วันนี้ (16 ม.ค.62) ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง ม.5 ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นายนิวัติ สุธิมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้แทนประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช และประมงอำเภอท่าศาลา เดินทางมาพบปะกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนวิธีคิดในการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม อันนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนตามวิถีชาวประมงพื้นบ้านและวิถีของคนในชุมชน รวมถึงผลักดันให้เกิดโครงการที่มีการร่วมมือระหว่างฝ่ายรัฐบาล ภาคเอกชน และชุมชนต่อไป
นายเจริญ โต๊ะอิแต (บังมุ) ชาวประมงพื้นบ้าน ให้ข้อมูลว่า คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ประกอบอาชีพประมง ปัจจุบันมีเรือประมงประมาณ 200 ลำ เป็นชุมชนที่ใช้เครื่องมือประมงถูกฎหมายทั้งหมด และส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างจริงจัง โดยนิยมการวางอวนปลา กุ้ง ปู เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นอ่าวเชื่อมต่อกับอ่าวปากพนัง ปากนคร ปากพะยิง ปากดวด ซึ่งติดเขต 4 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอเมือง ปากพนัง ท่าศาลา และสิชล) จึงเป็นอ่าวที่มีดินชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ทะเล แต่เมื่อประมาณปี 2538 เริ่มมีอวนลากและอวนรุนขนาดใหญ่เข้ามาทำประมงในพื้นที่ สร้างความเสียหายให้กับอ่าวท่าศาลาเป็นอย่างมาก หากจะรอให้ธรรมชาติฟื้นตัวต้องใช้เวลานานถึง 5-6 ปี เพราะหน้าดินและระบบนิเวศน์ถูกทำลาย ส่งผลให้สัตว์น้ำลดจำนวน รายได้เริ่มลดลงชาวบ้านมีหนี้สินมากขึ้น จนเป็นที่มาของ "เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา" ในปัจจุบัน เพื่อรวมกลุ่มป็นองค์กรชุมชนประมงถูกกฎหมาย สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง ภายในเครือข่ายประกอบด้วยกลุ่มองค์กรต่างๆ อาทิ กลุ่มออมทรัพย์ ร้านค้าชุมชน กองทุนเครื่องมือประมง เป็นต้น และเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งของการรวมกลุ่มของชุมชนแห่งนี้ คือการนำเงินรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อการอนุรักษ์ชายฝั่ง และมอบเป็นกองทุนพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน
นางจินดา จิตตะนัง ผู้ประสานงานสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2544 ชาวชุมชนบ้านในถุ้งร่วมกับเพื่อนชาวประมงอำเภออื่นๆ รวมตัวปิดถนนโดยลากเรือประมงปิดกั้นเส้นทางจราจร เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณืในการต่อต้านและผลักดันไม่ให้เรือคราดหอยเข้ามาในพื้นที่ และเมื่อ 2546 ได้รวมตัวเป็นกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านมุสลิมบ้านในถุ้งขึ้น จากนั้นก็ช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยด้านเศรษฐกิของชุมชนได้บ้าง จึงตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น และเมื่อปี 2552 กลุ่มได้ผลักดันให้ท้องถิ่นโดยองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ประกาศใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่อง การใช้ประโยชน์ทรัพยกรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน
จากนั้น บังมุได้นำชมกิจกรรมของธนาคารปูม้า เพื่อนำไปฟื้นฟูทรัพยากรประมงชายฝั่ง โดยชาวบ้านจะนำปูไข่ที่จับมาได้ มามอบให้ทางธนาคารปูม้าเพื่อแยกขังไว้ แล้วรอให้ปูม้าออกไข่ ทางธนาคารจะอนุบาลไว้สักระยะก่อนจะนำปูม้าไปปล่อยนอกชายฝั่ง พร้อมกับส่งคืนปูม้าให้กับผู้ที่จับมา ชาวบ้านจะเอาไปกินหรือเอาไปขายก็ตามสะดวก ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านที่นี้ร้อยละ 50 นิยมออกทะเลเพื่อนำสัตว์น้ำมาจำหน่ายด้วยตัวเอง ผ่านตลาดสดในชุมชนหรือตลอดออนไลน์โดยเฉพาะFacebook ทำให้มีรายได้ทุกวัน ทั้งนี้ บังมุได้สาธิตการใช้งานเครื่อง GPS บนเรือ เพื่อจัดทำแผนที่แหล่งสัตว์น้ำ หรือแสดงพิกัดเรือเพื่อติดตามเรือประมงที่เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือแสดงพิกัดเรือเพื่อกู้ซากเรือจากภัยพิบัติ เป็นต้น โดยได้แนวคิดมาจากเรือประมงพาณิชย์แล้วนำเครื่องมือที่มีมาประยุกต์ใช้กับเรือประมงพื้นบ้านอีกด้วย
ก่อนเดินทางไปยังจุดดูงานถัดไป นายนิวัติ สุธิมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวชื่นชมกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในถุ้งเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากเรื่องของความเข้มแข็งและความเข้มงวดในการใช้เครื่องมือประมงถูกกฏหมายแล้ว ชาวบ้านที่นี้มีการพัฒนาเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการประกอบอาชีพได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งเรื่องของการประยุกต์เครื่องติดตาม GPS บนเรือ และเครื่องของการขายสินค้าประมงออนไลน์ผ่าน Facebook นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดี น่ายกย่อง นำไปสู่การเข้ามาส่งเสริมต่อยอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง...///
Cr.สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช