายข้าวไปซื้อปลา ทำอ้อยขายอ้อยไปซื้อข้าว ไปซื้อปลา ซื้ออาหาร ไปซื้อผัก เราต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่เราจะไม่ซื้อ แต่ซื้อให้น้อยที่สุด ซื้อสิ่งที่จำเป็น แบบนี้ถึงจะเรียกว่าการทำเกษตรแบบยั่งยืน” ลุงจ่อย กล่าวทิ้งท้าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 081-644-6971 หรือติดต่อได้ที่ช่องทางเพจเฟซบุ๊ก : สวนลุงจ่อย (สวนผสมผสาน)