ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น การทำมาหากิน
30 เม.ย. 2563
2,514
0
ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น การทำมาหากิน
ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น การทำมาหากิน

ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น เป็นองค์ความรู้ที่ได้รับการสั่งสม ถ่ายทอดและพัฒนามาจากประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถของชาวบ้านจากอดีตกาลมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง และในธรรมชาติมาก่อให้เกิดประโยชน์ในการดำรงชีวิตในแนวทางที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชาวบ้าน 
      ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่นในท้องที่จังหวัดมหาสารคามส่วนมากก็เป็น วัฒนธรรมที่แพร่กระจายไปทั่วภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น ที่เกี่ยวกับเครื่องผ่อนแรง และเรื่องมือที่ให้ประโยชน์ใช้สอยประเทืองภูมิปัญญาอื่น ๆ 
1. การทำมาหากิน 
      ขอเสนอภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่นของชาวชนบทในท้องถิ่น เกี่ยวกับการทำมาหากินเพียง 4 เรื่อง คือ ไถแอก ครกไม้ ครกกระเดื่อง และ เครื่องมือก่อไฟในยามยาก 
1.1 ไถแอก 

      ไถเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการทำนาในสมัยโบราณเพื่อการแยกดินให้แตก ไถประกอบด้วยคันไถ บางแห่งเรียกคันชัก (ฮากไถ) คือส่วนโค้งงอนสำหรับเสียบเข้ากับเดือยหางยาม (หางไถ) ตอนปลายของคันไถทำเป็นรูปดอกบัวตูม เจาะรูเพื่อร้อยเชือก หรือบางแห่งใช้เสียบเดือย เพื่อเกี่ยวเชือกโยงมาขากแอกสำหรับให้ควายลากหางยามหรือหางไถเป็นส่วนที่เข้าเดือยกับคันไถ ส่วนปลายโค้งลงจนหางจับได้แนวราบเพื่อให้จับได้ถนัด หัวหมู (พะเนียงไถ หรือใบไถ) คือส่วนไถที่วางติดพื้น ด้านท้ายของหัวหมูมีช่องสำหรับเสียบโคนหางยามให้ติดแน่น ห้านบนของหัวหมูถางและแต่งให้ลาดเอียงออกทางขวาเพื่อให้ขี้ไถพลิก ส่วนปลายสอบลงสำหรับเสียบผาล (หมากสบไถ) 
      แอกเป็นอุปกรณ์ประกอบไถมี 2 ชนิด ชนิดใหญ่เรียกตะโกกหรือตะโหงก บางแห่งเรียก คอม ภาษาอีสานเรียกแอกใหญ่ เป็นไม้โค้งสำหรับวางพาดคอควาย ปลายทั้งสองข้างมีเชือกขนาดใหญ่ (เชือกค่าว) ผูกโยงไปด้านหลัง เพื่อเชื่อมกับแอกชนิดที่สองซึ่งมีขนาดเล็กและตรง ปลายทั้งสองข้างผูกกับเชือกที่โยงจากแอกใหญ่ ตรงกลางมีเชือกสั้น ๆ ผูกโยงเข้ากับคันไถ 
1.2 ครกไม้ หรือครกมือ 

      เป็นครกตำข้าวที่ประดิษฐ์ขึ้นเลียนแบบครกตำน้ำพริกในครัวเรือน แต่มีขนาดโตกว่า 5-6 เท่า ความสูงประมาณ 1 เมตร หรือ 1 เมตรครึ่ง สากที่ใช้ตำมีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 2 เมตรใช้ตำได้ทั้ง 2 ข้าง ตรงกึ่งกลางสากไม้จะคอดเล็กเหมาะมือ ชาวภาคกลางเรียกสากของครกไม้นี้ว่า ตะลุมพุก 
      ผู้สูงอายุหลายท่านยืนยันว่าในท้องที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีคนใช้ครกไม้มาก่อนที่จะมีครกกระเดื่อง ชาวอีสานเรียกครกไม้ดังกล่าวนี้ว่า ครกมือ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2542 คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏมหาสารคาม ได้จัดกิจกรรมการแข่งขันการตำข้าวด้วยครกไม้ เป็นที่สนใจของผู้มาร่วมงานครั้งนี้อย่างมาก เมื่อตำข้าวเสร็จจะตักออกมาฝัดคัดแกลบและรำออก โดยอาศัยแรงลม กระบวนการตำข้าวด้วยครกไม้ และกระบวนการฝัดข้าวด้วยกระด้ง นับได้ว่าเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ให้ประโยชน์ใช้สอยอย่างคุ้มค่า คุ้มเวลา 
1.3 ครกกระเดื่อง 

      เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้วแทบทุกครัวเรือนของชาวชนบทจังหวัดมหาสารคามมีครกกระเดื่องใช้ตำข้าว กะเทาะเปลือกข้าวออกเป็นข้าวสาร โดยทั่วไปเราเรียกครกกระเดื่องว่าครกมอง ครกกระเดื่องใช้หลักการของอาคิเมดิสนักปราชญ์ชาวกรีกโบราณเขาเคยกล่าวไว้ว่า “…ถ้าหาที่ให้ฉันยืนอยู่นอกโลกหาจุดฟัลครัมให้ฉัน สักแห่งหนึ่ง ฉันจะใช้คานงัดโลกทั้งโลกให้ลอยขึ้น ” 
      ชาวเมืองมหาสารคามสมัยก่อนคิดสร้างครกกระเดื่องขึ้นมาเพื่อตำข้าว อุปกรณ์สำคัญของครกกระเดื่อง คือ ครก แม่มอง สากตำข้าว เสาแอวมอง (แทนฟัลครัม) เป็นต้น ครก ใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้สะแบง (ไม้ยางกราด ไม้พะยอม ไม้จิก ไม้เต็ง) เป็นต้น คนโบราณเขาห้ามใช้ไม้ประดู่มาทำครก หรือทำสากตำข้าวเพราะกลิ่นและยางไม้ประดู่จะปนเปื้อนข้าวสาร แม้นึ่งสุกแล้วกลิ่นก็ยังตกค้างเหลืออยู่และอาจทำให้ข้าวเหลืองไม่น่ารับประทาน ครกตำข้าวส่วนมากจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ปากครกฟุตครึ่งหรือสองฟุต ก้นครกจะสอบลงไปลึกประมาณฟุตครึ่ง-สองฟุต หรือกว่านั้นเล็กน้อย ปรกติตัวครกจะหนา 3-5 นิ้ว เพื่อให้มีความทนทานเมื่อถูกแรงตำกระแทก ฐานครกจะฝังลึกลงไปในดินประมาณ 3-5 นิ้ว เพื่อให้ครกตั้งมั่นคง ไม่สั่นคลอน 
แม่มอง 
ทำเลียนแบบจากคานงัด ใช้ซุงมาตัดหัวท้าย ความยาวประมาณ 5-6 เมตร หรือกว่านั้นเล็กน้อย ใช้โคนซุงเป็นหัวแม่มอง และใช้ปลายซุงเป็นหางแม่มอง หรือหางมอง คนสมัยก่อนใช้ ไม้ตุมตัง (พญายา) เป็นไม้แม่มอง ไม้ตุมตังมีหนามเป็นตุ่มรอบลำต้น ช่างทำครกมองจะเกลาผิวแม่มองให้เรียบ แล้วจึงใช้สิ่วเจาะหัวมองเป็นรูสี่เหลี่ยมตามแนวตั้งสำหรับสอดสากตำข้าว และเจาะรูสี่เหลี่ยมตำแหน่ง แอวมอง ตามแนวนอนสำหรับสอดเพลา อันเป็นจุดฟัลครัม ชาวบ้านทั่วไปเรียกเพลาว่า โคยมอง หรือบางแห่งเรียกไม้แอวมอง เพลาดังกล่าวนี้ทำด้วย ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ซาด (เหียง) เป็นต้น ไม้เพลาที่เสียบทะลุ แอวมอง ทั้งสองข้างจะไปฝังในรู หรือช่องปากหลวม ๆ ของเสาแอวมองที่ฝังแนบแม่มองทั้ง 2 ต้น เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนระยะแอวมองไปถึงหัวมองและระยะแอวมองไปหาหางมองไม่เท่ากัน กล่าวคือ 3 ส่วน อยู่ทางหัวมอง และอีก 2 ส่วน อยู่หางมอง คนเหยียบหางมองไม่ต้องออกแรงมากจนเกินไป นับว่าเป็นความชาญฉลาดของคนโบราณ 
สากตำข้าว 
เป็นอุปกรณ์ประกอบครกกระเดื่องที่สำคัญมาก ตามปรกติสากตำข้าวจะมีอยู่ 3 ชนิอ ขนาดเล็กเรียกว่า สากตำ หรือบางแห่งเรียก สากย่าวใช้ตำในยกแรก ขนาดกลางเรียกว่า สากต่าว ใช้ตำในยกที่ 2 และขนาดใหญ่เรียกว่า สากซ้อม ตามปรกติสากตำข้าวแต่ละชนิดเขาจะใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้พะยุง ไม้ตะเคียน เป็นต้น บางแห่งก็ใช้ไม้ยาง ไม้กระบก ไม้กระบาก และไม้สะแกแก่ ๆ เพราะหาได้ง่ายกว่า ห้ามใช้ไม้ประดู่ 
      อุปกรณ์ของครกกระเดื่องที่สำคัญอีกสองอย่างคือ ลิ่มหัวมองใช้ตอกบังคับกันสากตำข้าวหลุด และต้นเสาที่ฝังไว้ข้าง ๆ หางมอง เพื่อให้คนตำขัาวจับยึดประคองตัวกันหกล้ม และดึงเพื่อให้มีแรงกดหางมองได้อย่างเต็มที่ 
      การตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง ตามปรกติมักช่วยกัน 2-3 คน เวลาตำให้คนหนึ่งเหยียบที่ปลายหางมอง ที่เหลือเหยียบด้านข้างถัดเข้ามาและหันหน้าเข้าหากัน จะได้เบาแรง ส่วนผู้หญิงทำหน้าที่ฝัดข้าว คัดแกลบและรำออกจากข้าวสารด้วยแรงลม นับว่าเป็นความชาญฉลาดของ ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างหนึ่ง ถ้ามีเมล็ดข้าวหักมีปลายข้าวมากเขาก็จะใช้วิธีกระทกกระด้ง ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ไซ้ข้าว ให้ปลายข้าวมาจับกลุ่มรวมกันที่ขอบกระด้ง และสามารถฝัดลงบนพื้นเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้านได้ 
      เมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว สมัยที่ยังไม่มีโรงสีข้าว ชาวบ้านจะตื่นขึ้นมาตำข้าวด้วยครกกระเดื่องตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา เป็นการออกกำลังกายที่ได้งานด้วย 
1.4 เครื่องมือก่อไฟในยามยาก 

      สมัยปัจจุบัน ถ้าคนในครอบครัวที่มีฐานะดีใช้ชีวิตแบบใหม่ จะต้มน้ำชงกาแฟ สักหน่อย คงไม่นึกลำบากใจที่จะต้องก่อไฟติดเตาให้เสียเวลา เพียงแค่เสียบปลั๊กกระติกต้มน้ำหรือเปิดเตาแก๊สตั้งกาน้ำ นั่งคอยไม่กี่อึดใจ ก็จะได้น้ำร้อนตามต้องการซึ่งไม่ยากเลย 
      แต่ถ้าเป็นชาวบ้านที่ไม่มีเครื่องใช้ทันสมัยอย่างที่กล่าวมาก็จะต้องก่อไฟติดเตาให้ถ่านแดงก่อนจึงจะตั้งกาต้มน้ำได้ ดีไม่ดีถ้าไม่มีไม้ขีดไฟเสียอย่างเดียว การก่อไฟก็ดูจะทำไม่ได้เอาเสียเลย ปัญหาเช่นนี้ชาวอีสานสมัยก่อนเคยพบมาแล้วและแก้ได้ไม่ยาก แต่ต้องอาศัยพวกผู้ชายที่ดูดยาให้ช่วยเหลือ เพราะพวกนี้มักมีไฟติดตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะคนที่ดูดยาก็ต้องพกไม้ขีดไฟหรือไฟแช็กอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดาแท้ ๆ ไม่เห็นจะต้องพูดให้เสียเวลาแต่จะพูดถึงไฟที่ไม่ได้มาจากของสองสิ่งนั้นหากเป็นไฟที่ได้จาก บอกปุย 
      ปุยในยามที่บ้านเมืองขาดแคลนทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วแผ่นดิน อย่างคราวที่ตกอยู่ในภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพา ช่วง พ.ศ. 2485-2488 นั้น ไม้ขีดไฟกับน้ำมันก๊าดในภาคอีสานหาได้ยากยิ่งนัก การก่อไฟนึ่งข้าวทำอาหาร จึงเป็นปัญหาที่ทำความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านไม่น้อย บางรายต้องพยายามรักษาไฟไม่ให้ดับ โดยใช้เถ้ากลบดุ้นฟืนขนาดใหญ่ที่ติดไฟไว้หลังจากประกอบอาหารเสร็จ ฝ่ายพวกดูดยาก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน ต่างหงุดหงิดงุ่นง่านอารมณ์เสีย เมื่อหาไฟต่อยาดูดไม่ได้ ในยุคนั้นพวกผู้ชายชาวบ้านจึงนิยมพก บอกปุย ติดตัวไว้แก้ขัด เพราะทำใช้เองได้โยไม่ต้องเสียสตางค์ ซึ่งสมัยนั้นหาได้ยากยิ่งกว่าในยุคไอเอ็มเอฟเสียอีก 
บอกปุย 
คือกระบอกชุดสำหรับเป็นเชื้อเพลิงให้ไฟติดเวลาตีหินเหล็กไฟ บางแห่งเรียก เหล็กไฟป๊ก ส่วนใหญ่ทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ บางคนก็ใช้ท่อเหล็กโตขนาดกำได้เหมาะมือ มีเส้นรอบวงราว 10-12 ซม. ยาวประมาณ 7-9 ซม. ยัดด้วยปุยนุ่นอัดให้แน่นใช้ไฟจุดนุ่นด้วยปากกระบอกให้ไหม้จนดำแล้วดับให้สนิท 
      ส่วนประกอบอื่นที่สำคัญ คือ เหล็กกับหินที่จะใช้ตีให้เกิดไฟ เหล็กมักใช้เหล็กกล้า อาจเป็นตะไบเก่าหรือแหนบรถที่ไม่ใช้งานแล้ว ตัดให้ได้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็ก ๆ ยาวประมาณ 5-6 ซม. กว้าง 2-3 ซม. หนา 0.5-1 ซม. หินนั้นใช้หินกรวดหรือหินภูเขาเลือกก้อนที่จับได้ถนัด ขนาดหัวแม่มือ ทุบให้แตกจนได้เหลี่ยมคม 
      วิธีตีหินเหล็กไฟ ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดจับกระบอกชุดโดยกำไว้ในอุ้งมือ ใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้จับก้อนหินให้แนบติดกับด้านล่างปากกระบอกหันเหลี่ยมหินที่มีคมออก มืออีกข้างหนึ่งจับเหล็กให้มั่นหันด้านหนาหรือสันออก แล้วตีลงไปให้กระทบเหลี่ยมหินโดยแรงจนเกิดประกายไฟ ถ้าเหล็กดี หินและแรงดี ตีเพียงทีเดียวไฟก็ติดแล้ว แต่บางทีตีจนเหงื่อไหลก็อาจไม่ได้ไฟเลยก็ได้ เพราะถ้าตีได้แต่ประกายสีส้มจะไม่มีไฟติดชุดเนื่องจากประกายเป็นเพียงแสงเท่านั้น ถ้าตีได้สีแดงถือว่าเป็นสะเก็ดไฟ เมื่อกระเด็นไปถูกชุดจึงจะติดเป็นไฟได้ ได้เมื่อไฟติดแล้ว ต้องรีบใช้ยาสูบที่มวนด้วยใบตองต่อและดูดให้ไฟติดมวนยา แล้วนำไปต่อกับเชื้อไฟที่เตรียมไว้แล้ว เช่น ใบไม้ ขี้ตอก ใบตอง ใยมะพร้าวแห้ง เป่าให้ลุกเป็นเปลว บรรจงใส่ฟืนชิ้นบาง ๆ เล็ก ๆ เข้าไปก่อน พอไฟโหมจึงทยอยใส่ฟืนดุ้นโตเข้าจนได้กองไฟตามต้องการ 

2. การรักษาโรค 
      การรักษาพยาบาลแบบพื้นบ้านอีสาน ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล ในทุกหมู่บ้านจะมีหมอยาพื้นบ้านรับรักษาพยาบาลผู้เจ็บไข้ได้ป่วย หมอยาบางคนก็ยึดการให้การเยียวยาคนไข้เป็นอาชีพหลัก บ้างก็ฝึกเป็นอาชีพรอง มีการถ่ายทอดความรู้สืบต่อกันมาบ้างจากบรรพบุรุษ พระภิกษุสงฆ์ ญาติผู้ใหญ่ พ่อเสี่ยว (เพื่อนน้ำมิตรของพ่อ) สามีภรรยา เป็นต้น ส่วนด้านความรู้ ความชำนาญ การยอมรับของหมอพื้นบ้านนั้นเกิดจากการที่มีผู้มารักษาแล้วได้ผลก็บอกกันต่อ ๆ ไป ชนิดปากต่อปาก ส่วนค่ารักษาพลาบาลนั้นไม่ตายตัว อากเป็นเงินที่เรียกว่า ค่าคาย หรือข้าวของเสื้อผ้า เครื่องใช้ต่าง ๆ จากการศึกษาสัมภาษณ์หมอยาพื้นบ้านจังหวัดมหาสารคาม อาจจัดแบ่งตัวยาและการรักษาได้เป็น 9 ประเภท คือ 
      1. ยาซุม คือยาที่ได้มาจากรากหรือส่วนต่าง ๆ ของไม้ที่เป็นยา รวมทั้งกระดูกหนัง เขาสัตว์บางประเภท และเปลือกหอย เอามาฝนกับหินฝนยาละลายน้ำยารักษาโรคประเภทอีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ ไข้รากสาด โรคคอตีบ (ทำมะลา) โรคผิดสำแดง 
      2. ยาต้ม คือการเอาพืชสมุนไพรต่าง ๆ มาใส่หม้อดินต้มกิน ใช้รักษาโรคปานดง วิงเวียน เลือดลมเดินไม่สะดวก กินไม่ได้นอนไม่หลับ 
      3. ยาทาภายนอก เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์แก้พิษแมลงสัต์กัดต่อย ใช้ต้น เปลือก หรือรากฝนกับน้ำปูนใส หรือน้ำมะนาว หรือน้ำเหล้า หรือน้ำซาวข้าว ทาบริเวณที่ถูกกัดต่อยหรือทาแก้โครบางอย่าง เช่น ผด ผื่น ลมพิษ งูสวัด และเริม พืชสมุนไพรที่ใช้เป็นยาทาภายนอกมีหลายชนิด เช่น ขมิ้น เสลดพังพอน แก้ผด ผื่น ลมพิษ เกล็ดหรือเปลือกโพแห้ง แก้งูสวัด เริม ลูกน้อยหน่าแห้ง รักษาฝี ไพล ทาแก้เด็กท้องอืด ฯลฯ 
      4. ยานวด เป็นน้ำมันหรือน้ำมนต์ ใช้นวดและทารักษาโรคกระดูกเคลื่อน กระดูกหัก นวดเท้าแก้ฟกช้ำ เส้นเอ็นพลิก ข้อเท้าแพลง เป็นต้น 
      5. ยาฝุ่น เป็นจำพวกสมุนไพรบดละลายน้ำดื่ม แก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจ ครรภรักษา เป็นต้น 
      6. ยาตั้ง (ประคบ) ใช้สมุนไพร เช่น ใบเปล้า ใบพลับพลึง ไพล ใบละหุ่ง ใบหนาดห่อด้วยผ้าดำ นำไปนึ่งหรืออบไอน้ำจนร้อน แล้วนำมาตั้งบริเวณที่ขัดยอก เคล็ด ช้ำบวม 
      7. ยาเป่าหรือพ่น รักษาโดยการเป่าลมแรง ๆ ลงตรงจุดที่ต้องการ ไม่ต้องบริกรรม คาถา

ตกลง