เรื่องปลาทูมีอะไรมากกว่าที่คิด...
ชีวิตคนไทยผูกพันกับปลาทู และเราก็ชอบกินน้ำพริก-ปลาทูกันทุกครัวเรือนจนกลายเป็นอาหารประจำชาติอย่างหนึ่งไปแล้ว
โดยทั่วไปชาวประมงจะแบ่งปลาทูออกเป็น 2 ชนิด คือ ปลาสั้น และ ปลายาว
.
ปลาสั้น มักจะหมายถึงปลาทูแม่กลอง มีลักษณะหน้าเป็นสามเหลี่ยม ตัวสั้น แบน เนื้อนิ่มเวลากดลงไปที่ตัวปลาแล้วเนื้อปลาจะกลับคืนสภาพเดิมไม่บุ๋มลงไปตามลอยแรงกด ปลาสั้นจะมีลำตัวสีเงิน หรือ อมเขียว ตาดำ
.
ปลายาว จะมีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น ปลาลัง ปลายาว ปลาอินโด ซึ่งก็เป็นปลาชนิดเดียวกันทั้งหมด ลักษณะของปลายาว ตัวจะใหญ่และยาวกว่าปลาทูแม่กลอง ปากแหลม
.
นี่เป็นข้อสังเกตง่ายๆ ที่จะเลือกซื้อปลาทู
.
แต่ในทางวิทยาศาสตร์แล้วสกุลปลาทูของไทยคือ Rastrelliger เป็นสกุลของปลาทะเลในวงศ์ Scombridae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับปลาโอ, ปลาอินทรี และปลาทูน่า ซึ่งปลาในสกุล Rastrelliger มีด้วยกัน 3 สายพันธุ์ได้แก่ ปลาทู (ชื่อสามัญ Short Mackerel) ปลาลัง หรือปลาทูโม่ง (ชื่อสามัญ Indian Mackerel) ปลาทูปากจิ้งจก (ชื่อสามัญ Island mackerel)
.
ปลาทูที่เป็นปลาทูไทย (Short Mackerel) หรือปลาทูแม่กลองที่เราเข้าใจกันนั้น พูดได้เต็มปากว่าเป็นปลาเชื้อสายไทยแท้เลยทีเดียว ไม่มีเชื้อสายจีนหรือแขกเจือปน เพราะมันเกิดที่อ่าวไทยแล้วก็ตายที่อ่าวไทย พูดง่ายๆ ก็คือเราจะพบปลาทูเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น เพราะลักษณะปลาสายพันธุ์ Short Mackerel นั้นไม่ค่อยพบในภูมิภาคอื่นๆของโลก
.
แต่ก่อนเราเชื่อว่าปลาทูที่จับได้ในอ่าวไทยเดินทางไกลมาจากเกาะไหหลำ แต่การศึกษาในปัจจุบันพบว่า
#ปลาทูเกิดในอ่าวไทย อาศัยอยู่บริเวณใกล้ฝั่ง มีพฤติกรรมอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณกลางน้ำถึงผิวน้ำตั้งแต่บริเวณชายฝั่งจนถึงระดับความลึก 200 เมตร ซึ่งในน่านน้ำไทยพบทั้งหมด 3 ชนิดดังที่กล่าวมาข้างต้นและปลาในสกุลนี้เป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมากกว่าปลาอื่นใดเพราะเป็นอาหารทะเลหลักของคนไทยมาช้านาน
.
และเคยมีใครสงสัยไหมว่าปลากระป๋องที่ใช้ปลาแมคเคอเรลทำนั้นใช่ปลาแมคเคอเรลเดียวกับที่เป็นสายพันธุ์ปลาทูไหม?
.
คำตอบคือ "ใช่" ปลาแมคเคอเรลที่เอามาทำปลากระป๋องนั้น ความจริงก็คือปลาทู(Short-bodied mackerel) และปลาลัง(Indian Mackerel) ที่มีขนาดเล็กกว่าตลาดต้องการนั่นเอง ปลาทูตัวเล็กๆเหล่านี้เมื่อถูกคัดทิ้งจากการขายสดในตลาดก็จะถูกส่งต่อนำไปแปรรูปเป็นอาหารกระป๋องแทน