มะระ
มะระ หรือ มะระจีน ชื่อสามัญ Bitter melon, Balsam pear, Bitter cucumber, Bitter gourd
มะระ ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantia L. จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)
ต้นมะระจัดเป็นพันธุ์ไม้เลื้อยเขตร้อน เป็นพืชผักอาหารที่อยู่คู่กับคนเอเชียมาช้านาน โดยมะระแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี นั่นก็คือ มะระขี้นก (ซึ่งเราได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อน ๆ) และ มะระจีน (ซึ่งจะกล่าวในบทความนี้) ซึ่งเป็นที่นิยมนำมารับประทานมากกว่ามะระขี้นก
ประโยชน์ของมะระ
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคและช่วยปกป้องเซลล์จากการทำลายของสารก่อมะเร็งต่าง ๆ (เบตาแคโรทีนในผลมะระ)
- ช่วยทำให้เจริญอาหารมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีสาร Momodicine ที่ช่วยทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามาก
- ช่วยทำให้ดวงตาสดใส
- ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แคลเซียม)
- ช่วยแก้กระหายน้ำ ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
- ช่วยบำบัดและรักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ผลมะระมีสรรพคุณในการช่วยฟอกเลือดได้
- สามารถต้านเชื้อไวรัสและมะเร็งได้
- มีงานวิจัยในสหรัฐฯ ที่เชื่อว่าสารสกัดจากมะระจะช่วยขัดขวางการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมได้ แต่ก็ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบ
- ช่วยดับพิษร้อนภายในร่างกาย (เถา)
- ช่วยปรับธาตุในร่างกายให้เกิดความสมดุล (เมล็ด)
- รากมะระนำมาต้มกับน้ำดื่มแก้อาการไข้ได้ (ราก)
- ช่วยบรรเทาอาการหวัด ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
- ช่วยขับพิษเสมหะ ขับเสมหะ (ใช้ร่วมกับกะเม็งตัวเมีย)
- น้ำคั้นจากมะระจีนใช้อมแก้อาการปากเปื่อยได้
- ช่วยแก้อาการบิด (ราก, เถา)
- ผลมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน
- ช่วยในการย่อยอาหาร
- ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักได้ (ราก)
- ช่วยขับพยาธิตัวกลม (เมล็ด)
- ช่วยแก้ตับ ม้ามพิการ บำรุงน้ำดี
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- ช่วยแก้ท่อน้ำดีอักเสบ ด้วยการใช้ใบนำมาคั้นเอาแต่น้ำดื่มเพื่อแก้อาการ
- รากมะระมีฤทธิ์ฝาดสมาน
- ผลมะระใช้เป็นยาทาภายนอก ช่วยลดอาการระคายเคือง ผิวหนังแห้ง และผิวหนังอักเสบ
- ช่วยลดอาการฟกช้ำบวมตามร่างกาย (ใบ)
- ช่วยแก้อาการผดผื่นคัน (ใบ)
- ช่วยแก้ลมเข้าข้อ ลดอาการปวดบวมที่เข่า
- ผลสุกของมะระ คั้นเอาแต่น้ำใช้ทาหน้าเพื่อช่วยรักษาสิวอักเสบ (ผลสุก)
- เมนูมะระจีน ได้แก่ แกงจืดมะระยัดไส้ มะระต้มจืด มะระผัด ยำมะระสด ลวกจิ้มน้ำพริก
- แม้ว่ามะระจะมีรสขมมาก แต่ก็ได้รับความนิยมจากคนรักสุขภาพด้วยการนำผลสด ๆ มาคั้นเป็นน้ำดื่ม
- ในปัจจุบันมีการนำมาผลิตเป็นยารักษาโรคเบาหวานที่บรรจุอยู่ในรูปของแคปซูล
คุณค่าทางโภชนาการของมะระจีนต่อ 93 กรัม
โดยข้อมูลจาก www.foodsdatabase.com ได้ระบุคุณค่าทางโภชนาการไว้ว่า ผลมะระ 1 ถ้วยหรือประมาณ 93 กรัม จะประกอบไปด้วย
- วิตามินเอ 9%
- วิตามินบี 1 2%
- วิตามินบี 2 2%
- วิตามินบี 3 2%
- วิตามินบี 5 2%
- วิตามินบี 6 2%
- วิตามินซี 130%
- โฟเลต 17%
- ธาตุแคลเซียม 2%
- ธาตุเหล็ก 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 4%
- ธาตุฟอสฟอรัส 3%
- ธาตุทองแดง 2%
- ธาตุสังกะสี 5%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่
การเลือกซื้อมะระ
ถ้าไม่อยากได้มะระแก่ ๆ มาทำเป็นอาหาร เราควรสังเกตที่หนามของมะระให้ดี ถ้าหนามมีลักษณะแข็ง แสดงว่ามะระนั้นแก่เต็มที่แล้ว ไม่ควรซื้อมารับประทานเพราะจะมีรสขมมาก ๆ ให้เลือกซื้อที่หนามมีลักษณะอ่อนนิ่ม เพราะจะเป็นมะระที่มีอายุน้อยและไม่ขมมากจนเกินไป สามารถนำมาประกอบอาหารได้
วิธีลดความขมของมะระ
ก่อนนำไปประกอบอาหารให้นำมาแช่น้ำเกลือก่อนในอัตราส่วนเกลือ 1 ช้อนชากับน้ำ 1 ลิตร โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที เสร็จแล้วให้เทน้ำทิ้ง แล้วนำมาแช่น้ำเปล่าอีกครั้งประมาณ 10 นาทีก่อนจะนำไปประกอบอาหาร ก็จะช่วยลดความขมของมะระลงได้ และที่สำคัญก็คือในขณะที่กำลังประกอบอาหารด้วยการทำต้มอย่างจืด ไม่ควรจะเปิดฝาทิ้งไว้หรือคนบ่อย ๆ เพราะจะทำให้มะระขมได้นั่นเอง
ปกติแล้วมะระมีรสขมมาก (เนื่องจากมีสาร Momodicine) จึงไม่ควรรับประทานมะระที่ผลสุก (โดยผลสุกจะมีสีแดง แตกต่างกับผลแก่ที่เรารับประทานซึ่งเป็นสีเขียว) เพราะการรับประทานผลสุกอาจจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ เพราะมีสารซาโปนิน (Saponin) ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกาย และที่สำคัญไม่ว่าจะสุกหรือไม่ก็ตาม ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้ท้องเสียได้ เพราะผลมะระมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
แหล่งอ้างอิง : www.bittermelon.org, www.thaihealth.or.th, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)