เห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์ไทย เห็ดเสริมพลังม้า ไร้สารพิษทดแทนการนําเข้า
11 เม.ย. 2565
1,223
0
เห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์ไทย
เห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์ไทย เห็ดเสริมพลังม้า ไร้สารพิษทดแทนการนําเข้า
 
เห็ดร่างแห หรือ เห็ดเยื่อไผ่ (Bamboo Mushroom , Lady mushroom) จัดอยู่ในวงศ์ Phallaceae ประเทศจีนถือเป็นต้นกำเนิดการเพาะเห็ดชนิดนี้ และเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการเพาะเพื่อจำหน่าย คือสายพันธุ์เห็ดร่างแหกระโปรงยาวสีขาว (Dictyophora indusiata และ Dictyophora echinovolvata) โดยประเทศไทยมีการนำเข้าเห็ดเยื่อไผ่แห้ง มาบริโภคภายในประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 6,500 ตัน ผลจากการสุ่มตรวจตัวอย่าง พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างสูงถึง 4,498.09 มิลลิกรัม/ กิโลกรัม และแคดเมียม 2.17 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
กรมวิชาการเกษตร โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ทำการสำรวจ รวมรวบ และคัดเลือกเห็ดร่างแหสายพันธุ์ใหม่ คือเห็ดร่างแหกระโปรงสั้นสีขาว (Phallus atrovolvatus Kreisel & Calong) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จุดเด่นของเห็ดร่างแหสายพันธุ์ไทย คือ ให้ผลผลิตสูง สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี ไม่มีกลิ่นเหม็น เนื้อสัมผัสกรอบ ไม่เปื่อยยุ่ย และไม่มีการปนเปื้อนของสารปรอทและแคดเมียม สําหรับคุณค่าโภชนาการ เห็ดร่างแหมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ (essential amino acid) 7 ชนิด และพบสารสำคัญคือสาร Phosphatidylcholine, สาร Dictyophorine A and B โดยสารดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นการทํางานของเซลล์ประสาท และป้องกันโรคสมองเสื่อม และ สารโฟลีฟีนอล (Polyphenol) ซึ่งเป็นสารสําคัญในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ในส่วนของสรรพคุณทางยาตําราแพทย์แผนจีน กล่าวว่า หากรับประทานเห็ดร่างแหระยะดอกตูม จะมีฤทธิ์สรรพคุณเป็นยาโป้วสูง
เทคโนโลยีการเพาะเห็ดร่างแห ประกอบด้วยขั้นตอนการเตรียมวัสดุเพาะ และวิธีการเพาะ ดังนี้
วัสดุเพาะ ประกอบด้วย ใบไผ่ ขุยมะพร้าว และแกลบดิบ อัตราส่วน 1:1:1 นำใบไผ่ และขุยมะพร้าว แช่ น้ำ 1 คืน จากนั้นจึงนำวัสดุทั้งหมดมาผสมให้เข้ากัน
วิธีการเพาะเห็ดร่างแห จัดแบ่งการเพาะออกเป็น 5 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1นำดินปลูกโรยในชั้นเพาะ หนาประมาณ 3 เซนติเมตร
ชั้นที่ 2นำวัสดุเพาะผสมให้เข้ากัน แบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 โรยเป็นชั้นที่ 2 หนาประมาณ 5 เซนติแมตร
ชั้นที่ 3นำก้อนเห็ดร่างแหที่มีเส้นใยเห็ดร่างแหเจริญเต็ม นำมาวางเป็นชั้นที่ 3
ชั้นที่ 4นำวัสดุเพาะส่วนที่เหลือโรยทับก้อนเห็ดร่างแห หนาประมาณ 3 เซนติเมตร
ชั้นที่ 5 กลบหน้าด้วยดินปลูก (casing) หนาประมาณ 2 เซนติเมตร รดน้ำพอชุ่ม แล้วคลุมพลาสติกดำ เพื่อเป็นการบ่มเส้นใย เป็นเวลา 15 - 20 วัน เมื่อครบกำหนดจึงนำพลาสติกออก รอจนกระทั้งดอกเห็ดบาน และรดน้ำทุกเช้า – เย็น
การเก็บผลผลิต สำหรับระยะเวลาการเก็บผลผลิตจะเริ่มเก็บดอกเห็ด หลังจากเพาะเป็นเวลา 15 -20 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม กล่าวคือฤดูฝนจะเก็บดอกเห็ดได้เร็ว และให้ผลผลิตสูง เนื่องจากความชื้น มีส่วนช่วยให้เชื้อเห็ดมีพัฒนาการจากดอกตูมไปดอกบานได้อย่างรวดเร็ว ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บผลผลิต เก็บดอกเห็ดในช่วงเช้า โดยใช้นิ้วสอดเข้าไปใต้โคนดอกเห็ดพร้อมทั้งงัดดอกเห็ด ซึ่งควรระวังอย่างให้กระทบเทือนถึงดอกเห็ดข้างเคียง จากนั้นจึงนำหมวกเห็ดออก และในส่วนของฐานรองดอก และเศษเห็ดที่คงเหลือให้เอาออกจากแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้ดอกเห็ดที่คงเหลือในแปลงเพาะเน่าเสียหาย
ศัตรูเห็ดเยื่อไผ่
ศัตรูเห็ดเยื่อไผ่ จะเข้ามาทำลายในช่วงระยะบ่มเส้นใย จนถึงระยะไข่ ได้แก่ กิ้งกือ และหอยทากจะกินเส้นใยเห็ดเยื่อไผ่ และในช่วงระยะไข่หรือดอกตูม พบด้วงเจาะดอก เข้ากัดกินดอกจนเป็นสาเหตุให้ดอกเห็ดเน่าเละ
ตลาดของเห็ดร่างแหหรือเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์ไทย
จุดเด่นของเห็ดร่างแห หรือเห็ดเยื่อไผ่สายพันธุ์ไทย คือ ให้ผลผลิตสูง สามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี กลิ่นดอกไม่ฉุน ขนาดดอกใหญ่ และหนา เนื้อสัมผัสกรอบ ไม่เปื่อยยุ่ย และปราศจากสารฟอกขาว ปัจจุบัน เกษตรกรได้มีการส่งดอกเห็ดเยื่อไผ่ชนิดแห้ง เพื่อการแปรรูปเป็นอาหารยังโรงแรม และ ภัตตาคาร ราคาจำหน่าย กิโลกรัมละ 2,500 - 6,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของดอกเห็ด
*** สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา โทร 0-7458-6725 ต่อ 500, 501.
ตกลง