“ข่าแดง” หรือ ข่าอ่อน เป็นพืชสมุนไพรที่กำลังได้รับความนิยมสูงในการนำมาเป็นส่วนประกอบหลายเมนูอาหาร อีกทั้งเป็นพืชที่ทนแล้ง ต้านทานโรคได้ดี ปลูกและดูแลง่าย สรรพคุณมากมายโดยเฉพาะด้านสุขภาพ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดสูง
การยึดอาชีพปลูกข่าแดงของชาวบ้านที่บ้านเกษตรสมบูรณ์ ตำบลห้วยขะยุง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ทำกันมายาวนานกว่า 30 ปี เพราะข่าแดงเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ปลูกมาก เป็นพืชที่ช่วยกันในครัวเรือน ลงทุนน้อย ปลูกแล้วเก็บผลผลิตได้นานเป็น 10 ปี ที่สำคัญมีรายได้ทุกวัน จึงเป็นพืชที่ชาวบ้านไม่ง้อรายได้จากการปลูกข้าว
ฉะนั้น เกือบทั้งหมู่บ้านหันมาปลูกข่าแดงสร้างรายได้ อีกทั้งยังสร้างมูลค่าด้วยการปลูกข่าแบบอินทรีย์จนได้ใบรับรองมาตรฐาน จึงเป็นที่ต้องการของลูกค้าหลายพื้นที่ทั่วประเทศและจากที่เคยเป็นรายได้เสริมเมื่อก่อน จึงกลายเป็นรายได้หลักในวันนี้ กระทั่งทำให้ทุกครอบครัวในตำบลห้วยขะยุงที่ปลูกข่าแดงขายมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน
คุณนวนศรี พรมมากอง อยู่บ้านเลขที่ 83 หมู่ที่ 13 บ้านเกษตรสมบูรณ์ ตำบลห้วยขะยุง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นชาวบ้านในพื้นที่อีกคนที่ปลูกข่าแดงมานานหลายสิบปี ใช้พื้นที่ปลูกข่าประมาณ 3 ไร่
เกษตรกรรายนี้เล่าว่า ถ้าเริ่มปลูกข่าแดงครั้งแรกควรปลูกประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม โดยจะใช้หัวข่าแก่ปลูก เมื่อปลูกแล้วใช้เวลาประมาณ 6 เดือน จึงเก็บผลผลิตได้ ข่านั้นปลูกครั้งเดียวสามารถให้ผลผลิตได้ยาวนานต่อเนื่องถึง 10 ปี ข่าที่ปลูกกันจะเป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ข่าแดง” เป็นพันธุ์ที่ปลูกง่าย แตกหน่อดี ให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ซึ่งปกติแล้วจะปลูกกันไร่ละประมาณ 800-900 ต้น ระยะปลูกห่างกันต้นละเมตร ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปีละ 4 ครั้ง
สำหรับวิธีเก็บผลผลิตจะสับหรือตัดหน่ออ่อนด้วยเสียม ทั้งนี้ การสับหรือตัดหน่ออ่อนมากเกินไปอาจทำให้ต้นแม่โทรมเร็ว แล้วจะให้หน่อช้า ดังนั้น จึงต้องบำรุงต้นแม่ให้ดีเพื่อให้ได้หน่อข่าอ่อนที่ดีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ที่เป็นฤดูหนาว พบว่า หน่ออ่อนมักแตกช้า และชาวบ้านจะถือโอกาสพักต้น รอให้พ้นหน้าหนาวไปก่อน
หลังจากสับหรือตัดต้นข่ามาจากสวนแล้วจะนำมาล้างทำความสะอาด แล้วปอกลอกเปลือกออก จากนั้นตัดแต่งให้สวยงามแล้วนำไปมัดเป็นกำ ให้มีกำละ 5-6 ต้น ขึ้นอยู่กับขนาด นำไปขายให้แก่บ้านที่รับซื้อทุกวัน ในราคาครั้งละอย่างต่ำ 500 บาท ทำให้มีเงินได้จากข่าแดงถึงเดือนละเกือบ 20,000 บาท พร้อมกับบอกว่ารายได้เช่นนี้ดีกว่าการทำนาขายข้าวอีก
ขณะเดียวกัน คุณสำรี แก้วมณี เจ้าหน้าที่ อกม. (อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน) โทรศัพท์ (085) 611-6346 ได้เพิ่มเติมข้อมูลการปลูกข่าแดงของชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ว่า อาชีพนี้ชาวบ้านในหมู่บ้านเกษตรสมบูรณ์ทำกันมานานกว่า 30 ปี ทำกันเกือบทุกบ้าน แต่ละบ้านใช้พื้นที่ปลูกข่าแดงประมาณ 1-3 ไร่ โดยไม่มากกว่านี้ เนื่องจากดูแลไม่ทั่วถึงเพราะทำกันเฉพาะในครัวเรือน ทั้งนี้ การเก็บข่าแดงจะสับหรือตัดหน่ออ่อนทุกวันเวียนไปทีละแปลง สลับไป-มาจนทั่ว
ลักษณะการปลูกข่าแดงเป็นการปลูกครั้งเดียว เพราะจากนั้นจะเก็บผลผลิตไปเรื่อยๆ ได้ยาวนาน 8-10 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแล สำหรับต้นข่าแดงที่มีหน่ออ่อนแล้วพร้อมเก็บได้คือ ต้นที่มีใบจำนวน 3 ใบ แต่ถ้าต้นไหนมีมากกว่า 3 ใบ จะมีหน่อแก่ ขายไม่ได้ราคา
ต้นข่าแดงชอบอากาศร้อน ยิ่งถ้าให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง ไม่ต้องใช้น้ำมาก แต่ให้บ่อย เพราะข่าแดงเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย จะทำให้หน่อแตกได้ดี จึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชน้ำน้อย ดังนั้น ข่าแดงถือว่าตอบโจทย์ได้ตรงเป้าหมาย
สำหรับการนำข่าแดงไปบริโภคนั้น ชาวบ้านนิยมกินสด หรือบางแห่งใช้ลำต้นนำไปสับรับประทานแบบเมี่ยง ส่วนถ้าเป็นเมนูอาหารนิยมนำไปนึ่ง ต้มยำ ทำน้ำพริก หรือซุป (เหมือนซุบหน่อไม้)
คุณสำรี บอกว่า ข่าแดงเป็นพืชที่ปลูก/ดูแลไม่ยาก แมลงศัตรูพบบ้างจะเป็นหนอนกอ จะพบในหน้าหนาวเท่านั้น โดยหนอนกอมักเข้าไปกินไส้ในต้นอ่อน ซึ่งชาวบ้านไม่นิยมใช้สารเคมีป้องกันเพราะกลัวเกิดอันตราย แต่จะใช้วิธีสังเกตความผิดปกติของต้น แล้วเมื่อพบหนอนจะทำลายทิ้ง
ส่วนการให้ปุ๋ยจะเน้นใส่ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ส่วนปุ๋ยเคมีใช้น้อยมากประมาณ 1 ไร่ ต่อกระสอบ ต่อปี ดังนั้น ข่าแดงของหมู่บ้านนี้จึงปลูกแบบอินทรีย์แล้วยังจัดระบบการปลูกเป็นแบบแปลง GAP ด้วย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในจังหวัดใกล้เคียงและจังหวัดอื่น
พร้อมกับเผยว่า รายได้ที่ชาวบ้านนำข่าแดงมาขายเฉลี่ยแล้วคนละ 400-500 บาท ต่อครั้ง ต่อวัน หรือประมาณ 15,000 บาท ต่อเดือน ทั้งนี้ ภายหลังจากรับซื้อข่าแดงจากชาวบ้านแล้วจะรวบรวมนำไปส่งขายให้พ่อค้าที่ตลาดในอำเภอวารินชำราบทุกวัน ในจำนวนวันละเป็นตัน จากนั้นจึงไปขายส่งต่อให้แม่ค้าในตลาดนัดเพื่อแบ่งเป็นกำขนาดเล็กขายให้ผู้บริโภคในราคากำละ 10-15 บาท
“หลังจากชาวบ้านหันมาปลูกข่าแดงกันจำนวนมากทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ที่สำคัญมีรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวอย่างมาก อย่างถ้าเปรียบเทียบรายได้จากการขายข่าแดง 1 ไร่ มีรายได้มากกว่าการขายข้าว 1 ไร่เสียอีก” คุณนาง กล่าว
จากข้อมูลการปลูกและขายข่าแดงจากบุคคลต่างๆ จะพบว่าในปัจจุบันชาวบ้านหันมาปลูกข่าแดงกันเพิ่มขึ้น อาจเป็นเพราะว่าปลูก/ดูแลง่าย แล้วมีรายได้ทันที ข่าแดงจึงกลายเป็นพืชทางเลือกสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้หลักให้แก่ชาวบ้าน แทนการรอขายข้าว
คราวนี้ลองมาคำนวณตัวเลขรายได้ของชาวบ้าน เพียงแค่ครัวเรือนเดียวถ้าขายข่าแดงทุกวันมีรายได้วันละ 500 บาท หรือเดือนละ 15,000 บาท แต่ถ้าทั้งหมู่บ้านปลูกข่าแดงขายกันจำนวน 100 หลังคาเรือน จะพบว่ามีรายได้รวมเฉลี่ย 1.5 ล้านบาท ต่อเดือน
ที่มาข้อมูล : https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_89188?fbclid=IwAR0RjnlPSB1GcIHd6ampR2viH7R-HCVqQttX9WyPJl5NwVN8gubxBbZlTWc