“ปลานวลจันทร์” เลี้ยงง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ
17 ก.ย. 2563
3,818
0
“ปลานวลจันทร์” เลี้ยงง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ
“ปลานวลจันทร์” เลี้ยงง่าย ใช้ต้นทุนต่ำ

“ปลานวลจันทร์” หรือ “ปลานวลจันทร์ทะเล” ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นปลาชนิดเดียวกัน หากแต่เลี้ยงและเติบโตในสภาพน้ำที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะเป็นปลาที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็ม น้ำกร่อย รวมทั้งน้ำจืดด้วย ทำให้มีชื่อเรียกที่ต่างกันนั่นเอง ลักษณะทั่วไปของปลาชนิดนี้ มีรูปร่างเพรียวยาว เกล็ดเล็กละเอียดสีเงินแวววาว ครีบหางเว้าลึก ส่วนครีบท้องและครีบหลังเล็ก มีความปราดเปรียวว่องไว ตกใจง่าย โดยทั่วไปสามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลแถบอบอุ่นทั่วโลก ซึ่งมักอยู่รวมกันเป็นฝูง กินอาหารจำพวกพืช สาหร่ายทะเล แพลงตอน และสัตว์ชนิดเล็ก ๆ เมื่อโตเต็มวัย มีความยาวประมาณ 1.5-2 เมตร หรือมีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม ในประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน เวียดนามและไต้หวัน นิยมเลี้ยงปลานวลจันทร์กันในเชิงพาณิชย์ สำหรับประเทศไทยถือว่าเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง

ทั้งนี้ ไทยพบลูกปลานวลจันทร์ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2495 บริเวณชายฝั่งทะเลบ้านคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยนายรบ นิลคูหา ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากนั้นได้นำมาเลี้ยงไว้ในบ่อดิน จำนวน 129 ตัว ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถานีประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์หรือที่เรียกกันว่า สถานีปลานวลจันทร์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดย ดร.เชาเวนลิงก์, นายจินดา เทียมเมธ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นคณะบดีคณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในขณะนั้น และนายรบ นิลคูหาที่มีความเห็นตรงกันในการที่จะสร้างสถานีไว้สำหรับรวบรวมลูกพันธุ์ปลานวลจันทร์เพื่อทดลองและส่งเสริมการเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลในเชิงพาณิชย์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จมาประทับที่พระตำนักวังไกลกังวล พระองค์ได้เสด็จประพาสที่สถานีประมงประจวบคีรีขันธ์และรับฟังการบรรยายเรื่องปลานวลจันทร์ จึงเกิดความสนพระทัยและใช้ราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อปลานวลจันทร์ทะเลไปปล่อยที่อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำแห่งแรกของกรมชลประทาน ที่ตำบลหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ให้ข้อมูลว่า พ.ศ. 2540 มีโอกาสได้ไปเข้าเฝ้าถวายงาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ วังไกลกังวล มีช่วงหนึ่งพระองค์ท่านได้รับสั่งถามถึงเรื่องปลานวลจันทร์ทะเลว่าไปถึงไหนแล้ว ซึ่งพวกเราได้เห็นถึงพระราชหฤทัยของพระองค์ และพระองค์ยังทรงมีความจำเป็นเลิศ ทำให้ตอนนั้นเราต้องกลับมารื้อฟื้นทำเรื่องปลานวลจันทร์กันอย่างขะมักเขม้น

“ก่อนหน้านั้นทิ้งช่วงไป เนื่องจากปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลาที่มีก้างค่อนข้างมาก ทำให้ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคเท่าที่ควร อีกทั้งในช่วงเวลานั้นก็มีปลาทะเลชนิดอื่น ๆ ที่มีคุณภาพดีกว่า ทำให้การทำงาน การศึกษาวิจัยต่าง ๆ มุ่งไปที่ปลาชนิดอื่นมากกว่า รวมทั้งสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ อย่าง ปลิงทะเล หอยเป๋าฮื้อ หอยเม้น ม้าน้ำด้วย”  นายธเนศบอกว่า เมื่อในหลวงตรัสถามเราจึงกลับมาทำเรื่องปลานวลจันทร์กันอย่างจริงจังและทำด้วยความตั้งใจ ตั้งแต่นั้นมาก็ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ด้วยการฉีดฮอร์โมน และได้มีการพัฒนาในเรื่องของการถอดก้าง เนื่องจากปลานวลจันทร์ทะเลเป็นปลาก้างค่อนข้างมาก ทางกรมประมงจึงได้ส่งคนไปศึกษาวิธีการถอดก้างที่ประเทศฟิลิปปินส์เพราะมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ จากนั้นได้นำเนื้อปลามาทำอาหารในเมนูต่าง ๆ รวมถึงทำการแปรรูปอาหาร ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลานวลจันทร์ทะเลที่สำคัญ ทำให้เกษตรกรผู้ที่สนใจได้ลูกปลานวลจันทร์ที่มีคุณภาพไปเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้และอาชีพตามพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสนองต่อแนวทางในพระราชดำริของพระองค์ท่านเรื่อยมา”

การเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเล

ด้านคุณศุภกานต์ ชัยโชติรานันท์ นักวิชาการประมงปฏิบัติการ ให้ข้อมูลว่า การเลี้ยงปลานวลจันทร์สำหรับเป็นพ่อแม่พันธุ์ ทางศูนย์ได้เลี้ยงไว้ในบ่อปูน มีเทคนิคในการเลี้ยงคือปล่อยให้ปลาสืบพันธุ์วางไข่ตามธรรมชาติ ซึ่งในช่วงก่อนที่จะถึงฤดูสืบพันธุ์คือช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์ ศูนย์ฯ จะเริ่มลดประมาณอาหารให้ปลากินน้อยลงจาก 2 มื้อ คือช่วงเช้ากับเย็นให้เหลือแค่มื้อเดียว เพราะไม่ต้องการให้ไข่ปลามีไขมันสะสมมาก แต่ถ้าในช่วงนอกฤดูจะให้อาหารปกติ คือ 1 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว เสริมด้วยวิตามินซีกับวิตามินอี ซึ่งจะช่วยในเรื่องของระบบสืบพันธุ์ การสร้างไข่ แล้วก็เติมน้ำมันปลาหมึกและกรดไขมันที่จำเป็น ที่จะทำให้ปลาสามารถสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้โดยใส่ลงไปในอาหาร

“สำหรับวิตามินที่เสริมเข้าไปจะเป็นน้ำโดยใช้การพรม จากนั้นนำไปผึ่งลมห้ามผึ่งแดดเพราะจะทำให้วิตามินจะสลาย แล้วนำมาให้ปลากินสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง พอถึงช่วงที่ปลาสืบพันธุ์วางไข่ จะต้องเตรียมถุงเก็บไข่ไว้ในบ่อ โดยปลานวลจันทร์จะวางไข่หลังเที่ยงคืนจนถึงเช้ามืด ซึ่งถุงที่ใช้เป็นถุงไนลอนครอบไว้ตรงปากท่อลม พอช่วงเช้ามาดูที่ถุงถ้ามีไข่ทางศูนย์ฯ จะเก็บไข่ไปอนุบาลในโรงเพราะ วันหนึ่งเก็บไข่ปลานวลจันทร์ได้มากสุด 200,000 ฟองเลยทีเดียว ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้ถุงกรองไข่ปลาแทนการลากอวนกรองไข่ปลานั้น เพราะปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ว่ายน้ำเร็ว หากนำอวนไปลากอาจทำให้ปลาว่ายหนีชนขอบบ่อเกิดบาดแผล ทำให้ปลาติดเชื้อโรคได้” คุณศุภกานต์บอกว่า หากเกษตรกรจะเลี้ยงเป็นปลาเนื้อเพื่อจำหน่าย ไม่แนะนำให้เลี้ยงในบ่อปูนเพราะปลานวลจันทร์จะเจริญเติบโตช้า แนะนำให้เลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่า สามารถเลี้ยงร่วมกับกุ้งได้ เพราะเป็นปลาที่กินพืช กินสาหร่าย และสารอินทรีย์ที่อยู่ในบ่อดิน เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย อยู่ได้ในน้ำจืดโดยไม่จำเป็นต้องเลี้ยงในน้ำกร่อยหรือน้ำเค็ม ที่สำคัญใช้เงินทุนไม่มาก ลูกปลานวลจันทร์ตัวหนึ่งจำหน่ายอยู่ในราคา ตัวละ 1.20 บาท เท่านั้น

ที่สำคัญมีอัตราการรอดสูง ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ หากเลี้ยงในบ่อดินขนาด 1 ไร่ สารมารถเลี้ยงปลานวลจันทร์ได้ราว 3,000-5,000 ตัว แต่ก่อนที่จะลงเลี้ยงลูกปลาจะต้องทำอาหารธรรมชาติก่อน คือ อาจจะใช้เป็นมูลไก่ วัว หรือเศษฟางข้าว นำไปใส่ไว้ในบ่อ เพื่อให้เกิดแพลงตอนพืชและสาหร่าย เมื่อนำลูกปลาไปลง ลูกปลาก็จะได้กินอาหารในธรรมชาติ เมื่อปลาโตได้ 3 เดือน จึงปรับอาหารให้เป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับปลากินพืชต่อไป อาจจะใช้เป็นอาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงปลาตะเพียนก็ได้ โดย 1 กระสอบราคาอยู่ที่ประมาณ 200 บาท ส่วนระยะเวลาในการเลี้ยงปลานวลจันทร์จะใช้เวลาเลี้ยงราว 8 เดือน ถึง 1 ปี ระหว่างการเลี้ยงปลานั้นควรมีการตรวจคุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากน้ำในบ่อเลี้ยงมีค่าแอมโมเนียสูงหรือน้ำมีสีเขียวจัดควรมีการถ่ายน้ำทิ้งและเติมน้ำใหม่เข้ามาในบ่อ

สำหรับวิธีการจับปลานวลจันทร์ขึ้นจากบ่อจะใช้อวนลากมารวมกันแล้วทำการคัดขนาดตัวปลา หากขนาดน้ำหนักตัวต่ำกว่า 6 ขีด จะปล่อยเลี้ยงต่อจนกว่าจะได้ขนาดประมาณ 1 กิโลกรัม เนื่องจากเป็นช่วงที่เหมาะสมในการจับปลานวลจันทร์เพื่อจำหน่ายสำหรับบริโภคและนำแปรรูป เพราะจะได้ที่เนื้อที่มีความมัน แต่ยังคงความนุ่ม เนื้อไม่เหลว ที่สำคัญมีความแน่นและหนึบ รสชาติดี ส่วนราคาจะขายตามขนาด โดยขนาดเล็ก 5-6 ขีด อยู่ที่ตัวละประมาณ 55 บาท หากโตขึ้นมาหน่อย 7-9 ขีด ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดนิยมรับซื้อกัน ราคาจะอยู่ที่ตัวละ 75-80 บาท การจับจะค่อย ๆ ทยอยจับตามความต้องการของตลาดหรือผู้รับซื้อ ไม่ใช่การคว่ำบ่อ ทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังลดความเสี่ยงเรื่องของราคาจากปัญหาสินค้าล้นตลาดด้วย

ปัจจุบันปลานวลจันทร์ทะเลเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น ถือว่าได้รับความนิยมแม้ว่าจะยังไม่แพร่หลายทั่วประเทศ หลายจังหวัดทางใต้ ทั้งพังงา ภูเก็ต ฯลฯ ก็เริ่มมีการเลี้ยงมากขึ้น ส่วนที่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำจืดและมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดแล้วราคาตกต่ำ ก็ได้นำปลานวลจันทร์เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรได้เลี้ยงกัน ซึ่งมีทั้งเลี้ยงเพื่อบริโภคกันเอง เลี้ยงในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งมีการแปรรูปเป็นปลานวลจันทร์ถอดก้าง ทำปลาแดดเดียว ปลากระป๋อง ปลาเค็ม ลูกชิ้นปลาและอีกหลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่าอีกด้วย

“ได้ไปที่ประจวบคีรีขันธ์ ที่คลองวาฬ ซึ่งมีสถานีประมงที่คลองวาฬ เขาเลี้ยงปลาที่เป็นปลาทะเล เรียกว่า ปลานวลจันทร์ทะเล เขาจับปลานวลจันทร์เล็ก ๆ ซึ่งอยู่ในทะเลเอามาขายและสำหรับเลี้ยงในบ่อ ซึ่งถ้าเลี้ยงในบ่อ น้ำมันจืด ปลานวลจันทร์ทะเลนั้นก็เติบโตได้ เป็นอันว่าจะเป็นอาชีพสำหรับชาวบ้าน ไปซื้อมา เขาไม่ได้ซื้อ เราซื้อให้ ไปซื้อเอามาปล่อยในอ่างเก็บน้ำ และเมื่อปล่อยแล้วมันก็เติบโตดี ปีหนึ่งมันเติบโตมาขายได้เป็นเงิน เป็นหลายแสน แต่ว่าชาวบ้านก็ไม่ค่อยสนใจจึงเลิก ปลานวลจันทร์ทะเลมันไม่เติบโต มันไม่แพร่พันธุ์ในบ่อ ในอ่าง มันจะแพร่พันธุ์ได้แต่ในทะเล แต่ยังไงก็จับได้และค้าขายได้ ซึ่งถ้าสมมติว่า ไปซื้อมาแล้วมาปล่อยแล้วก็ดูแล ถึงเวลาก็ขาย ก็เป็นอาชีพที่ดี”  พระราชดำรัสตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรดา วันอังคารที่ 4 ธันวาคม 2544

 

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดปราจีนบุรี
ตกลง