ระวัง โรคใบไหม้ (เชื้อรา Phytophthora infestans) ในมันฝรั่ง
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นและมีหมอกบางในตอนเช้า เตือนผู้ปลูกมันฝรั่ง ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคใบไหม้ (เชื้อรา Phytophthora infestans)
มักพบอาการของโรคที่ใบล่างก่อน โดยด้านบนใบพบจุดแผลฉ่ำน้ำสีเขียวหม่นคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ ตรงกลางแผลมีลักษณะแห้งเป็นสีน้ำตาล ขอบแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำสีดำ เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบบริเวณตรงกันที่ขอบแผลจะมองเห็นเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ สีขาวใสติดอยู่ แผลจะลุกลามออกไป ทำให้ใบไหม้แห้งเป็นสีน้ำตาลในที่สุด หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม คือ อากาศเย็นและมีความชื้นสูง หรือในสภาพที่มีหมอกลงจัด โรคจะลุกลามอย่างรวดเร็วไปยังต้นอื่น ๆ ทำให้มองเห็นใบไหม้แห้งกระจายเป็นหย่อม ๆ ในแปลง อาจพบอาการโรคที่ส่วนของลำต้นและกิ่งก้าน แผลมีสีน้ำตาลหรือสีดำ เมื่ออาการรุนแรงลำต้นและกิ่งก้านจะหักพับ และแห้งตายอย่างรวดเร็ว หากโรคเข้าทำลายที่หัว จะทำให้หัวเน่า
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. หลีกเลี่ยงการปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน
2. ไถพลิกดินตากแดด 1 - 2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเชื้อโรคในดิน
3. ใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ
4. ปรับระยะปลูกไม่ให้แน่นเกินไป เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค
5. ไม่ให้น้ำมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น
6. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการโรค ควรถอนและนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30 - 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดเมโทมอร์ฟ 50% WG อัตรา 20 - 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซมอกซานิล + แมนโคเซบ 8% + 64% WP อัตรา 50 - 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 30 - 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไอโพรวาลิคาร์บ + โพรพิเนบ 5.5% + 61.3% WP อัตรา 40 - 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5 - 7 วัน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ควรใช้สลับชนิด เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อราสาเหตุโรค
7. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืช รวมทั้งหัวมันฝรั่งที่ตกค้างในแปลง นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
ที่มา:สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร