ชาวนาเฮ! กรมชลฯ ยันปริมาณน้ำมากกว่าปีก่อน หนุนเพิ่มพื้นที่ทำนาปรัง
13 พ.ย. 2567
3
0
ชาวนาเฮ!กรมชลฯยันปริมาณน้ำมากกว่าปีก่อน
ชาวนาเฮ! กรมชลฯ ยันปริมาณน้ำมากกว่าปีก่อน หนุนเพิ่มพื้นที่ทำนาปรัง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งเพื่อการเพาะปลูก ปี 2567/2568 ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.67-30 เม.ย.68 จากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก รวมทั้งสิ้น ณ วันที่ 1 พ.ย.67 จำนวน 44,250 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม) โดยมีปริมาณน้ำมากกว่าปีก่อน 3,863 ล้าน ลบ.ม.และจากปริมาณน้ำดังกล่าวทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกได้อีก 1.2 ล้านไร่ รวมแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศในปีนี้ 10.02 ล้านไร่

โดยวางแผนจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 29,170 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 15,080 ล้าน ลบ.ม. สำหรับ 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 1.เพื่ออุปโภค-บริโภค 3,050 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10% จากแผนฯ 2.รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 8,765 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30% จากแผนฯ 3.เพื่อเกษตรกรรม 16,555 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57%จากแผนฯ และ 4.เพื่ออุตสาหกรรม 800 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 3% จากแผนฯ

ขณะนี้ได้จัดสรรน้ำไปแล้ว (1-12 พ.ย.67) จำนวน 991 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 4% จากแผนฯ คงเหลือที่ต้องจัดสรรอีก 28,179 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 96% จากแผนฯ ปัจจุบัน (12 พ.ย.67) มีปริมาณน้ำเก็บกัก 63,908 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การ 39,922 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่า วันที่ 1 พ.ค.68 จะมีปริมาณน้ำเก็บกัก 44,032 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การ 20,489 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะบริหารจัดการเพื่อการเกษตรจนสิ้นสุดฤดูแล้งนี้

รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ แม้ในปีนี้จะเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ยังบริหารจัดการกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมาก และวางแผนจัดสรรสำหรับเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ

"ในบางพื้นที่เกษตรกรสามารถทำนาปรังต่อเนื่องจากนาปีได้ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 พ.ย.67 ไปแล้วกว่า 0.75 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.55 ล้านไร่ โดยใช้ประโยชน์จากน้ำช่วงน้ำหลากในการเพาะปลูก ขณะที่ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้สั่งการให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จก่อนแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรังได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้การปรับปฏิทินการเพาะปลูกมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในปีถัดไป" นางนฤมล กล่าว
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำใช้ได้รวม 14,992 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วถึง 3,407 ล้าน ลบ.ม. มีการวางแผนสนับสนุนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จำนวน 6.47 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 0.75 ล้านไร่ ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา

พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำใช้ได้ถึง 9,514 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 781 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงเพาะปลูกข้าวนาปรังตามแผนที่วางไว้ประมาณ 0.84 ล้านไร่

พื้นที่ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 3,846 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 1,367 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้วางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ 0.63 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.2 ล้านไร่

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้รวม 7,375 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 1,333 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากมีปริมาณฝนตกทางตอนล่างของภาคค่อนข้างน้อย แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกจากเดิมได้ถึง 0.06 ล้านไร่ รวมแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 1.10 ล้านไร่ โดยในพื้นที่ตอนบน อาทิ จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้อย่างเหมาะสม ส่วนพื้นที่ตอนล่างบางแห่ง อาทิ จังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ มีฝนตกน้อยและปริมาณน้ำลดลง ได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสนับสนุนน้ำในการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้งนี้

ตกลง