ส้มเขาคัน
30 ต.ค. 2563
9,668
0
ส้มเขาคัน
ส้มเขาคัน

• วงศ์ : VITACEAE (องุ่น)

• ชื่อสามัญ : – True Virginia creeper – Virginia creeper – Victoria creeper – Five-leaved ivy – Five-finger

• เถาคันขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parthenocissus quinquefolia Planch.

• เถาคันขาว ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Cayratia trifolia (Linn.)Domin

• เถาคันแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ : Columellia trifolia Merr. วงศ์ : COLUMELLIACEAE

• ชื่อท้องถิ่น : ลำต้นสีขาว – เถาคันขาว – หุนแปขาว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) – เครือหุนแป – เครือพัดสาม – ส้มเขาคัน  ลำต้นสีแดง – เถาคันแดง – หุนแปแดง – ส้มเขาคัน

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย เถาคัน มีถิ่นกำเนิดในหลายพื้นที่ ได้แก่

– ทางตะวันออก และตอนกลางของทวีปอเมริกาเหนือ

– ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแคนาดา

– ทางตะวันออกและตอนกลางของสหรัฐอเมริกา

– ทางตะวันออกของประเทศเม็กซิโก เถาคันขาว และเถาคันแดง ในไทยพบแพร่กระจายทุกจังหวัด พบได้มากตามที่รกร้าง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง

เถาคันขาว (Parthenocissus quinquefolia Planch. หรือ Cayratia trifolia (Linn.)Domin) ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เถาคัน เป็นไม้เลื้อยขนาดเล็กที่ชอบขึ้นเลื้อยพาดตามต้นไม้ใหญ่ ลำต้นมีลักษณะเป็นเถา ยาวได้มากกว่า 10 เมตร ลำต้นแตกกิ่งเถา มีลักษณะเป็นข้อๆ ซึ่งเป็นบริเวณแตกก้านใบ เถาโคนต้นมีผิวขรุขระ และสากมือ ปลายเถาหรือเถาอ่อนมีขนปกคลุม เถาคันขาวมีโคนเถาสีขาวอมน้ำตาลอ่อน เถาอ่อนหรือปลายเถามีสีเขียว

ใบ ใบเถาคัน เป็นใบประกอบ มีก้านใบหลักเรียวยาว แตกออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใบย่อยแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดมีย่อย 3 ใบ และชนิดมีใบย่อย 5 ใบ แต่ละใบย่อยมีโคนใบเชื่อมติดกันที่ปลายก้านใบหลัก ใบย่อยแต่ละใบมีรูปไข่ โคนใบสอบแคบ กลางใบขยายกว้าง ปลายใบแหลม ขนาดใบกว้าง ประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาว ประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวสด ค่อนข้างหนา และสากมือด้วยขนที่ปกคลุม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย เส้นกลางใบมองเห็นไม่ชัดเจนในชนิดเถาคันขาว แต่ใบด้านล่างเป็นสันนูนของเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบชัดเจน

ดอก ดอกเถาคันออกเป็นช่อบริเวณซอกใบหรือข้อลำต้น แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก 10-40 ดอก ดอกย่อยมีขนาดเล็ก โดยดอกเถาคันขาว จะมีดอกอ่อนสีเขียว ดอกบานมีสีขาว ทั้งนี้ เถาคันจะเริ่มติดดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ผล ผลเถาคันขาว มีลักษณะกลม ผิวผลเรียบ และเป็นมัน ขนาดผลประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เล็กกว่ามะเขือพวงเล็กน้อย เปลือกผลบาง เนื้อผลหนา ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีดำ เนื้อผลสุก และนำจากเนื้อผลสุกมีสีม่วงแดง มีรสเปรี้ยวคล้ายผลองุ่น แต่บางรายงาน พบว่า เมื่อสัมผัสน้ำจากเนื้อผลผิวหนังจะรู้สึกคัน จนเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า “เถาคัน” ทั้งนี้ เถาคันจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

 เถาคันแดง (Columellia trifolia Merr. )

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลำต้นเถาคันแดงมีลักษณะคล้ายกับเถาคันขาวในเกือบทุกส่วน แต่มีข้อแตกต่าง คือ เถาอ่อนสีเขียวอมแดงหรือสีแดง ใบเถาคันแดงอาจมีสีเขียวหรือเขียวอมแดง ใบมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบบางส่วนมองเห็นเป็นสีแดงชัดเจน ดอกเถาคันแดงจะมีสีแดง ส่วนผลเถาคันแดง มีลักษณะคล้ายกับเถาคันขาว

ประโยชน์เถาคัน 1. ยอดอ่อนมีรสมัน ใช้รับประทานสดหรือลวกน้ำร้อนเป็นผักกับน้ำพริกหรืออาหารรสเผ็ดอื่นๆ 2. ยอดอ่อน และผลอ่อนใช้ประกอบอาหาร อาทิ ผลอ่อนตำเป็นน้ำพริก ใบอ่อน และผลอ่อนใช้ทำแกงส้ม แกงอ่อม เป็นต้น 3. ผลสุกเถาคันมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นอาหารของสัตว์ป่าบางชนิด แต่ตำรายากล่าวว่าทำให้เกิดอาการคัน แสดงถึงการมีสารพิษแคลเซียมออกซาเลท ดังนั้น จึงไม่ควรรับประทานผลสุก

สรรพคุณเถาคัน เถา (ต้มน้ำดื่ม)

– เป็นยาแก้โรคกษัย

– เป็นยาฟอกเลือด

– เป็นยาขับเสมหะ

– แก้กษัย

– ช่วยขับลม

– แก้อาการผอมแห้ง

– รักษาอาการช้ำใน

– ช่วยให้เส้นเอ็นคลายตัว

– แก้ฝีในท้อง

– แก้ริดสีดวงลำไส้

– ใช้เป็นยาคุมกำเนิด  ใบ (ต้มน้ำดื่มหรือรับประทาน)

– แก้มะเร็ง – แก้เลือดออกตามไรฟัน

– ช่วยลดไข้ – รักษาแผลในจมูก

ใบ (ใช้ทาหรือประคบภายนอก) – ใบนำไปอังหรือย่างไฟให้พอเหี่ยว ก่อนใช้ประคบรักษาฝี – แก้อาการร้อนแดง 

ราก (ต้มน้ำดื่ม) – รักษาแผลในกระเพาะอาหาร – ใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน – ช่วยขับปัสสาวะ – แก้โรคนิ่ว – ใช้เป็นยาฟอกโลหิต – ช่วยแก้ฟกซ้ำ – ช่วย ขับเลือดเสีย – ช่วยขับน้ำคาวปลา 

ผลอ่อน (รสเฝื่อน ต้มน้ำดื่มหรือรับประทาน ) – แก้กระษัย – ขับลม – ฟอกเลือด – แก้ฟกช้ำภายใน – แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด – ขับเสมหะ – แก้เลือดออกตามไรฟัน 

ผลอ่อน (ใช้ภายนอก ) – ตำพอกฝี – แก้แผลในจมูก – ถอนพิษปวดบวม

การเพาะขยายพันธุ์ เถาคันเป็นพืชเถา สามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง

ตกลง