ผู้เขียน |
สุรเดช สดคมขำ |
เผยแพร่ |
|
ปลานิล เป็นปลาน้ำจืด ที่มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย โดยในพื้นที่เลี้ยงต้องมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ก็สามารถเลี้ยงได้อย่างไม่มีปัญหา นอกจากน้ำที่สำคัญแล้ว การเลือกหาซื้อลูกพันธุ์ต้องคำนึงด้วยเช่นกัน ถ้าได้ลูกพันธุ์ปลาดีมีคุณภาพมาเลี้ยงควบคู่ไปกับน้ำที่ดี อาหารดี การจัดการดี จะช่วยส่งเสริมให้ปลาเจริญเติบโต เป็นปลาที่มีมาตรฐาน สามารถจำหน่ายได้ราคาตามไปด้วย
ปัจจุบัน การทำประมง หรืออาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำ นิยมนำมาทำเป็นอาชีพเสริมรายได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องมีการดูแลตลอดทั้งวัน โดยผู้เลี้ยงสามารถทำอาชีพหลักอย่างอื่นไปพร้อมกันได้ อย่างเช่น คุณอมฤต สำรวย อยู่บ้านเลขที่ 165 หมู่ที่ 8 ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ยึดการเลี้ยงปลานิลในบ่อดินเป็นอาชีพเสริม พร้อมทั้งมีการเลี้ยงแบบลดต้นทุน ทำให้เกิดผลกำไรมากขึ้นจากการเลี้ยงปลานิลจนประสบผลสำเร็จ อันเกิดจากวิธีที่เขาลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง
คุณอมฤต เล่าให้ฟังว่า เห็นการเลี้ยงปลานิลมาตั้งแต่จำความได้ ตอนอายุ 5 ขวบ เพราะครอบครัวคือคุณพ่อเริ่มเลี้ยงมานานแล้ว ในช่วงนั้นเขาเองก็เรียนหนังสือในสาขาวิชาช่างกล ตามที่ตนเองสนใจ และไปประกอบอาชีพในสาขาที่ตนเองจบมา เมื่อมีโอกาสต้องการประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากงานประจำ จึงได้มาศึกษาการเลี้ยงปลานิลจากครอบครัว พร้อมทั้งปรับสูตรการเลี้ยงลองผิดลองถูกจากการสังเกตการเลี้ยงของคุณพ่อ ทำให้การเลี้ยงของเขามีการประหยัดต้นทุนมากขึ้น สร้างผลกำไรเกินคาดหมายอย่างที่เขาตั้งใจไว้
“ประมาณปี 2558 ผมเริ่มมาเลี้ยงปลานิลเพื่อทำเป็นอาชีพเสริม ช่วงนั้นคิดว่าเรามีความรู้มากพอ ก็ลงมือทำทันที ช่วงนั้นมีโรคระบาดในปลานิลพอดี ทำให้เงินทุนที่ลงไปไม่ได้กลับคืนมาเลย ทีนี้เราก็ตั้งหลักใหม่ หาข้อมูลเพิ่มมากขึ้น เอาประสบการณ์จากความล้มเหลวมาเป็นแรงใจในการสู้ต่อไป ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จ มีผลกำไรจากการเลี้ยงดี จึงขยับขยายการเลี้ยงมาเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้สามารถเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมรายได้ที่ดี ทำบ่อเลี้ยงประมาณ 4 บ่อ เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน บนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่” คุณอมฤต เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพเสริม
สำหรับแหล่งซื้อลูกพันธุ์ปลานิลมาเลี้ยงภายในบ่อเลี้ยงนั้น คุณอมฤต บอกว่า จะหาซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้มาเลี้ยง โดยในขั้นตอนแรกจะนำลูกปลานิลไซซ์ใบมะขามมาอนุบาลในบ่อดินก่อน จากนั้นเตรียมบ่อสำหรับเลี้ยงให้มีความพร้อม โดยถ้าเห็นว่าพื้นบ่อมีความสกปรกก็จะวิดน้ำออกให้แห้ง ตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน พร้อมกับเอาลูกปลาอื่นๆ ที่ตกค้างออกจากบ่อให้หมด จากนั้นใส่น้ำเข้าไปในบ่อเลี้ยงทันที
ลูกปลานิลที่ผ่านการอนุบาลนั้นจะเลี้ยงในบ่อประมาณ 4-6 เดือน อัตราส่วนที่ปล่อยอนุบาล อยู่ที่ 10,000 ตัว ต่อไร่ โดยอาหารที่ให้กินในระยะอนุบาลจะเป็นอาหารหมูที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 12 ให้กินวันละ 1 กิโลกรัม วันละ 1 มื้อ จนครบ 4 เดือน ลูกปลานิลที่อนุบาลก็จะมีน้ำหนักอยู่ที่ 6-7 ตัว ต่อกิโลกรัม จากนั้นก็จะนำปลานิลที่อนุบาลจนได้อายุครบแล้ว มาปล่อยในบ่อเลี้ยงที่เตรียมไว้ในอัตราส่วน 800-1,200 ตัว ต่อไร่
“ระยะที่เลี้ยงสร้างเป็นปลาเนื้อนั้น ก็จะเลี้ยงด้วยอาหารหมูที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 12 เหมือนเดิมวันละ 1 กิโลกรัม เมื่อเลี้ยงไปได้สักระยะ เวลาที่เราเดินผ่านบ่อแล้วปลานิลพยายามว่ายน้ำตามเรามาอยู่ตลอด ช่วงนี้ก็จะทำให้เรารู้ว่าต้องเปลี่ยนอาหารทันที เป็นอาหารปลาดุกที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนอยู่ที่ 25 โดยให้กินวันละ 5 กิโลกรัม ต่อบ่อปลาขนาด 1 ไร่ประมาณ 800 -1,200 ตัว ต่อบ่อ” คุณอมฤต บอก
นอกจากนี้ ยังมีการตีน้ำภายในบ่อเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้กับปลานิลอีกด้วย โดยใช้วิธีการตีน้ำเข้าหาที่แคบไปยังบริเวณพื้นที่ให้อาหาร เพราะในช่วงเช้าปลาจะมาว่ายน้ำอยู่บริเวณพื้นที่ให้อาหาร ก็จะทำให้ปลานิลได้รับออกซิเจนที่เกิดจากการตีน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับปลานิลภายในบ่อ จะดูตามอาการที่เกิดขึ้น หากไม่ร้ายแรงมากก็จะผสมจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ไปกับอาหารให้ปลานิลกิน แต่หากมีการจัดการสภาพแวดล้อมภายในบ่อได้ดี ปลานิลที่เลี้ยงยังไม่มีเกิดโรคร้ายแรงจนทำให้เกิดความเสียหายตั้งแต่เลี้ยงมาจนถึงทุกวันนี้
ซึ่งปลานิลที่เลี้ยงสร้างเป็นปลาเนื้อ คุณอมฤต บอกว่า ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4 เดือน ปลานิลจะมีขนาดไซซ์อยู่ที่ 1.3 กิโลกรัม ต่อตัว ตลาดส่วนใหญ่จะมีพ่อค้าเข้ามาติดต่อซื้อถึงบ่อเพื่อรับซื้อเป็นปลาที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยที่เขาไม่ต้องจับปลาไปส่งจำหน่ายเองยังแพปลาใกล้คียงเหมือนสมัยรุ่นคุณพ่อทำ แต่สามารถตกลงซื้อขายกันที่ฟาร์มปลาและรับเป็นเงินสดได้ทันทีที่บ่อเลี้ยงของเขาเอง
“พอเราตกลงเรื่องราคากันได้ พ่อค้าเขาก็จะมีทีมคนงานมาจับปลาในบ่อเราทั้งหมด โดยที่เราไม่ต้องจับเอง ปลานิลที่ปล่อยเลี้ยงตั้งแต่ระยะอนุบาลจนถึงเป็นปลาเนื้อเวลาเลี้ยงทั้งหมด 7-8 เดือน ขนาดบ่อ 1 ไร่ ปล่อยเลี้ยง 800-1,200 ตัว น้ำหนักปลานิลที่ได้จะอยู่ที่ประมาณ 1 ตัน ราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 36-38 บาท ถ้าช่วงไหนที่ราคาสูงขึ้นก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 50-55 บาท” คุณอมฤต บอก
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะเลี้ยงปลานิลเพื่อสร้างรายได้ คุณอมฤต บอกว่า ต้องสำรวจที่ดินของตนเองก่อนว่ามีแหล่งน้ำที่เพียงพอต่อการเลี้ยงปลานิลหรือไม่ เมื่อที่ดินพร้อมในหลายๆ ด้าน จึงค่อยมาศึกษาการเลี้ยง เมื่อประสบผลสำเร็จแล้วจึงนำผลกำไรมาขยายการเลี้ยงออกไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดรายได้ไม่ยาก