ระวัง หนอนใยผัก ในพืชตระกูลกะหล่ำ (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก บรอกโคลี ฯลฯ)
26 ม.ค. 2564
1,412
0
ระวัง หนอนใยผัก ในพืชตระกูลกะหล่ำ (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก บรอกโคลี ฯลฯ)
ระวัง หนอนใยผัก ในพืชตระกูลกะหล่ำ (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก บรอกโคลี ฯลฯ)
 
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศหนาวถึงหนาวจัด กับมีลมแรง  เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ (เช่น คะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก บรอกโคลี ฯลฯ) ในระยะ  ทุกระยะการเจริญ รับมือหนอนใยผัก

ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ หรือกลุ่มเล็กๆ ทั้งบนใบและใต้ใบพืช แต่จะพบใต้ใบพืชเป็นส่วนใหญ่ หนอนมีลักษณะเรียวยาว หัวแหลมท้ายแหลม ส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉกเมื่อถูกตัวจะดิ้นอย่างแรง และสร้างใยพาตัวขึ้นลงระหว่างพื้นดินกับใบพืชได้ หนอนจะกัดกินผิวใบทำให้ผักเป็นรูพรุนคล้ายร่างแห จากนั้นเข้าดักแด้บริเวณใบพืช โดยมีใยบางๆ ปกคลุมติดใบพืช

 

 

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. การใช้กับดักชนิดต่างๆ ได้แก่ - กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เป็นกับดักทรงกระบอก หรือกระป๋องน้ำมันเครื่องสีเหลืองทาด้วยกาวเหนียว ทุก 7-10 วันครั้ง สามารถจับผีเสื้อหนอนใยผักได้เฉลี่ย 16 ตัวต่อวันต่อกับดัก โดยจับผีเสื้อเพศเมีย : เพศผู้ ได้ 0.79 : 1 และเมื่อติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ - กับดักแสงไฟ หลอดสีน้ำเงิน 20 วัตต์ เป็นหลอดเรืองแสงที่เหมาะสมในการใช้จับผีเสื้อหนอนใยผักมากที่สุด มีราคาถูกกว่าหลอด blacklight-blue 20 วัตต์ และปลอดภัยไม่มีอันตรายจากแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ในการติดตั้งกับดักแสงไฟควรติดตั้งรอบนอกแปลงผัก และควรดำเนินการติดตั้งพร้อมกันในพื้นที่ 2. การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง โดยการปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายไนล่อนขนาด 16 mesh (256 ช่องต่อตารางนิ้ว) สามารถป้องกันการเข้าทำลายของหนอนใยผักและหนอนผีเสื้ออื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้โรงเรือนตาข่ายไนล่อนต้องปิดอย่างมิดชิดตลอดเวลาเพื่อป้องกันผีเสื้อเพศเมียเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ 3. การใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ - การใช้เชื้อแบคทีเรีย (บาซิลลัส ทูริงเยนซิส) ปกติในธรรมชาติจะพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนใยผัก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้หนอนใยผักตาย ปัจจุบันจึงมีการผลิตเชื้อแบคทีเรียในรูปการค้าออกจำหน่ายที่สำคัญมี 2 สายพันธุ์ คือ Bacillus thuringiensis subsp. aizawai และ Bacillus thuringiensis subsp. kurstaki อัตรา 100-200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (ไม่ควรใช้ในแหล่งปลูกผักภาคกลาง ในช่วงที่มีการระบาดมากพิจารณาการใช้อัตราสูง และช่วงเวลาพ่นถี่ขึ้น หรือพ่นสลับสารฆ่าแมลง) 4. การใช้วิธีทางเขตกรรม สามารถช่วยลดการระบาดของหนอนใยผักได้ เช่น การไถพรวนดินตากแดด หรือการทำลายซากพืชอาหาร หรือการปลูกพืชหมุนเวียน ทั้งนี้เพื่อขัดขวางการขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่องของหนอนใยผัก 5. การใช้ระดับเศรษฐกิจและการสุ่มตัวอย่าง ในการพิจารณาพ่นสารฆ่าแมลงป้องกันกำจัดหนอนใยผัก ควรสำรวจตรวจนับจำนวนหนอนใยผักก่อนตัดสินใจ โดยทำการสำรวจแบบซีเควนเชียล ซึ่งเป็นวิธีการที่รวดเร็ว สะดวก และมีความแม่นยำสูง ผลการใช้ตารางสำรวจสามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ 6. การใช้สารฆ่าแมลง เนื่องจากหนอนใยผักเป็นแมลงที่สามารถสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็ว และหลายชนิด การพิจารณาเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันกำจัดหนอนใยผักไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้ สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผัก ได้แก่ สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลเฟนไพแร็ด 16% EC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% SC อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% SC อัตรา 60-80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (ควรพ่นสารสลับกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ และใช้ไม่เกิน 2-3 ครั้งต่อฤดู และใช้สลับกับการใช้เชื้อแบคทีเรียเมื่อการระบาดลดลง เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความต้านทาน)

ตกลง