ปลูกเลี้ยงบอนสี สร้างรายได้ ตลาดยังไปได้ดี ขายทั้งในและต่างประเทศ
26 ส.ค. 2564
4,728
0
ปลูกเลี้ยงบอนสี สร้างรายได้ ตลาดยังไปได้ดี ขายทั้งในและต่างประเทศ

ปลูกเลี้ยงบอนสี สร้างรายได้ ตลาดยังไปได้ดี ขายทั้งในและต่างประเทศ

 

บอนสี เป็นไม้ประดับที่มีความสวยงาม โดยเฉพาะรูปร่างและสีสันของใบ จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งไม้ใบ” มีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกาใต้ และประเทศในเขตร้อน บอนสีเป็นไม้ล้มลุกที่มีหัวสะสมอาหารอยู่ใต้ดินคล้ายหัวเผือก หัวมัน รากของบอนสีจะมีลักษณะเป็นเส้นฝอย แทงออกระหว่างหัวกับลำต้น

จากการขยายสายพันธุ์ใหม่ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีการจัดตั้งสมาคมบอนสีแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์ และพัฒนาการปลูกเลี้ยง รวมถึงการจดทะเบียนชื่อบอนสีที่ได้รับการผสมพันธุ์ขึ้นมาใหม่ จากความสามารถของคนไทย ทำให้การปลูกเลี้ยงและผสมพันธุ์ของบอนสีไม่เป็นที่ยุ่งยาก หรือเกินความสามารถของผู้ที่สนใจ รวมถึงเกษตรกรผู้ยึดเป็นอาชีพ เหมือนดังเช่นเกษตรกรรายนี้ คือ คุณพิเชษฐ สุดธูป อยู่บ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ 6 ตำบลทวีวัฒนา อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี

คุณพิเชษฐ เล่าว่า ผู้ที่ริเริ่มปลูกบอนสีคนแรกในครอบครัว คือ คุณพ่อ ซึ่งสมัยนั้นคุณพ่อของคุณพิเชษฐมีความสนใจในบอนสีมาก เรียกได้ว่ามีการประกวดที่ไหน จะปลูกเลี้ยงบอนสีจนสวยเพื่อส่งเข้าประกวดทุกเวที จึงทำให้คุณพิเชษฐได้เรียนรู้ และรับเทคนิคต่างๆ จากคุณพ่อ เมื่อเวลาผ่านไปนานวัน จากที่ปลูกและดูแลตามคุณพ่อ ทำให้คุณพิเชษฐเกิดความรักที่อยากจะทำบอนสีด้วยตนเอง

“สมัยนั้นผมเรียนหนังสืออยู่ ก็จะเห็นพ่อผมไปประกวด หาไม้จากที่ต่างๆ มา ผมก็เลยช่วยพ่อทำ ทำให้ผมได้เรียนรู้จากพ่อ และใจผมก็เริ่มชอบ เพราะเรามีไม้เข้าประกวดเยอะ ก็เลยเห็นช่องทาง ว่าเมื่อผมโตขึ้น อาจทำเป็นธุรกิจได้ แต่ช่วงนั้นผมก็ยังไม่ได้มาทำเต็มตัว หลังเรียนจบ ยังไปทำงานบริษัทอยู่ แต่พอทำงานบริษัทไป มันรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ก็เลยออกจากงาน มาทำด้านนี้เต็มตัว” คุณพิเชษฐ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงบอนสี

เมื่อลาออกจากงานบริษัท คุณพิเชษฐ จึงเริ่มปลูกบอนสีด้วยตนเอง เป็นอาชีพหลัก เมื่อประมาณ ปี 2546 ซึ่งก่อนหน้านั้นทำเป็นเพียงอาชีพเสริม

ช่วงแรกของการทำสวน จะหาซื้อบอนสีจากคนที่รู้จักและจากตลาดที่มีการขายบอนสี บวกกับเอาของเก่าที่ตนเองมีมาผสมพัฒนาพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ใหม่ๆ มากขึ้น

มนเสน่ห์แห่งไม้ใบ

 ช่วงแรกเลี้ยงบอนสีให้เจริญเติบโตจนมีหัว คล้ายกับหัวเผือก หัวมัน เมื่อบอนสีมีหัวได้ขนาดเท่าที่ต้องการ ใช้เวลาเลี้ยง ประมาณ 5-6 เดือน จึงนำหัวบอนสีมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำมาผ่าเป็นชิ้นๆ แล้วชำในกระบะทราย ใช้เวลาในการชำ ประมาณ 1 เดือน

หัวบอนสีที่ผ่าเป็นชิ้นๆ เพื่อปลูกขยายเพิ่มจำนวน
หัวบอนสีที่ผ่าเป็นชิ้นๆ เพื่อปลูกขยายเพิ่มจำนวน

เมื่อบอนสีงอกและแทงใบออกมา นำต้นกล้ามาปลูกใส่กระถาง ขนาด 4 นิ้ว วัสดุที่ใช้ปลูกคือ ใบก้ามปูผสมกับดิน ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 จากนั้นนำมาวางในตู้อบพลาสติก ขนาด 1.30×3 เมตร ด้านบนของโรงเรือนพรางแสงด้วยซาแรน 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนครึ่ง ก็สามารถขายเป็นไม้ตลาดได้

โดยบอนสีระยะนี้จะเติบโตมีขนาดสูง ประมาณ 1 คืบ หากไม่ขายในระยะนี้ จะนำไปเปลี่ยนปลูกลงในกระถาง 6 นิ้ว ต่อไป ใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน ก็สามารถขายเป็นไม้ใหญ่ ที่มีทรงต้น ทรงใบที่สวยเต็มที่ ลูกค้าสามารถดูสีของใบได้เมื่อเทียบกับไม้ที่มีขนาดเล็ก

บอนสีที่งอก อายุประมาณ 1 เดือน
บอนสีที่งอก อายุประมาณ 1 เดือน

การให้น้ำ จะดูตามสภาพอากาศ ถ้าอากาศร้อนจัดบอนสีจะดูดน้ำมาก ที่ก้นของกระถางควรมีจานรองเพื่อให้น้ำขังอยู่ตลอด โดยดูจากการยุบของน้ำ สำหรับคนที่มีบอนสีปลูกอยู่ที่บ้าน คุณพิเชษฐ แนะนำว่า ควรมีจานรองน้ำให้ขังอยู่ตลอดเวลา เพราะจะทำให้บอนสีเจริญเติบโตได้ดี

การดูแลบอนสีของคุณพิเชษฐ ทุกกระถางไม่เน้นการใส่ปุ๋ยเคมี จะเน้นการเปลี่ยนดินใบก้ามปูเป็นหลัก แต่สำหรับใครที่หาใบก้ามปูลำบาก คุณพิเชษฐ แนะนำว่า อาจจะมีการใส่ปุ๋ยละลายช้า (ออสโมโค้ท) ได้บ้างเพียงเล็กน้อย

ตู้อบ สำหรับใส่บอนสี
ตู้อบ สำหรับใส่บอนสี

“ถ้าเป็นที่สวน ส่วนมากจะไม่ได้ใช้นะปุ๋ย แต่ถ้าใครปลูกที่บ้าน ก็ใส่ปุ๋ยละลายช้าได้นิดหน่อย แต่ที่สวนจะไม่ใช้ ไม่ต้องไปเร่งการโตมาก จะให้โตแบบธรรมชาติ คือใช้ใบก้ามปู เพราะสารอาหารน่าจะครบแล้ว ฟอร์มของใบจะดีกว่า ถ้าใส่ปุ๋ยเวลาที่ลูกค้าซื้อไป มันก็จะไม่ค่อยดี หลังจากที่ซื้อไปได้สัก 3 เดือน จะทำให้ไม้ทรุดโทรม สำหรับใครที่มีไม้อยู่ที่บ้าน แล้วต้นโตไม่ค่อยดี แนะนำว่าเปลี่ยนดินใหม่ดีกว่า โดยหาใบก้ามปูแท้ๆ ทำให้ไม้ได้รับธาตุอาหารใหม่ๆ ด้วย ซึ่งใบก้ามปูอาจจะซื้อตามร้านก็ได้ หรือเรามีแหล่งก็ไปหาเก็บเอามาไว้เอง อย่าให้มีอย่างอื่นผสมเยอะ” คุณพิเชษฐ อธิบายถึงขั้นตอนการเพิ่มธาตุอาหารให้กับบอนสี

ด้านแมลงศัตรูพืช คุณพิเชษฐ เล่าว่า จะไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องนี้ เพราะบอนสีอยู่ในตู้อบ ทำให้ไม่มีการเข้าทำลายของแมลง แต่ถ้านำบอนสีออกมาไว้ข้างนอกเพื่อทดลอง ดูการทนต่อสภาพแวดล้อม อาจมีการเข้าทำลายของหนอนแก้วในช่วงปลายฝนต้นหนาว ป้องกันด้วยการพ่นยา ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง

bon-7

การผสมพันธุ์บอนสีควรพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะจะสามารถทำให้ที่สวนมีจุดขาย โดยเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่นๆ มาผสมเข้าด้วยกัน การผสมด้วยดอกจะทำให้ได้ลักษณะใบมีสีสันใหม่ๆ มากขึ้น จากนั้นปล่อยให้เมล็ดแก่แล้วนำมาเพาะ เพื่อดูว่าเมื่อเจริญเติบโตแล้ว มีลักษณะเด่นที่ดีไหม มีความแตกต่างไปจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์อย่างไร จากนั้นอาจจะขายแบบไม่ตั้งชื่อใหม่ก็ได้ แต่ถ้าพันธุ์ใหม่มีความเป็นเอกลักษณ์ แตกต่างไปจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เดิม จึงนำไปตั้งชื่อจดทะเบียนกับทางสมาคม โดยชื่อที่ตั้งต้องไม่ซ้ำกับชื่อเดิมที่มีอยู่

ตลาดยังไปได้ดี เพราะใบมีหลากหลายสีสัน

การขายบอนสี ตลาดส่วนใหญ่จะมาจากการที่นำบอนสีเข้าประกวด ซึ่งสมัยก่อนติดตามคุณพ่อเป็นประจำ และช่วงที่มาทำเป็นธุรกิจของตนเอง ก็ส่งเข้าประกวดเหมือนกัน จึงมีคนที่เข้าชมการประกวดได้รู้จักคุณพิเชษฐมากขึ้น และเขายังเปิดร้านขายอยู่ที่ตลาดบิ๊กการ์เด้นท์ บางใหญ่ นนทบุรี ทำให้สามารถขายได้ง่ายขึ้น โดยจะขายทั้งราคาปลีกและส่ง

บอนสีของขวัญ
บอนสีของขวัญ

ราคาบอนสี อยู่ที่ราคาตั้งแต่ 35 บาทขึ้นไป จนถึงหลัก 1,000 บาท ต่อกระถาง โดยคุณพิเชษฐให้คำอธิบายว่า บอนสีที่มีราคาสูงๆ เป็นเพราะจำนวนอาจจะมีน้อย บวกกับการเป็นสายพันธุ์ที่หายาก และเป็นพันธุ์ที่ผสมขึ้นมาใหม่ จึงทำให้มีราคาค่อนข้างแพง ส่วนที่ราคาถูกๆ อาจจะเป็นที่นิยมของตลาดนานแล้ว สามารถขยายพันธุ์ได้เยอะ ตลาดส่วนใหญ่จะนิยมที่มีใบสีแดง สีสดสวยงาม เช่น บอนสีใบป้าย บอนสีดารานพรัตน์ และบอนสีของขวัญ

“ไม้ที่ส่งออกนอกนี่ เขาจะมียอดออเดอร์มาให้เรา ว่าต้องการกี่พันหัว หัวขนาดเท่าไหร่ ขนาดกี่เซนติเมตร จะเอาตั้งแต่ 5 เซนติเมตร หรือ 1 นิ้ว เขาจะระบุขนาดมา เราก็ทำให้เขา ประเทศที่ส่งขายส่วนใหญ่ก็จะเป็น อเมริกา ยุโรป อินโดฯ ฟิลิปปินส์ ก็ไม่เน้นอะไรมาก แต่ขอให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ” คุณพิเชษฐ เล่าถึงขั้นตอนการปลูกเพื่อส่งออก

เมื่อเอ่ยถามว่า เพราะอะไรที่ทำให้บอนสีของคุณพิเชษฐ ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด และขอให้ช่วยแนะนำสำหรับคนที่สนใจจะมาปลูกบอนสีเพื่อสร้างรายได้ คุณพิเชษฐ ตอบด้วยความยินดี พร้อมกับครุ่นคิดเล็กน้อย นึกถึงประสบการณ์จากการเลี้ยงบอนสีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า

บอนสีเจ้าหญิง
บอนสีเจ้าหญิง

“เพราะเราสามารถ ทำตามจำนวนให้ลูกค้าได้ ลูกค้าสั่งมาปุบ ก็ผลิตให้ได้ บางทีเขาไม่ได้สั่งมา มาเอาที่สวนเลย เราก็มีของให้เขา คือของไม่ขาดตลาด เรามีความซื่อสัตย์ ความจริงใจกับลูกค้า แล้วก็สำหรับคนที่สนใจ คือเราต้องชอบก่อน ใจเราต้องรัก เราจะเลี้ยงบอนสี ใจเราต้องรักบอนสี ต้องเข้าใจมัน แล้วก็ทุกอย่างมันจะตามมาเอง ซึ่งการเลี้ยงการดูแล ถ้าคุณรักเนี่ย มันจะเลี้ยงได้สวยได้งาม ส่วนเรื่องการตลาด หรือรายได้ที่จะได้มา ถ้าใจรักแล้วทำไปเรื่อยๆ รายได้พวกนี้มันจะเข้ามาโดยอัติโนมัติ อย่างผมตอนแรกนี่ ไม่ได้คิดจะทำการค้าแบบนี้ แต่เพราะเราชอบ เลยทำให้มีทุกอย่างเข้ามาเอง จนทุกวันนี้” คุณพิเชษฐ กล่าวด้วยรอยยิ้ม ถึงความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง

การประกอบสัมมาอาชีพในสาขาเกษตรนั้น บางครั้งการทำเพราะคิดว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ต้องการของตลาด หรือคิดว่าทำแล้วน่าจะขายได้กำไรดี ซึ่งการคิดในทำนองนี้ อาจทำให้ผลผลิตออกมาได้ไม่ค่อยดี ไม่มีคุณภาพ เพราะไม่ได้ทำด้วยใจรัก แต่หากทำด้วยใจรัก และขณะที่ทำมีความสุข เชื่อได้เลยว่าผลของสิ่งนั้นมันจะออกมาดี เกินกว่าที่เราจะคาดคิดเหมือนกับคุณพิเชษฐ

สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพิเชษฐ สุดธูป ที่ตลาดบิ๊กการ์เด้นท์ บางใหญ่ นนทบุรี หมายเลขโทรศัพท์ (082) 348-6373, (085) 193-7147

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2559

ตกลง