เลี้ยงง่าย ต้นทุนค่าอาหารตำ สร้างรายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือน
จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในหลายจังหวัด ที่ขาดแคลนน้ำสำหรับทำการประมง จึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในการประกอบสัมมาอาชีพ การขาดแคลนน้ำมิได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพด้านประมงเพียงอย่างเดียว กลับส่งผลต่อการทำเกษตรในด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การทำนา และปลูกพืชผักต่าง ๆ จึงทำให้ผักหลายชนิดมีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อเป็นการสร้างรายได้ในระหว่างนี้ของเกษตรกรที่ต้องหยุดทำไร่ ทำนา ซึ่งทางด้านกรมประมงเองก็มีการสนับสนุนให้เลี้ยงสัตว์น้ำที่ใช้น้ำน้อย เช่น กบ และปลาดุก เป็นต้น คุณดอกรัก สุคนที ศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง ตำบลบึงคำพร้อย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เป็นอีกหนึ่งเกษตรกรที่เลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย มามากกว่า 15 ปี ไม่ว่าจะเป็นยุคที่มีน้ำเพียงพอหรือช่วงวิกฤตแล้งเกิดขึ้นกลับไม่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาของเขามากนัก และที่สำคัญเขาได้นำปลาที่เลี้ยงเองทั้งหมดมาแปรรูปสร้างมูลค่า เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ช่วยทำเงินสร้างรายได้ให้กับเขาได้เป็นอย่างดี จากเดิมเป็นพ่อค้าปลา ผันชีวิตสู่เกษตรกรเลี้ยงเอง คุณดอนรัก เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมาจับอาชีพเลี้ยงปลา ได้ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าจำหน่ายอาหารปลามาก่อน มีทั้งเป็นแบบอาหารสดและอาหารเม็ด เมื่อทำมาเรื่อย ๆ ยอดจำหน่ายยังไม่ดีเท่าที่ควร
จากนั้นประมาณ ปี 2542 จึงเริ่มลงมือทดลองเลี้ยงปลาดุกด้วยตนเอง “สมัยก่อนนี้ผมขายของตามตลาดด้วย แล้วก็มีพวกซี่โครง ไก่ ไส้ไก่ เพื่อส่งจำหน่ายให้เกษตรกรเอาไปบดเป็นอาหารปลาดุก คราวนี้เราส่งให้เขาเรื่อย ๆ กำลังซื้อเขารับไม่ไหว เราก็เลยคิดว่าแบบนี้ต้องหาทางออก คือต้องเลี้ยงเอง ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้เริ่มเลี้ยงปลาดุก” คุณดอนรัก เล่าถึงความเป็นมา หลังจากที่ได้เลี้ยงปลาดุกอย่างที่ตั้งใจ คุณดอนรัก บอกว่าการเลี้ยงประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ปลาที่เลี้ยงเจริญเติบโตดี แต่ติดอยู่ที่ว่าในช่วงนั้นเขายังไม่มีตลาดเพื่อจำหน่ายเท่าที่ควร เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาสำหรับเขา “พอปลาโตพร้อมจำหน่าย ก็ต้องหาคนมารับซื้อ กว่าเขาจะมาจับมาซื้อได้นี้เล่นตัวค่อนข้างมาก เรียกง่าย ๆ ว่าผลัดไปเรื่อย ไม่มาจับสักที แบบนี้แหละครับที่ทำให้คนเลี้ยงปลาสมัยก่อนขาดทุน เพราะว่าไม่มาจับสักที คราวนี้ราคามันก็ลงทำให้แทนที่จะได้กำไร ราคาที่จำหน่ายต่ำลงกว่าทุน ผมก็มาคิดแบบนี้ไม่ดีแน่ต้องหาวิธีการทำยังไงให้จำหน่ายได้ ผมก็เลยมาหาคิดทำวิธีแปรรูป เพื่อจำหน่ายเอง “ คุณดอกรัก เล่าถึงวิธีการแก้ปัญหา
คุณดอกรัก เล่าว่า วิชาความรู้ที่ใช้เลี้ยงปลาดุก เกิดจากการที่ได้ศึกษาจากฟาร์มที่เขาได้ไปส่งอาหารให้ว่ามีวิธีการเลี้ยงและเทคนิคอะไรบ้าง ซึ่งจากการที่ได้ไปหลากหลายสถานที่ทำให้ได้จำวิธีการที่ดี ๆ ของแต่ละฟาร์มนำมาพัฒนาปรับใช้กับการเลี้ยงของตนเอง “บ่อเลี้ยงปลาดุกของผมนี้ บ่อขนาด 1.5 ไร่ ความลึก ประมาณ 1.80 – 2.20 เมตร ปล่อยปลา ประมาณ 1 แสนตัว ลูกปลาในช่วง 5-7 วัน จะให้กินอาหารเม็ดที่มีโปรตีน ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับยาปฏิชีวนะที่ควบคุมโรคปากเปื่อยให้กิน 3 เวลา เช้า กลาง และเย็น ซึ่งถ้าใครจะให้กินไปถึง 15 วันก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม จากนั้นก็จะมาเปลี่ยนเป็นอาหารสดกับปลาดุก คุณดอกรัก บอกว่า ทำให้ประหยัดต้นทุนมาก เมื่อเทียบกับการให้อาหารเม็ดไปจนกว่าปลาจะโตได้ขนาดที่จำหน่ายได้ด้วยวิธีนี้สามารถลดต้นทุนค่าอาหารได้ประมาณกิโลกรัมละ 12 บาท ปริมาณที่ให้แตกต่างกันตามอายุของปลา โดยในช่วงเดือนที่ 1 บดอาหารให้วันละ ประมาณ 150 กิโลกรัม เดือนที่ 2 เพิ่มเป็น 350 กิโลกรัม เดือนที่ 3 เป็น 450 กิโลกรัม และเดือนที่ 4 ให้อาหารเป็น 500-700 กิโลกรัม ดูตามความเหมาะสม “อาหารที่ผมบดให้ปลากินในแต่ละวันจะมีการผสมจุลินทรีย์ลงไปด้วย คือน้ำที่เราหมักจาก อีเอ็ม (EM) กากน้ำตาลประมาณว่าเอาใส่กันถังอาหารสักหน่อยพออาหารบดลงมาเดี๋ยวก็ซึมเข้าไปเอง ผมมองว่ามันค่อนข้างมีประโยชน์เพราะเวลาที่ปลากินเข้าไป ระบบย่อยก็จะดี ไม่เจ็บป่วยง่าย ทำให้การเจริญเติบโตดี และอันนี้สำคัญมากอย่างอาหารที่ปลากินไม่หมด มันก็จะกลายเป็นของเสียที่อยู่ในบ่อ จุลินทรีย์พวกนี้ก็จะช่วยในเรื่องการบำบัดน้ำ ทำให้ของเสียไม่มี น้ำก็ไม่เหม็น มันเป็นการนำของที่เรามีกันอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ คุณดอกรัก กล่าว เมื่อผ่านไปประมาณ 4-5 เดือน ปลาดุกที่เลี้ยงทั้งหมดจะได้ขนาดไซส์ตามที่ตลาดต้องการ เมื่อถึงเวลาจับ ก็จะนำมาแยกไซส์เพื่อจำหน่ายเป็นปลาสด และแปรรูปเพิ่มมูลค่าต่อไป
การแปรรูป เป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้มูลค่าของสินค้าเพิ่มมากขึ้น
คุณดอกรัก บอกว่า จากประสบการณ์การเลี้ยงที่ผ่านมา ปลาดุกที่เลี้ยง 1 แสนตัว ต่อบ่อขนาด 1.5 ไร่ จะได้ปลาดุกที่มีน้ำหนักประมาณ 18-20 ตัน ซึ่งปลาที่เลี้ยงมีไซส์ขนาดแตกต่างกัน ประมาณ 4 ไซส์ นำมาคัดขนาดเพื่อจัดการให้เหมาะสม “ปลาดุกที่เลี้ยงจำนวนมากขนาดนี้ เรื่องแตกไซส์แตกขนาดมันมีแน่นอนอยู่แล้ว ไซส์ปลาฝอย ประมาณ 15 ตัว ต่อกิโลกรัม ไซส์ที่นำมาทำปลาเค็ม ขนาดประมาณ 6-9 ตัว ต่อกิโลกรัม ปลาที่ใช้สำหรับย่างไซส์ประมาณ 3-5 ตัว ต่อกิโลกรัม และปลาไซส์ใหญ่จัมโบ้ประมาณ 2 ตัว ต่อกิโลกรัม เราก็นำมาจัดการซะให้เหมาะสมกับชนิดของไซส์ปลา ส่งจำหน่ายและแปรรุปให้เหมาะสม” คุณดอกรัก อธิบาย คุณดอกรัก เล่าว่า ในช่วงแรกที่เลี้ยงเมื่อปี 2542 การจะจับปลาจำหน่ายในแต่ละครั้งค่อนข้างมีปัญหามาก เพราะแรงงานที่ใช้จับหายาก บวกกับปลาที่ส่งจำหน่ายบางครั้งมีปัญหาทำให้โดนตีกลับคืนมา เขาจึงมองเห็นช่องทางใหม่ในการนำมาแปรรูป ช่วงหลังจากปี 2542 ทำมาได้สักระยะ ผมก็เริ่มทำปลาส่งออกนอกด้วย ห้องเย็นเขาก็จะกำหนดไซส์มาต้องการขนาด 450-800 กรัม บางทีมีไซส์ 300-400 กรัม ติดไป เราคุมยากบางทีมันก็มีหลุดไป ก็โดนตีกลับมา คราวนี้พอจะไปจำหน่ายให้ใครมันก็ยาก เพราะว่ามันเป็นปลาแช่แข็ง ใครก็ไม่อยากซื้อ ผมก็เลยลองเอามาทำปลาดุกแดดเดียวดู สรุปคนชอบผมกับภรรยาก็ทดลองหมักให้อร่อยขึ้น ตอนนี้เป็นที่ชื่นชอบของลูกค้ามาก ราคาปลาดุกแดดเดียว คุณดอกรัก จำหน่ายอยู่ที่ กิโลกรัมละ 130 บาท ราคาในการแปรรูปมีมูลค่ามากกว่าการจำหน่ายปลาดุกสด ที่ตกอยู่ราคากิโลกรัมละ 25-30 บาท จากความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนจากความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนจากความสำเร็จของคุณดอกรักที่ผ่านอุปสรรคหลาย ๆ อย่าง นับได้ว่าเป็นเกษตรกรที่มีประสบการณ์สามารถเป็นต้นแบบให้กับผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้ จึงได้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับชาวบ้านในแถบนี้และเป็นที่ศึกษาดูงานให้กับหน่วยงานที่สนใจ ในปี 2556 จึงได้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งคุณมณเฑียร เกษตรสมบูรณ์ ประมงอำเภอหนองเสือ ผู้แทนจากสำนักงานประมงจังหวัดปทุมธานี ให้ข้อมูลว่า “สำนักงานประมง ก็ได้เข้ามาส่งเสริมหลายปีแล้ว ทางสำนักงานประมงก็ได้ตั้งให้ที่นี้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการประมง เพื่อมาศึกษาดูงาน เพราะดูแล้วน่าจะเป็นที่สนใจของหลาย ๆ หน่วยงาน ตั้งแต่จัดตั้งมาก็มีคนจากจังหวัดต่าง ๆมาดูงาน จากการที่คุณดอกรักเป็นเกษตรกรที่มีความคิดพัฒนา ก็ได้จดทะเบียนให้เป็นวิสาหกิจชุมชนเพราะที่นี้มีการผลิตแบบครบองค์รวม คือ การเลี้ยงสัตว์น้ำ ตลอดจนการแปรรูปทำให้ชาวบ้านในแถบนี้ได้มีงานทำไปด้วย นับว่าเป็นการช่วยเหลือชุมชนอย่างยั่งยืน”
“สิ่งที่สำคัญ ผมอยากจะฝากไปยังเกษตรกรที่กำลังเริ่มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอยู่ คืออยากให้ศึกษาหาความรู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาตนเอง ทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มาตรฐาน เพราะทางกรมประมงมีระเบียบการที่จัดวางไว้แล้ว ท่านก็สามารถทำตามมาตรฐานนี้ได้เลย ก็จะทำให้ผลผลิตมีมาตรฐาน รายได้ก็จะได้มากขึ้นตามไปด้วย ก็อยากจะส่งเสริมด้านนี้ครับ”
...........................................................................
เกร็ดความรู้เกษตรและสหกรณ์ จาก สนง.กษ.ปน. ออนไลน์
ที่มา : facebook ก้าวเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : www.moac.go.th
...........................................................................