เผยแพร่ |
|
ปัจจุบันทุเรียนไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศสูง โดยมีตลาดหลักที่สำคัญคือสาธารณรัฐประชาชนจีน ฮ่องกง เวียดนาม และอินโดนีเซีย แต่ตลาดที่ใหญ่ที่สุด คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ปริมาณการส่งออกทุเรียน ปี 2559 สูงถึง 402 600 ตัน มูลค่า 17 469 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดว่าผลผลิตทุเรียนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 30-40 ประกอบกับผู้บริโภคภายในประเทศมีความต้องการสูง ส่งผลให้ทุเรียนมีราคาดี จึงเป็นแรงจูงใจให้พ่อค้าที่เหมาซื้อทุเรียนยกสวนและเกษตรกรผู้ปลูกทุกเรียนเร่งตัดทุเรียนป้อนเข้าสู่ตลาด เพื่อหวังเก็งกำไรในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว โดยเกษตรกรบางรายตัดทุเรียนที่มีอายุไม่ถึงกำหนดสุกโดยเก็บเกี่ยวที่อายุ 70-80 วัน หรือความแก่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ทุเรียนเมื่อสุกจะไม่มีความหวานมันและรสชาติไม่ดี ซึ่งส่งผลกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่งในและต่างประเทศ ที่สำคัญปัญหาดังกล่าวยังทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงทุเรียนไทยและทำลายตลาดส่งออก
คุณสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเป็นการปกป้องตลาดทุเรียนไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตรร่วมกับจังหวัดจันทบุรีได้ประชุมหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ทั้งเปลือกในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด เกี่ยวกับหลักปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุ(GMP) หรือล้ง ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรได้เข้าใจในกฎระเบียบด้านต่างๆ ทั้งของไทยและประเทศคู่ค้าที่สำคัญ
“ทุเรียนในฤดูปกติค่อยๆ ออกมาค่อนข้างมาก ก็จะช่วยทำให้ปัญหาทุเรียนอ่อนค่อยๆ หายไป อันเนื่องมาจากฤดูกาลปกติของทุเรียน เพราะฉะนั้นทางเราก็จะเข้าไปดูเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งแผนในอนาคตข้างหน้าเราได้วางแผนไว้ว่า เมื่อทุเรียนทางจันทบุรีออกผลผลิตจนหมดแล้ว จะมีทุเรียนแหล่งใหญ่อีกแหล่งหนึ่งที่ภาคใต้กำลังจะออกมา เราจึงได้มีการประสานงานกับทางพื้นที่ไปตรวจในพื้นที่เกี่ยวกับการส่งออกทุเรียนคุณภาพ ทางจังหวัดชุมพร เพื่อชี้แจงการส่งออกทุเรียนไปส่งขายทางจีน โดยให้มีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น จึงถือมาตรการที่เราเตรียมวางไว้ในอนาคต” คุณสุวิทย์ กล่าว ปัจจุบันมีโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือกประมาณ 135 แห่ง ในภาคตะวันออกและภาคใต้ แบ่งเป็นโรงคัดบรรจุที่เป็นดาวเด่นประมาณ 50-60 แห่ง ในช่วงฤดูการผลิต และคาดว่าปีนี้จะมีผู้ที่เข้ามายื่นขอรับรองโรงคัดบรรจุรายใหม่อีกประมาณ 30 ราย ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรในการรับรองมาตรฐานแหล่งผลิต และการรับรองมาตรฐานโรงคัดบรรจุทุเรียนส่งออก ควบคุมให้สินค้าทุเรียนที่ส่งออกมีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับข้อกำหนดกฎระเบียบของผู้นำเข้า รวมทั้งสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการเห็นว่าสินค้าที่ผลิตภายใต้โรงคัดบรรจุของตัวเองต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
“กรมวิชาการเกษตรได้เพิ่มความเข้มงวด ในการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตทุเรียนในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อน โดยมี 3 ภารกิจ คือ 1.สุ่มตัวอย่างตรวจสอบผลผลิตทุเรียนในโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ของกรมวิชาการเกษตรก่อนส่งออก 2.ให้บริการตรวจวัดคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรที่ขอนำทุเรียนจากสวนของตนเองมาตรวจวัดคุณภาพหาเปอร์เซ็นต์แป้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนที่จะตัดทุเรียนส่งจำหน่าย และ 3.สุ่มตรวจสอบทุเรียนที่ผู้ค้าปลีกซื้อไปจำหน่ายภายในประเทศ หากพบว่าเป็นทุเรียนอ่อนจะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ขายผลผลิตให้ผู้ค้าปลีก โดยเจ้าหน้าที่ สวพ.6 จะตรวจวัดน้ำหนักแห้งเพื่อนำผลการตรวจสอบไปประกอบในการดำเนินคดีด้วย” คุณสุวิทย์ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะส่งทุเรียนไปยังตลาดต่างประเทศ จะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตรอย่างเคร่งครัดจึงจะสามารถส่งออกทุเรียนได้ โดยจะต้องควบคุมการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพและความปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนด กฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะเรื่องการใช้สารเคมีต่างๆ ในการกำจัดแมลงและสารกันเชื้อราไม่เกินค่าที่กำหนด และหากใช้สีผสมอาหาร(สีสังเคราะห์และสีธรรมชาติ) กับผักผลไม้สด ซึ่งประเทศผู้นำเข้า เช่น ฮ่องกงมีกฎระเบียบห้ามใช้ขมิ้น(Turmeric/Curcumin) ในผลไม้สด (ตามกฎระเบียบ Coloring Matter in Food Regulation (Cap 132H)) สาธารณรัฐประชาชนจีน(GB 2763-2014) และมาตรฐาน Codex (Codex STAN 192-1995) ไม่มีบทบัญญัติการอนุญาตใช้ขมิ้น และห้ามใช้สีผสมอาหารในผักผลไม้สด และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๓๘๑) พ.ศ.๑๕๕๙ เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ ๔) ห้ามใช้สีผสมอาหารในผักผลไม้สดเช่นกัน การใช้ขมิ้นชุบทุเรียน หากปฏิบัติไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานประเทศผู้นำเข้าก็ไม่สามารถอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนได้ และขอความร่วมมือให้ล้งทุกแห่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบทุเรียนอ่อนซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 โดยเจตนาถือว่ามีความผิดตามมาตรา 271 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50 000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.........................................................................
ข่าวเกษตรและสหกรณ์ทั่วไทย จาก สนง.กษ.ปน. ออนไลน์
ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ : www.moac.go.th
.......................................................................