ช้างน้าว
18 ต.ค. 2565
970
0
ช้างน้าว ดอกไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร
ช้างน้าว
ช้างน้าว

ช้างน้าว เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดมุกดาหาร

ซึ่งมีคำขวัญประจำจังหวัดคือ “หอแก้วสูงเสียดฟ้า ภูผาเทิบ แก่งกะเบา แปดเผ่าชนพื้นเมือง ลือเลื่องมะขามหวาน กลองโบราณล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดลำผญา ตระการตาชายโขง เชื่อมโยงอินโดจีน” แต่ละท่อนของคำขวัญมีความหมายดังนี้

ชื่ออื่น : กระแจะ กำลังช้างสาร ขมิ้นพระต้น ครุ ตาลเหลือง ช้างโน้ม ช้างโหม ตาชีบ้าง แง่ง

ชื่อสามัญ : Vietnamese Mickey Mouse Plant

ชื่อวิทยาศาตร์ : Ochna integerrima (Lour.) Merr.

ชื่อวงศ์ : Ochnnaceae

ถิ่นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย

ข้อมูลทั่วไป

ช้างน้าว ที่ไม่ใช่ช้างมีงวง มีงา ตัวใหญ่ๆ แต่เป็นช้างน้าวที่เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลแก่จังหวัดมุกดาหาร ช้างน้าวเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก พบได้ตามป่าเต็งรัง หรือป่าเบญจพรรณ ขึ้นได้ดีในที่แห้งแล้งหรือบนภูเขาที่เป็นหิน เป็นไม้ผลัดใบ เมื่อยามจะออกดอกจะทิ้งใบหมดทั้งต้นไปสักระยะหนึ่งจึงออกดอกสีเหลืองสด ดอกจะออกบานเต็มต้น สวยงามมาก

สำหรับใน สปป. ลาว และเวียดนาม ถือว่า ช้างน้าว เป็นไม้มงคลเช่นเดียวกับประเทศไทย และมีการซื้อขายกิ่งที่มีดอกตูมกัน รวมทั้งในตลาดอินโดจีนริมแม่น้ำโขง พบชาวบ้านและแม่ค้านำกิ่งช้างน้าวที่มีดอกตูม ยาวประมาณ 1 ฟุตครึ่ง มาวางขาย แต่จะเรียกกิ่งไม้ชนิดนี้ว่า “ดอกตรุษจีน” เนื่องจากออกดอกในช่วงตรุษจีนพอดี และเมื่อนำกิ่งช้างน้าวเหล่านี้มาแช่น้ำ ประมาณ 3-4 วัน ก็จะผลิดอกสวยงามจนเต็มกิ่งก้าน นอกจากใช้ประดับบ้านแล้วยังนิยมใช้ไหว้เจ้าด้วย ชาวเวียดนามจึงนิยมปลูกและนิยมใช้ปักแจกันพร้อมทั้งไหว้เจ้าด้วย เพราะมีความเชื่อว่าดอกไม้สีเหลือง เป็นดอกไม้ที่จะนำโชคและความอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเรือน จึงทำให้นิยมปลูกกันเป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากดอกมักจะบานในช่วงปีใหม่ของชาวเวียดนาม และพบว่าพืชชนิดนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับต้นมิกกี้เมาส์ จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญภาษาอังกฤษ ว่า Vietnamese Mickey Mouse plant ดอกมีกลิ่นหอมตลอดทั้งวัน และจะหอมมากในช่วงอากาศเย็น

ช้างน้าว ชื่อแปลก ดอกสวย บางคนบอกว่าชื่อแปลก ชื่อช้างน้าว ไม่เห็นมีส่วนไหนที่เกี่ยวข้องหรือเหมือนช้างเลย แต่บางท้องถิ่นเรียก ช้างโน้ม ช้างโหม หรือกำลังช้างสาร คาดเดาว่าคงเป็นสาเหตุที่เกือบทุกส่วนของต้นช้างน้าว เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการบำรุงกำลังผู้ใหญ่ และช่วยเด็กที่ผอมให้อ้วนได้ โดยใช้ได้ทั้งเดี่ยวๆ หรือเข้ายากำลังตัวอื่นๆ ดังที่มักเรียกกันติดปากว่า ช้างน้าว เสริมกำลังผู้ใหญ่ รักษาเด็กผอม บางท้องถิ่นมีการนำเปลือกของช้างน้าว ซึ่งมีลักษณะนิ่มๆ คล้ายไม้ก๊อก มาบดให้เป็นผง ซึ่งจะมีสีเหลืองเข้ม แล้วนำมาใช้ทาแก้สิว หรือทาแทนแป้ง การใช้งานลักษณะนี้น่าจะเป็นที่มาของชื่อ ตาลเหลือง กระแจะ และขมิ้นพระต้นนั่นเอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงได้ถึง 12 เมตร กิ่งก้านแผ่ขยายออก ลำต้นมักคดงอ เปลือกสีน้ำตาลเข้ม ลำต้นแตกเป็นสะเก็ดเป็นร่องลึก ตามปลายกิ่งมีกาบหุ้มตาแข็งและแหลม

ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ เป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกแกมรูปไข่กลับ กว้าง 2.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 12-17 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือเรียวแหลม พบบ้างที่ปลายมน โคนแหลมหรือมน ขอบใบจักฟันเลื่อยถี่ ผิวใบเรียบ ใบแก่เขียวหม่น เหนียวเหมือนแผ่นหนัง ช่อดอก แบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกที่ซอกใบและใกล้ปลายกิ่งที่ไม่มีใบ มักออกดอกพร้อมแตกใบใหม่ แต่ละช่อมี  4-8 ดอก กลีบดอกสีเหลืองสด เวลาบานมักมีสีเหลืองทั้งต้น ช่อยาว 3.5-6 เซนติเมตร ดอกจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3-4.5 เซนติเมตร ใบประดับขนาดเล็ก ร่วงง่าย กลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5-8 กลีบ สีเหลืองสด กลีบบอบบาง หลุดร่วงง่าย ฐานกลีบแคบ กลีบรูปไข่กลับ

ผล เป็นผลสด ค่อนข้างกลม กว้าง 8-9 มิลลิเมตร ยาว 1-1.2 เซนติเมตร สีเขียว เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีดำ ผิวมัน

เมล็ด มี 1 เมล็ด ชั้นหุ้มเมล็ดแข็งขนาดใหญ่ มีเนื้อบางๆ หุ้ม ออกดอกและเป็นผล ระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน

นิเวศวิทยา พบทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าสน ป่าชายหาด ความสูง ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงประมาณ 1,200 เมตร

สรรพคุณทางสมุนไพร

ลำต้น ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดเมื่อย แก้ปวดหลัง ปวดเอว

แก่น ต้มน้ำดื่ม แก้ประดง บำรุงร่างกาย

ต้น ต้มน้ำดื่มบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง แก้กระษัย แก้ปวดเมื่อย

ราก ขับพยาธิ แก้โรคน้ำเหลืองเสีย บำรุงกำลัง ต้มน้ำดื่มแก้ผิดสำแดง แก้ปวดหลัง แก้เบาหวาน

ผล เป็นยาบำรุงร่างกาย

เปลือกต้น เป็นยาแก้ไข้ ขับผายลม บำรุงหัวใจ

เปลือกนอก บดเป็นผง มีสีเหลืองสด ทาแก้สิวฝ้า เนื้อไม้ แก้กระษัย ดับพิษร้อน แก้โลหิตพิการ

ชาวเขาเผ่ามูเซอ ใช้รากเป็นยาบำรุงกำลัง โดยนำมาตากแห้ง หรือดองเหล้า หรือต้มน้ำดื่ม ส่วนชาวอินโดนีเซียใช้ส่วนของใบและราก เป็นยาแก้บิดและลดไข้ จากการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์พบว่า สารสกัดจากเปลือกช้างน้าวมีฤทธิ์ต่อต้านมาลาเรียได้

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ตกลง