ส้มควันไม้ เป็นของเหลวได้จากจากกระบวนการเผาถ่าน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในได้การเกษตรได้หลากหลาย แต่น้ำส้มควันไม้จะมีส่วนประกอบของน้ำมันทาร์(น้ำมันดิน)ที่เป็นพิษต่อพืชและมีความเป็นกรดสูง ซึ่งตรงส่วนนี้เองที่นำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดหญ้าวัชพืช ระหว่างแถวช่องว่างของยางพารา ไม้ผล หรอื ไม้ยืนต้นอื่นๆ ทดแทนการใช้สารเคมี โดยประสบการณ์การนำผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำส้มควันไม้มาใช้ในการปราบวัชพืชนั้นเป็นผลที่ผ่านการทดลองแล้วว่าได้ผลดี จากคุณแพง พวงราช เกษตรกรผู้ปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน ต.ผักไหม อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ซึ่งพบว่า หลังใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นหญ้าวัชพืชแล้ว หญ้าวัชพืชจะตายภายใน 15-20 วัน
โดยนายแพง พวงราช เกษตรกรผู้ปลูกพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน และเป็นเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ที่ ต.ผักไหม อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์
ได้ให้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด เกี่ยวกับวิธีการใช้น้ำส้มควันไม้ให้เกิดประโยชน์ทางด้านการเกษตรไว้ว่า "น้ำส้มควันไม้ เป็นผลิตผลที่ได้จากการเผาถ่าน โดยการกลั่นเอาควันไฟที่อยู่ในกระบวนการเผาถ่านด้วยวิธีการควบแน่น (ควันไฟกลั่นตัวออกมาในรูปแบบของเหลว) ที่เรารู้จักกันดีคือ "น้ำส้มควันไม้" ซึ่งน้ำส้มควันไม้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้หลากหลายทั้งด้านการทำนา การปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์ แต่ก็ยังเป็นโทษด้วยเช่นกัน หากผู้ใช้นำไปใช้ไม่ถูกวิธีการ เนื่องจากน้ำส้มควันไม้ที่กลั่นออกมานั้นจะมีส่วนประกอบของสารหลายชนิดและน้ำมันทาร์(น้ำมันดิน)ที่เป็นพิษต่อพืช จึงได้นำเอาความ
เป็นพิษดังกล่าวมาลองใช้ประโยชน์ด้วยการกำจัดหญ้าวัชพืชในสวนยางพารา ซึ่งให้ผลดีเป็นที่พอใจ"วิธีการก็คือ : นำเอาน้ำส้มควันไม้ที่ผลิตได้ ไปกรองเอาเฉพาะน้ำโดยไม่ต้องทำให้ตกตะกอน แล้วนำน้ำส้มควันไม้ที่กรองได้ ไปฉีดพ่นที่หญ้าวัชพืชให้เปียกชุ่มโดยไม่ต้องนำไปผสมน้ำ แต่ควรระมัดระวังไม่ให้ฉีดพ่นถูกต้นยางพารา เนื่องจากน้ำส้มควันไม้ที่ผลิตได้นี้มีความเป็นกรดสูง อีกทั้งน้ำมันทาร์(น้ำมันดิน) ที่ยังไม่ได้แยกออกในขั้นตอนตกตะกอน(เกิดจากการเผาถ่าน)จะไปช่วยปิดกั้นระบบการดูดซึมธาตุอาหารและการสังเคราะห์แสงของหญ้าวัชพืช ทำให้หญ้าวัชพืชในสวนยางแห้งตายได้ภายใน 15-20 วัน โดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช อีกทั้งยังไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยางพารา ไม้ผล ไม้ยืนต้นอื่นๆ ด้วยการผลิตน้ำส้มควันไม้อย่างง่าย :
1. นำถัง 200 ลิตร มาเจาะที่ก้นถังให้ได้ขนาดพอดีกับขนาดของลำไม้ไผ่ที่พอจะหาได้ ส่วนด้านบนถังให้เจาะไว้เพื่อให้เป็นฝาที่สามารถเปิด-ปิดได้
2. นำลำไม้ไผ่ที่ได้ ขนาดความยาวประมาณ 2 เมตร มาเจาะปล้องให้ทะลุถึงกันทั้งหมด แล้วเจาะรูด้านข้างปล้องไว้ขนาด 1 นิ้ว ให้ห่างจากปลายปล้อง ประมาณ 60 ซม.
3. วางถัง 200 ลิตร ไว้ตามแนวนอน นำดินไปถมไว้ที่ด้านข้างเพื่อไม่ให้ถังเคลื่อนที่ได้ ทำการเชื่อมต่อลำไม้ไผ่กับรูถังที่เจาะไว้ทางด้านหลังด้วยดินเหนียวเพื่ออุดรอยต่อแล้วนำดินไปถมให้มิดชิด ตั้งลำไม้ไผ่ให้เป็นมุมเอียงประมาณ 45 องศา ให้รูที่เจาะไว้หันลงไปด้านล่าง
4. นำกิ่งไม้แห้งเข้าไปเผาภายในถัง 200 ลิตรที่เตรียมไว้ ปิดฝาถังด้านหน้าให้มิดชิด ปล่อยให้ไม้ที่อยู่ด้านในเผาไหม้ โดยสังเกตควันไฟจะเริ่มเปลี่ยนจากสีขาวขุ่นเป็นสีน้ำตาลแล้วให้นำผ้าชุบน้ำเปียกๆไปปิดไว้ที่ปากปล่องไม้ไผ่เพื่อให้ควันไฟที่ลอยออกมาเกิดการควบแน่นย้อนกลับกลายเป็นไอและหยดน้ำจะไหลออกมาตามรูที่เราเจาะไว้ เรียกว่าน้ำส้มควันไม้ ให้นำภาชนะมารองไว้เพื่อนำไปใช้งานต่อไป
เรียบเรียงโดย : อภัย นามเพ็ง เจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.อุบลราชธานี.
แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
แพง พวงราช. สัมภาษณ์, 8 กันยายน 2558.