แนะ 3 เทคนิค ทำให้เกิดดอกเห็ดตับเต่าอย่างง่าย
30 มิ.ย. 2565
20,341
0
แนะ 3 เทคนิค ทำให้เกิดดอกเห็ดตับเต่าอย่างง่าย

แนะ 3 เทคนิค ทำให้เกิดดอกเห็ดตับเต่าอย่างง่าย

Facebook
Twitter
Google+
LINE

คุณพุฒินันท์ พันธุ์เครือ หนึ่งในเกษตรกรคนเก่งที่พัฒนาเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดตับเต่าจากประสบการณ์โดยตรง จนสามารถพัฒนาเชื้อเห็ดเพื่อการพาณิชย์ คุณพุฒินันท์ กล่าวว่า การเพาะเห็ดตับเต่า สามารถทำได้ไม่ยากเลย แค่จัดสร้างสภาพแวดล้อมง่ายๆ ด้วยการจัดให้มีพืชอาศัยของเห็ดแล้วใส่เชื้อเห็ดลงไปที่โคนต้น จากนั้นใส่ดินและสารอินทรีย์กลบเชื้อ คอยรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ในเวลาไม่นานเชื้อเห็ดก็จะเจริญงอกงามสร้างเส้นใยไปทั่วรากไม้ที่มันอิงอาศัยอยู่

เทคนิคสำคัญที่ทำให้เกิดดอกเห็ดคือ ต้องบำรุงพืชให้มีรากมาก เพื่อหาอาหารได้เยอะๆ ด้วยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเป็นอาหารของเห็ดและพืช พร้อมทั้งรดน้ำให้มีความชุ่มชื้นมากๆ ซึ่งเป็นลักษณะการสร้างสภาพแวดล้อมเทียมหลอกเห็ดให้เหมือนกับว่ามันกำลังเติบโตในธรรมชาตินั่นเอง

ad

โดยธรรมชาตินั้น ช่วงเวลาที่สภาวะอากาศแห้งแล้ง เป็นระยะที่พืชสะสมอาหาร เมื่อเกิดฝนตกใหญ่หรือรดน้ำให้ผืนดินชุ่มชื้น เชื้อเห็ดจะเริ่มงอกงาม เกษตรกรเคยทดลองวิธีนี้ในสวนลำไย ที่อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ปรากฏว่า ประสบผลสำเร็จ ทำให้เกิดเห็ดตับเต่านอกฤดูมาแล้ว ส่วนที่จังหวัดปทุมธานีและสุพรรณบุรีก็สามารถเพาะเห็ดกับสวนมะกอกน้ำได้อย่างดี

คุณพุฒินันท์ แนะนำว่า หากสวนผลไม้ของใครมีต้นมะไฟมาก ก็มีโอกาสที่จะเพาะเชื้อเห็ดได้ง่ายเช่นกัน แม้ว่าไม้บางต้นยังไม่มีเห็ดมาก่อน เพราะไม่มีเชื้อเลย ก็สามารถพัฒนาให้เกิดเห็ดในอนาคตได้ โดยการนำเชื้อเห็ดใส่ลงไปที่โคนต้น โดยจะใช้เชื้อเห็ดต่อไร่ ประมาณ 50 บาท

ส่วนรายละเอียดของการเพาะเชื้อเห็ดนั้นมีหลายสูตรด้วยกัน ขออนุญาตนำสูตรของ คุณพุฒินันท์ พันธุ์เครือ มาเล่าพอสังเขป ดังนี้

1. การเพาะเชื้อจากดินสวนเก่า

ให้เก็บกวาดเอาดินผิวดิน ซึ่งจะได้เศษราก ปลายรากขนอ่อน ที่มีเชื้อราเห็ดตับเต่าติดอยู่แล้วหลุดติดมาด้วย เอาเชื้อเหล่านี้ใส่ลงไปในถุงเพาะต้นกล้า ทำให้พืชได้รับเชื้อตั้งแต่อยู่ในถุงเพาะ เมื่อเอามะกอกน้ำไปปลูกก็จะมีเชื้อติดอยู่กับรากนี้ไปตลอดชีวิตของต้นไม้

สำหรับท่านที่มีสวนอยู่แล้วแต่ไม่มีเชื้อเห็ด ให้เอาดินผิวดินจากสวนอื่นที่มีเชื้ออยู่มาใส่ในบริเวณรอบๆ โคนต้น หรือหว่านกระจายบริเวณใต้พุ่มแล้วหว่านทับด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เศษพืช ใช้ใบไม้หญ้าแห้งต่างๆ คลุมทับแล้วรดน้ำให้ชุ่มชื้น เชื้อเห็ดจะเจริญไปกับรากพืชได้ ลักษณะของเชื้อเห็ดแบบนี้เป็นเชื้อที่มาอาศัยอยู่กับต้นไม้ตลอดไป

หากเพาะเมล็ดไปพร้อมกับดินเชื้อเห็ด ไมคอร์ไรซ่าจะเจริญเติบโตไปกับรากไม้อย่างรวดเร็ว เพราะการทำงานของเส้นใยเห็ดมีประโยชน์อย่างมาก โดยปล่อยน้ำย่อยไปละลายแร่ธาตุในดินให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย เพราะแร่ธาตุบางอย่างละลายยาก เท่ากับเชื้อราเห็ดได้เอื้อต่อการเจริญของต้นไม้และยังอุ้มไอน้ำในดินให้ชุ่มชื้น ส่งผลต่อการแผ่ขยายรากพืชด้วย ทำให้พืชทนแล้งได้ดียิ่งขึ้น

หากสวนใดมีเห็ดตับเต่าออกมาให้เก็บรับประทานแล้ว ควรเหลือดอกเห็ดบางส่วนเก็บเป็นเชื้อไว้ โดยปล่อยให้ดอกเห็ดบานเต็มที่ ช่วงนี้เห็ดจะปล่อยสปอร์ร่วงหล่นที่พื้นดินเป็นจำนวนมาก เมื่อนำเอาดินบริเวณผิวดินมาใช้ก็จะได้ทั้งเชื้อที่เติบโตมาจากรากเดิมและเชื้อจากสปอร์ด้วย วิธีนี้จะช่วยขยายพันธุ์เชื้อเห็ดได้ผลดียิ่งขึ้น

ด้วยวิธีนี้เชื้อไมคอร์ไรซ่าจะเจริญได้รวดเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่จำเป็นต้องใช้ปริมาณดินผิวดินมากนักก็ได้ อาจใช้เพียง 1 ช้อนชาต่อถุง เพาะเมล็ดพันธุ์พืช 1 ถุงก็พอ เมื่อรดน้ำให้ชุ่มชื้นแล้ว เชื้อเห็ดจะลงลึกไปถึงรากได้เอง

2. ใช้เชื้อเห็ดบนวุ้น เอามาตัดแปะราก

นำดอกเห็ดตับเต่ามาปลูกเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือนำดอกอ่อนมาตัดเนื้อเยื่อโดยไม่ให้มีสิ่งอื่นปะปน แล้วนำมาเลี้ยงบนอาหารวุ้นจนเติบโต จากนั้นเอามาแปะไว้กับรากต้นไม้ที่ล้างสะอาดแล้ว ก่อนใส่ลงในถุงเพาะชำแล้วเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 1-2 เดือน หากสังเกตดูว่าต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี จากนั้นค่อยนำไปปลูก โดยกล้าไม้ที่เพาะเชื้อวิธีนี้จะมีเชื้อเห็ดติดอยู่แน่นอน สำหรับการขยายพันธุ์นั้น ในฤดูดอกเห็ด แนะนำให้ตัดดอกเห็ดออกเป็นแผ่นบางๆ แล้วแปะไว้กับรากที่ทำความสะอาดแล้วแบบเดียวกับขั้นตอนแรก

คุณพุฒินันท์ เคยเห็นตัวอย่างจากวิดีโอของประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดทรัฟเฟิล โดยผู้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะขุดเอาเห็ดทรัฟเฟิลมาจากสวนป่า นำมาทำความสะอาดแล้วแยกเชื้อ โดยกรรมวิธีตัดเนื้อเยื่อไม่ให้มีเชื้ออื่นปะปน เอามาเลี้ยงอยู่บนอาหารวุ้น

เมื่อเชื้อเห็ดเจริญดีแล้วก็นำต้นกล้าไม้ 3 อย่าง มาล้างรากให้สะอาดจนเห็นรากชัดเจน นำอาหารวุ้นมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เห็นเส้นใยเห็ดติดอยู่ด้วย เอามาแปะติดกับรากที่ล้างแล้ว ปิดด้วยปลาสเตอร์ชนิดมีรูพรุนให้อากาศผ่านได้

จากนั้นนำกล้าไม้ใส่ถุงหรือกระถางเพาะ โดยใส่ปุ๋ยละลายช้าและอินทรียวัตถุ แล้วรดน้ำ ในวิดีโอมีการเปรียบเทียบรากให้ดูว่าหลังจากเชื้อเห็ดในอาหารวุ้นติดแน่นกับรากไม้แล้ว รากที่มีเชื้อมีลักษณะคล้ำและหนาขึ้น เมื่อแข็งแรงดีแล้วจึงนำต้นกล้าที่มีเชื้อไปปลูกในสวนป่า หลังจากนั้นอีก 3 ปี ก็สามารถพบเห็ดทรัฟเฟิลได้

3. การทำเชื้อเห็ดให้เป็นลักษณะเหมือนขี้เลื่อย หรือปุ๋ยหมักที่มีเชื้อเห็ดเจริญอยู่

ใช้วิธีแยกเชื้อบริสุทธิ์ แล้วเอาเชื้อบริสุทธิ์นี้เลี้ยงให้เป็นเชื้อสต๊อกอยู่บนอาหารวุ้น เหมือนกับวิธีการเลี้ยงเชื้อเห็ดทั่วไป คือเขี่ยเชื้อเห็ดตับเต่าใส่ลงไปที่ผิวหน้าอาหารในขวดแบน ใส่อาหาร 1/4 แล้ววางแบบตะแคงขวด ปล่อยให้เชื้อเจริญเติบโตอยู่ในอาหารเหลว

เมื่อเส้นใยเจริญเติบโตดีแล้ว เวลาจะใช้งานก็ใช้ขี้เลื่อยหรือปุ๋ยหมักแล้วเทอาหารเหลวที่มีเส้นใยกระจายให้ทั่ว เอาไปเพาะลงในกระถางต้นไม้ แล้วกลบด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ รดน้ำให้ชุ่ม เชื้อจะเจริญลงไปอาศัยอยู่กับรากได้เช่นกัน

หลังจากเพาะเชื้อได้เองแล้ว คุณพุฒินันท์แนะนำให้คอยตรวจสอบสภาพดินด้วยว่ามีค่าความเป็นกรด-ด่าง ที่เหมาะสมหรือไม่ อาจใช้เครื่องมือวัดหรือเก็บตัวอย่างดินมาทดสอบ โดยใช้ดินลึก 1 คืบ ถ้าค่า พีเอช 6.5-7 ถือว่าเหมาะสมอยู่แล้ว ไม่ต้องใส่ปูนเกษตร แต่ค่า พีเอช ต่ำกว่า 7.5 ถือเป็นดินเปรี้ยว ยิ่งค่าต่ำมาก ยิ่งเปรี้ยวมาก การใส่ปูนเกษตรจะทำให้ได้ผลดีขึ้น สามารถทำได้โดยค่อยๆ ใส่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย จะทำให้เส้นใยเห็ดเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ผลผลิตเห็ดก็จะมากขึ้น ต้นไม้ก็จะเจริญเติบโตดีด้วย นอกจากนั้น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทับลงไปบนกองใบไม้ใต้ต้นโดยไม่ต้องเก็บกวาดใบทิ้ง จะช่วยให้เห็ดเจริญเติบโตได้ดีในปริมาณที่มากกว่าใต้ต้นไม้ที่โล่งเตียน

 
 
 
 
 
 
 
 
 

สำหรับดินบางแห่งเก็บอุ้มน้ำได้ไม่ดีนัก เช่น ดินทราย ดินปนทราย แต่เห็ดต้องการความชื้นสูง ดังนั้น การใช้โพลีเมอร์จะช่วยอุ้มน้ำได้ดีมาก เมื่อใช้โพลีเมอร์จะขยายตัวอุ้มน้ำ ประมาณ 200 เท่า โดยอาจใช้โพลีเมอร์ช่วยเก็บความชื้นหลังจากฝนตกหรือหลังรดน้ำ ทำให้ไม่ต้องรดน้ำมากหรือบ่อยครั้ง

ส่วนดินเหนียวหรือดินที่แน่นเกินไป อุ้มน้ำมากและนานเกินไป ทำให้อากาศที่อยู่ในเนื้อดินน้อยลง จะไม่เหมาะกับเห็ดตับเต่าที่ชอบออกซิเจนมากๆ การใช้สารดินร่วนหรือสารละลายดินดาน พืชบดหยาบชิ้นเล็กๆ หรืออาจใส่วัสดุชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น แกลบ ขี้ไก่ หว่านกระจายบางๆ ที่ผิวหน้าดิน บางส่วนก็จะแทรกลงดิน ทำให้ดินร่วนซุยขึ้น

กรณีที่ต้องการให้เกิดความชื้น ไม่อยากให้น้ำระเหยออกมากเกินไป อาจใช้พลาสติกขนาดใหญ่ คลุมทับในระหว่างที่ดอกเห็ดกำลังเริ่มเจริญเติบโต ก็จะทำให้มีความชุ่มชื้นอย่างเพียงพอ เส้นใยของเห็ดก็จะส่งผ่านขึ้นมาเป็นดอกเห็ดที่ใหญ่ขึ้น เทคนิคต่างๆ เหล่านี้สามารถทดลองด้วยตัวเองได้อีกหลายแนวทาง ภายใต้กฎของไมคอร์ไรซ่า ที่จะต้องเติบโตใช้ประโยชน์ร่วมกันกับรากไม้บางชนิดในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งความชื้นและอินทรียวัตถุ ขอให้สนุกกับความท้าทายในการสร้างสวนเห็ดตับเต่ากันทุกคนนะคะ

สูตรอาหารวุ้นเลี้ยงเห็ดตับเต่า

น้ำ 1,000 ซีซี
มันฝรั่ง 200 กรัม
น้ำตาลเดกซ์โทรส 20 กรัม
ภูไมท์ซัลเฟต 20 กรัม
วุ้น 15 กรัม
วิตามินบี 1 ขององค์การเภสัช 1 เม็ด

สูตรนี้เตรียมเหมือนอาหารวุ้น พีดีเอ ทั่วไป เมื่อนำมาทดลองเลี้ยงเห็ดไมคอร์ไรซ่าทั้งหลาย เช่น เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า พบว่ามีอัตราการเจริญเติบโตดีมาก เมื่อดัดแปลงสูตรไม่ใส่วุ้น แต่ใช้ต้มเมล็ดข้าวฟ่างเพื่อเลี้ยงเชื้อบนเมล็ดข้าวฟ่างแทน ก็สามารถทำให้เชื้อเต็มขวดภายใน 3 สัปดาห์

……………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 
ตกลง