เทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ตัวโต น้ำหนักดี และได้มาตรฐาน
30 พ.ย. 2564
1,431
0

เทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ตัวโต น้ำหนักดี และได้มาตรฐาน

เกษตรเคล็ดลับสัปดาห์นี้ รักบ้านเกิดขอพาทุกคนไป "เลี้ยงจิ้งหรีด" แมลงที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี แถมยังเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ส่งเสริมให้คนทั่วโลกบริโภคกันมากขึ้น ซึ่งการเลี้ยงจิ้งหรีดก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรไม่น้อย วันนี้เราขอนำเทคนิคการเลี้ยงจิ้งหรีดให้ตัวโต น้ำหนักดี และได้มาตรฐาน มาฝากเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงจิ้งหรีดได้ลองศึกษาและนำไปปรับใช้กัน

เตรียมอุปกรณ์และบ่อเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด

1. บ่อเลี้ยงจิ้งหรีด

บ่อเลี้ยงจิ้งหรีดมีหลายรูปแบบตั้งแต่เลี้ยงในถัง กะละมัง ไปจนถึงในบ่อซีเมนต์ ซึ่งเกษตรกรสามารถเลือกได้ตามสะดวกและความเหมาะสมของพื้นที่ โดยหากต้องการเลี้ยงในรูปแบบมาตรฐาน ควรสร้างบ่อให้ทนทาน ทำความสะอาดง่าย แต่ละบ่อควรห่างกันอย่างน้อย 50 ซม. เช่น

- บ่อซีเมนต์ : นิยมสร้างขนาด 1*3*0.6 เมตร (พื้นที่ 3 ตร.ม.) หรือ 1.6*4*0.6 เมตร (พื้นที่ 6.4 ตร.ม.) เทปูนที่ก้นบ่อ 1 นิ้ว

- บ่อแบบกล่อง : โดยการใช้ไม้อัดหรือกระเบื้องสมาร์ทบอร์ดสร้าง ขนาดที่นิยม 1.2*2.4*0.6 เมตร (พื้นที่ 2.9 ตร.ม.) และมีขาสูง 15-20 ซม.

*ต้องมีการทาจารบีหรือน้ำมันที่ฐานบ่อ/ขาบ่อ เพื่อป้องกันมดหรือแมลงเข้าบ่อ*

2. กาว สำหรับติดขอบบ่อ ป้องกันจิ้งหรีดไต่ออกนอกบ่อ

3. มุ้งเขียว ไว้ปิดปากบ่อ ป้องกันจิ้งหรีดบินหนีและแมลงศัตรูเข้ามาทำลาย

4. แผงไข่ สำหรับเป็นที่อยู่ของจิ้งหรีด โดยจะใช้ประมาณ 50 % ของพื้นที่

5. ถาดใส่น้ำ, ถาดใส่อาหาร ควรใช้ถาดที่ไม่ลึกมากประมาณ 1-1.5 ซม.

6. ฟองน้ำ หรือผ้าชุบน้ำ สำหรับให้น้ำจิ้งหรีดตัวเล็ก

7. ภาชนะรองไข่ สำหรับให้จิ้งหรีดวางไข่ ขนาดความลึกมากกว่า 5 ซม. ส่วนมากนิยมใช้ขันพลาสติกกลม

ธีการเลี้ยงจิ้งหรีด

1. การบ่มไข่จิ้งหรีด ให้บ่มในถุงกระสอบ ปิดปากถุงพอหลวมๆ เพื่อให้อากาศเข้าได้ เมื่อเห็นว่าไข่ตึงและมีสีเหลืองอมน้ำตาล ให้เอาขันไข่หรือกระสอบไข่ไปไว้ในบ่อเลี้ยง โดยไข่จิ้งหรีดจะใช้เวลาฟัก 7-10 วัน จึงจะออกมาเป็นตัวอ่อน

2. เลี้ยงจิ้งหรีดวัยอ่อน/แรกเกิด

- ควรให้น้ำผ่านผ้าชุบน้ำหรือฟองน้ำ

- ควรให้อาหารผงละเอียด หรืออาหารไก่เล็กบดละเอียด ใส่ในภาชนะขอบเตี้ยๆ หรือหาใบไม้ เศษหญ้าแห้ง มาพาดเพื่อให้จิ้งหรีดปีนเข้าไปกินอาหารได้

3. เลี้ยงจิ้งหรีดเริ่มโต-โตเต็มวัย

- ให้เริ่มนำแผงไข่มาเรียงในบ่อ โดยสามารถเรียงประกบ 2 แผงทีละคู่ ต่อไปเรื่อยๆ หรือจะเรียงแบบปีกนก ซ้อนทับกัน 1-2 หลุมก็ได้เช่นกัน ระยะนี้จะใช้เวลาเลี้ยง 45-50 วัน

- ให้น้ำโดยใส่ถาด แล้ววางก้อนหินเล็กๆ ในถาดเพื่อให้จิ้งหรีดเกาะกินน้ำได้ง่าย

- ให้อาหารจิ้งหรีดหรืออาหารไก่เล็กบดละเอียด ทีละน้อยๆ ทุกเช้า-เย็น แล้วเสริมด้วยหญ้าแห้ง หญ้าสด หรือพืชอื่นๆ เช่น ต้นอ่อนพืช ผักตบชวา โดยให้ 2 วันต่อครั้งๆ ละ 1 กำมือ

*สามารถให้อาหารเสริม เช่น ฟัก แฟง ฟักทอง ผักบุ้ง คะน้า กล้วย ใบมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มโปรตีนกับจิ้งหรีดให้ตัวโตและน้ำหนักดี โดยจะให้ก่อนนำจิ้งหรีดไปขาย 1 สัปดาห์*

4. เลี้ยงจิ้งหรีดช่วงผสมพันธุ์วางไข่

- จิ้งหรีดเพศเมียจะเริ่มวางไข่ ภายใน 3-5 วันหลังจากผสมพันธุ์ โดยให้นำถาดใส่ขี้เถ้าแกลบรดน้ำให้พอชุ่ม แล้วนำมาวางให้จิ้งหรีดวางไข่

- ควรรองไข่ในบ่อเลี้ยง 6-8 ชม. โดยใช้แกลบเผา 60% ทราย 30% และขุยมะพร้าว 10% ผสมเข้าด้วยกัน หรือใช้แกลบเผาล้วนก็ได้ ให้ผสมกับน้ำพอหมาดแล้วใส่ในขันพลาสติก วางในบ่อเลี้ยง 6-8 ชม./ 1 คืน

- จากนั้นนำถาดที่รองไข่ไปอบเพื่อเลี้ยงขยายพันธุ์ หรือขายต่อไป ส่วนจิ้งหรีดสามารถจับขายได้ หรือจะเลี้ยงต่อเพื่อรองไข่อีกประมาณ 3-5 รอบ

การเก็บจิ้งหรีดจากบ่อเลี้ยง

- สามารถเก็บได้ทั้งระยะเสื้อกั๊กและตัวเต็มวัย โดยควรเก็บจิ้งหรีดให้หมดบ่อเพื่อให้ง่ายต่อการทำความสะอาด

- งดการให้อาหาร 2-3 วัน ก่อนเก็บจิ้งหรีดออกจากบ่อ นำถาดอาหารและถาดน้ำออกจากบ่อเลี้ยง

- เคาะแผงไข่เพื่อขจัดมูลและฝุ่น แล้วนำกลับไปวางใหม่ด้านในของบ่อ จิ้งหรีดจะมาเกาะที่แผงไข่

- เขย่าแผงไข่ ลงในกะละมังที่เจาะรูด้านล่างเพื่อแยกมูลจิ้งหรีดออก

- ใช้สวิงที่สวมด้วยถุงพลาสติก ช้อนเอาจิ้งหรีดใส่ในกะละมัง

- ล้างจิ้งหรีดด้วยน้ำสะอาด 3-5 ครั้ง แล้วต้มในน้ำเดือด 10 นาที

- บรรจุใส่ถุง แช่ตู้อุณหภูมิ -15 ถึง -20 องศาเซลเซียส ในระหว่างรอการแปรรูป และจำหน่าย เพื่อลดการเกิดฮิสตามีนซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้

ได้เทคนิควิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดตั้งแต่การเตรียมบ่อเพาะ บ่มไข่ ให้อาหาร ให้น้ำ ไปจนถึงการเก็บจิ้งหรีดเพื่อจำหน่ายกันแล้ว ใครสนใจอยากลองเลี้ยงจิ้งหรีด อาจเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ หรือ 1-2 บ่อก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขยายต่อไปนะครับ ครั้งหน้ารักบ้านเกิดจะมีเคล็ดลับพาไปเลี้ยงแมลงอะไรอีก อย่าลืมติดตามกันนะครับ

ตกลง