ต่อยอด! “ธนาคารปูม้า” ส่งเสริมการค้า คืนคุณค่าสู่ท้องทะเล
10 ต.ค. 2561
1,555
0
ต่อยอด!“ธนาคารปูม้า”ส่งเสริมการค้าคืนคุณค่าสู่ท้องทะเล
ต่อยอด! “ธนาคารปูม้า” ส่งเสริมการค้า คืนคุณค่าสู่ท้องทะเล

เดือน ต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี ห้ามทำประมงปูในทะเล กับปูที่มีไข่นอกกระดอง ทั้งปูทะเล ปูม้า และปูลาย นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญครับ...ถึงขนาดที่กระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศห้ามกันเลยทีเดียว เพราะในช่วง 3 เดือนดังกล่าว เป็นช่วงฤดูวางไข่ ดังนั้น การจับปูไข่นอกกระดอง จึงเป็นการทำลายพันธุ์ปูอย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย ใครที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท หรือปรับจำนวน 5 เท่า ของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะสูงกว่า แต่ถ้าเราปล่อยไว้อีกระยะหนึ่ง แม่ปูจะให้กำเนิดลูกปูจำนวนมาก โดยปูในทะเลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เนื้อมีรสดี เป็นที่นิยมบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวประมงได้อย่างงดงาม ธนาคารปูม้า รับฝากไข่ปู กู้วิกฤตปูม้าหดหาย... “ปูม้า” เป็นปูในทะเลประเภทหนึ่งที่ชาวประมงนิยมเลี้ยง ช่วยสร้างรายได้มาก เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด บางช่วงถึงกับขาดตลาด ผลผลิตออกมาไม่ทันผู้บริโภค รัฐบาลเล็งเห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และโอกาสที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมง จึงได้เห็นชอบ “โครงการธนาคารปูม้า” ส่งเสริมให้ชุมชนกว่า 100 แห่ง ริมชายฝั่งทะเลไทย ที่ทำปูม้า เป็นต้นแบบขยายผลวิธีเพาะพันธุ์และเลี้ยงปูม้า ไปยังชุมชนอื่นอีก 500 ชุมชน ภายในระยะเวลา 2 ปี การทำธนาคารปูม้าเป็นอย่างไร? ธนาคารปูม้า คือ การสร้างกระชังหรือถังน้ำในโรงเรือนรับฝากแม่ปู เพื่อนำแม่ปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมาเลี้ยงไว้ ก่อนประมาณ 7 วัน โดยแม่ปู 1 ตัว จะมีไข่ราว 500,000 - 1,000,000 ฟอง เมื่อแม่ปูม้าเขี่ยไข่ออกจากหน้าท้อง ไข่จะฟักเป็นลูกปู จากนั้นชาวประมงจะนำไปปล่อยคืนสู่ท้องทะเล ส่วนแม่ปูที่ปล่อยไข่หมดแล้ว ก็จะนำไปขายและนำเงินที่ได้ฝากเข้ากองทุนธนาคารปู “ธนาคารปู” มีลักษณะเหมือนกับการฝาก – ถอนเงิน ของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เพียงแต่เปลี่ยนจากเงินสดมาเป็นการรับฝากแม่ปูแทน ส่วนดอกเบี้ยก็คือ ลูกปูที่ปล่อยลงสู่ทะเล เมื่อเติบโตขึ้น ชาวประมงก็สามารถจับขึ้นมาขายเป็นรายได้ต่อไป สมมติว่า ชุมชนปล่อยไข่ปูม้าจากแม่ปูม้าได้เดือนละ 100 ตัว จะมีลูกปูม้าเพิ่มขึ้น 100,000 – 1,000,000 ตัว ถ้าทุกชุมชนทำได้ทุกเดือน จะทำให้มีรายได้จากการขายปูม้าถึง 2,500,000 บาท/ชุมชน/เดือน และถ้าส่งเสริมได้ถึง 1,000 ชุมชน จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 2,500 ล้านบาท/เดือน เห็นไหมว่า..คุ้มค่าขนาดไหน แล้วรัฐสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารปูอย่างไรบ้าง? 1. ให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางให้ลูกปูม้ารอดชีวิตจนสามารถเติบโตได้เต็มที่ เพิ่มขึ้นจาก 0.05 - 0.1% เป็นมากกว่า 1 - 2% 2. ให้กรมประมงควบคุมดูแลมาตรฐานการส่งออกปูในทุกด้าน โดยยึดตามเกณฑ์มาตรฐานสากล 3. ให้ธนาคารออมสิน สนับสนุนสินเชื่อให้ชุมชนดำเนินการธนาคารปูม้าและอนุบาลลูกปูม้าชายฝั่ง ชุมชนละประมาณ 150,000 - 200,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน 4. หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันดูแล หาตลาดให้ชาวบ้าน รวมทั้งส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งในช่องทางปกติและช่องทางออนไลน์ ทั้งหมดนี้คือ...อีกหนึ่งโครงการที่มีประโยชน์ในยุคปฏิรูปของรัฐบาล ที่จะช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ พร้อม ๆ ไปกับการสร้างความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ให้กับชาวประมงอย่างยั่งยืน

ตกลง