ผมเริ่มต้นด้วยความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงว่ามันคืออะไรกันแน่ ปกติแล้วจุลินทรีย์จะต้องเกิดจากการหมักวัตถุอินทรีย์ เช่น จุลินทรีย์หน่อกล้วย จุลินทรีย์อีเอ็ม ฯ แต่เท่าที่ทราบคือการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงกระบวนการทำนั้นจะต้องนำไปตากแดดก็จะได้ออกมาเป็นจุลินทรีย์เอาไว้ใช้ได้เลย เฮ้ย.. ทำไมมันง่ายจังเลย แค่ตากแดดก็กลายเป็นจุลินทรีย์ได้จริง ๆ หรอ ไม่ต้องไปขุดหน่อกล้วยมา ไม่ต้องนำผักผลไม้มาหมักให้เปลืองแรง จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงนั้นทำง่ายขนาดนั้นเชียว
ว่าแล้วก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลก็พบว่ากระบวนการทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงนั้น เราจะต้องนำอาหารมาเลี้ยงตัวจุลินทรีย์ โดยนำอาหารมาเพาะเชื้อใส่ลงไปในขวดที่มีน้ำแล้วนำขวดที่มีอาหารและน้ำไปตั้งตากแดด โดยอาหารก็คือไข่ไก่นั่นเอง เท่าที่ผมหาดูในอินเทอร์เน็ตนั้นมีมากมายหลายสูตร ทั้งผสมน้ำปลาและผงชูรส หรือไม่ก็ต้องนำแหล่งน้ำมาจากธรรมชาติบ้าง
จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงคืออะไรกันแน่
จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงคือ จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติทั้งในดินและน้ำ ทำหน้าที่กำจัดของเสีย ก๊าซและสารพิษต่าง ๆ
ประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
- ช่วยตรึงไนโตเจนในดิน เพิ่มไนโตเจนให้กับพืช
- เร่งการเจริญเติบโต ทำให้พืชแข็งแรงแล้วโตเร็วเป็น 3 เท่า
- เมื่อใช้ทางดินทำให้รากพืชแข็งแรงและหาอาหารได้ดีขึ้น ใช้กับนาข้าวช่วยเร่งการแตกกอของข้าว
- ช่วยในการย่อยธาตุอาหารและวัตถุอินทรีย์ในดิน เพื่อให้พืชดูดซึมไปใช้ได้อย่างง่ายดาย
- ป้องกันพืชโดยการทำลายจุลินทรีย์ไม่ดีในดิน ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพืช
ขั้นตอนวิธีการทำต่อไปนี้เป็นการทดลอง
เพื่อให้ทราบผลลัพธ์ที่แน่นอน
เกี่ยวกับวิธีทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
ส่วนสูตรที่แน่นอนจะสรุปไว้ให้ท้ายบทความนะครับ
สิ่งที่ต้องเตรียม
- น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
- ขวดขนาด 1.5 ลิตรหรือมากกว่า
- ไข่ไก่ 1 ฟอง
- น้ำปลายี่ห้อใดก็ได้
วิธีทำจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
- ตอกไข่ใส่ถ้วยแล้วเติมน้ำปลาลง 1 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน
- นำน้ำใส่ขวดขนาด 1.5 ลิตรไปตากแดดประมาณ 4-5 วัน ก่อนเติมไข่ไก่ที่เตรียมไว้ลงไป 1 ช้อนโต๊ะ
- นำไปตั้งไว้ในบริเวณกลางแจ้งที่มีแดดส่งถึงทุกวัน
ส่วนการทดลองผมนำไข่ปริมาณที่ต่างกัน 3 ขนาดคือ 1 ช้อนโต๊ะ 2 ช้อนโต๊ะ และ 3 ช้อนโต๊ะ
กับการทดลองที่นำน้ำ 2 ชนิดมาทดลองคือน้ำปะปากับน้ำจากห้วย