ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2567
มีการหดตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสาขาประมง สาขาพืช สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาปศุสัตว์ หดตัวร้อยละ 4.7 3.7 2.0 และ 0.1 ตามลำดับ
โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร โดยเฉพาะสาขาประมง จากปริมาณผลผลิตประมงทะเลพาณิชย์และปลานิลลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ชาวประมงจับสัตว์น้ำได้น้อยลง ชาวประมงบางส่วนไม่ออกทำการประมง และเนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลไม่ขยายปริมาณการผลิต และมีการเลี้ยงปลานิลปนกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรปี 2567 ลดลงร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ส่งผลให้ดัชนีรายได้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4
แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรปี 2568
คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง ร้อยละ (-0.1) – 0.9 โดยสาขาพืชขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.2 – 1.2 สาขาปศุสัตว์ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.1) – 0.9 สาขาประมงขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.2) – 0.8 และสาขาบริการทางการเกษตรขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.2) – 0.8
โดยคาดว่ามีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ได้แก่ ปริมาณฝนที่มีมากขึ้นจากอิทธิพลของสภาวะลานีญา ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโตของพืช การบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยว และการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการขับเคลื่อนงานตามนโยบายด้านการเกษตร "ตลาดนำ นวัตกรรม เสริมเพิ่มรายได้" การพัฒนาศักยภาพการผลิตและบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตลอดจนการพัฒนาระบบประกันภัยและการรับรองความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยด้านลบ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรและการเจริญเติบโตของพืช ราคาปัจจัยการผลิตหลายชนิดที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงกฎระเบียบและมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น