ในเวลานี้ทุกพื้นที่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันว่า "Climate Change" ที่กำลังสร้างความเสียหายและเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ ท้าทายของ "กรมชลประทาน" ที่ต้องเตรียมความพร้อม ปรับปรุงแผนงานในการรับมือภาวะอากาศแปรปรวน อีกทั้งต้องมีการบริหารจัดการน้ำ การพยากรณ์น้ำที่แม่นยำเต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ ในโอกาสนี้ "นายวิทยา แก้วมี" รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า
"ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมเฉียบพลันในบาเลนเซีย เมืองชายฝั่งทางตะวันออกของสเปนที่ส่งผลกระทบบ้านเรือนกว่า 155,000 หลัง รวมถึงประเทศเนปาลเผชิญฝนตกหนักจนน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม ทะเลทรายซาฮาราถูกน้ำท่วมเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ สำหรับประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม - 4 ตุลาคม 2567 ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 38 จังหวัด
Climate Change ถือเป็นความท้าทายของกรมชลประทานที่ต้องเตรียมความพร้อม และปรับปรุงแผนงานในการรับมือภาวะอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ และทำให้การคาดการณ์คลาดเคลื่อน ถ้าดูจากปริมาณฝนที่เทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายปีกับปัจจุบันจะเห็นว่าปริมาณน้ำไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมนัก แต่จะเปลี่ยนตำแหน่งที่ตก รวมถึงความหนาแน่นและความเข้มของฝน แผนการบริหารจัดการน้ำ สิ่งที่กรมชลประทานทำมาโดยตลอด คือ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง กรมชลประทานจะมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะดู 7-10 วันล่วงหน้าว่าจะมีฝนตกแค่ไหน ส่วนระยะยาว กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณฝนจะทำการคาดการณ์ 3-6 เดือนล่วงหน้า ข้อมูลที่ได้มาจะถูกนำไปวางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ และในแม่น้ำ ลำคลอง ต่างๆ
สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงคือพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม จำเป็นต้องการการบริหารจัดการน้ำที่พิเศษและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงพื้นที่แล้งที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ภูมิประเทศของไทยอย่างที่ทราบกันดี ตอนเหนือเป็นภูเขา อีสานเป็นที่ราบสูง ภาคกลางที่ราบลุ่ม ภาคใต้เป็นชายทะเล ปัญหาเรื่องน้ำย่อมต่างกัน แต่เราก็ใช้หลักการบริหารน้ำคือ ต้นกักเก็บน้ำ กลางหน่วงน้ำ ปลายระบายน้ำ เนื่องจากภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขา พื้นที่ทางภูมิศาสตร์จึงเหมาะจะสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ ส่วนตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม น้ำจากตอนบนไหลลงมาต้องมาจัดจราจรน้ำ เพื่อแบ่งเบาลดยอดน้ำ โดยจะไม่ให้กระทบกับพื้นที่ที่เราผันน้ำเข้าไป จนมาถึงตอนปลาย ปัญหาที่พบคือ น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ไม่สามารถที่จะระบายน้ำได้ตามธรรมชาติ ต้องมีสถานีสูบน้ำเข้ามาช่วยสูบระบายน้ำออกโดยเฉพาะช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ส่วนตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ราบอย่างกรุงเทพฯ ไม่มีที่เก็บกักน้ำได้เลย ต้องใช้สถานีสูบน้ำอย่างเดียว ปัจจุบันเรามีสถานีสูบน้ำที่สามารถระบายออกในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำได้ถึงวันละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากเหนื อ น้ำทะเลหนุน และน้ำฝน