กุยช่าย สรรพคุณและประโยชน์ของกุยช่าย
11 พ.ย. 2563
55,267
0
กุยช่าย สรรพคุณและประโยชน์ของกุยช่าย
กุยช่าย สรรพคุณและประโยชน์ของกุยช่าย

กุยช่าย

กุยช่าย ชื่อสามัญ Garlic chives, Leek, Chinese chives, Oriental garlic, Chinese leek, Kow choi (จีน)

กุยช่าย ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium tuberosum Rottler ex Spreng. จัดอยู่ในวงศ์พลับพลึง (AMARYLLIDACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อย ALLIOIDEAE (ALLIACEAE)

สมุนไพรกุยช่าย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักไม้กวาด (ภาคกลาง), ผักแป้น (ภาคอีสาน), กูไฉ่ (จีนแต้จิ๋ว) เป็นต้น

กุยช่าย มีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ กุยช่ายเขียวและกุยช่ายขาว ซึ่งลักษณะจะไม่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างในเรื่องของกระบวนการปลูกและการดูแลรักษา ในเอเชียตะวันออกแถบภูเขาหิมาลัย จีน อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น จะมีการปลูกกุยช่ายกันอยู่ 2 พันธุ์ นั่นก็คือพันธุ์สีเขียวที่ปลูกทั่ว ๆไปและพันธุ์สีเขียวใบใหญ่สีขาวซึ่งเกิดจากการบังร่ม

ลักษณะของกุยช่าย

  • ต้นกุยช่าย จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงประมาณ 30-45 เซนติเมตร มีเหง้าเล็กและแตกกอ
  • ใบกุยช่าย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ใบแบน ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ที่โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน
  • ดอกกุยช่าย หรือ ดอกไม้กวาด ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีสีขาว มีกลิ่นหอม ลักษณะช่อดอกเป็นแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมตันยาวประมาณ 40-45 เซนติเมตร (ยาวกว่าใบ) ออกดอกในระดับเดียวกันที่ปลายของก้านช่อดอก ด้านดอกมีความเท่ากัน และมีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นก็จะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอกมีสีขาว 6 กลีบ มีความยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร โคนติดกัน ปลายแยก ที่กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อน ๆ จากโคนกลีบไปหาปลาย เมื่อดอกบานจะกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 6 ก้านอยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก และเกสรตัวเมียอีก 1 ก้าน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
  • ผลกุยช่าย ลักษณะของผลเป็นผลกลม มีความกว้างและยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ภายในมีช่อง 3 ช่องและมีผนังตื้น ๆ ผลเมื่อแก่จะแตกตามตะเข็ม ในผลมีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด
  • เมล็ดกุยช่าย มีลักษณะขรุขระสีน้ำตาลแบน

สรรพคุณของกุยช่าย

  1. ช่วยบำรุงกระดูก เนื่องจากใบกุยช่ายมีธาตุฟอสฟอรัสสูง (ใบ)
  2. ช่วยบำรุงกำหนัด กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แก้ปัญหาการหลั่งเร็วในเพศชาย ไร้สมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากกลิ่นฉุนของน้ำมันหอมระเหยของกุยช่ายจะคล้ายกับกลิ่นของกระเทียม เพราะมีสารประกอบจำพวกกำมะถัน ซึ่งมักจะมีสรรพคุณช่วยในเรื่องเพศ (ใบ)
  3. น้ำมันหอมระเหยจากผักกุยช่ายมีสารอัลลิซิน (Alllicin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด (ใบ)
  4. ช่วยป้องกันมะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง (นิตยสารครัว) (ใบ)
  5. ช่วยลดระดับความดัน รักษาโรคความดันโลหิตสูง (นิตยสารครัว) (ใบ)
  6. สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและวัณโรค ให้นำใบของต้นกุยช่ายมาต้มกับหอยน้ำจืดและรับประทานทุกวัน จะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ (ใบ)
  7. ช่วยรักษาโรคหูน้ำหนวก ด้วยการใช้น้ำที่คั้นได้จากใบสดนำมาทาในรูหู (ใบ)
  8. ใช้เป็นยาแก้หวัด (ใบ)
  9. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหลได้เป็นอย่างดี (ราก)
  10. เมล็ดช่วยฆ่าแมลงกินฟัน ด้วยการใช้เมล็ดคั่วเกรียมนำมาบดให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำยางชุบสำลี ใช้อุดฟันที่เป็นรูทิ้งไว้ 1-2 วัน จะช่วยฆ่าแมลงที่กินอยู่ในรูฟันให้ตายได้ (เมล็ด)
  11. ช่วยแก้อาเจียน ด้วยการใช้ต้นกุยช่ายนำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย หรือจะผสมกับน้ำขิงสักเล็กน้อย อุ่นให้ร้อนแล้วนำมารับประทานก็ได้เช่นกัน (ราก, ใบ)
  12. รากสรรพคุณมีฤทธิ์ในการช่วยห้ามเหงื่อ (ราก)
  13. ช่วยรักษาอาการหวัด (ใบ)
  14. ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (ราก)
  15. ช่วยแก้อาการท้องเสีย ด้วยการใช้ต้นกุยช่ายนำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย แล้วนำมารับประทาน (ต้น)
  16. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลมในกระเพาะ ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม (ใบ)
  17. ช่วยแก้อาการท้องผูก เนื่องจากกุยช่ายมีเส้นใยอาหารสูงมาก จึงช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวได้เป็นอย่างดี (ใบ)
  18. ใบใช้ทาท้องเด็กช่วยแก้อาการท้องอืด (ใบ)
  19. เมล็ดใช้รับประทานช่วยขับพยาธิเส้นด้ายหรือพยาธิแส้ม้าได้ (เมล็ด)
  20. ช่วยรักษาแผลริดสีดวงทวาร ช่วยทำให้ริดสีดวงหด ด้วยการใช้ใบสดล้างสะอาดต้มกับน้ำร้อน แล้วนั่งเหนือภาชนะเพื่อให้ไอรมจนน้ำอุ่น หรือจะใช้น้ำที่ต้มล้างที่แผลวันละ 2 ครั้ง หรือจะใช้ใบนำมาหั่นเป็นฝอยคั่วให้ร้อน ใช้ผ้าห่อมาประคบบริเวณที่เป็นจะช่วยทำให้หัวริดสีดวงหดเข้าไปได้ (ใบ)
  21. ต้นและใบสดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคนิ่ว ด้วยการใช้ใบสดและต้นนำมาตำให้ละเอียดผสมกับสุราและใส่สารส้มเล็กน้อย แล้วกรองเอาแต่น้ำมารับประทาน 1 ถ้วยชา (ต้น, ใบ)
  22. ช่วยแก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้เมล็ดกุยช่ายแห้งนำมาต้มรับประทาน หรือจะทำเป็นยาเม็ดไว้รับประทานแก้อาการก็ได้เช่นกัน (เมล็ด)
  23. สรรพคุณกุยช่ายช่วยแก้อาการปัสสาวะขัด (ขัดเบา) (ราก)
  24. เมล็ดใช้รับประทานร่วมกับสุรา ใช้เป็นยาขับโลหิตประจำเดือนที่เป็นลิ่มเป็นก้อนได้เป็นอย่างดี (เมล็ด)
  25. ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี ด้วยการใช้ต้นกุยช่าย น้ำตาลอ้อย ไข่ไก่ นำมาต้มรับประทาน (ต้น)
  26. ช่วยแก้โรคหนองในได้ดี ด้วยการใช้ใบสดและต้นนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับสุราและใส่สารส้มเล็กน้อย แล้วกรองเอาแต่น้ำมารับประทาน 1 ถ้วยชา (ต้น, ใบ)
  27. กุยช่ายมีสรรพคุณช่วยบำรุงไต (ใบ)
  28. ใบกุยช่ายมีสรรพคุณช่วยแก้ลมพิษ (ใบ)
  29. ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยหรือแมงป่องกัด (ใบ)
  30. ช่วยแก้อาการห้อเลือดบริเวณท้อง ด้วยการรับประทานน้ำคั้นจากกุยช่าย (ใบ)
  31. ช่วยแก้อาการฟกช้ำดำเขียว ห้อเลือด และแก้ปวด ด้วยการใช้ใบสดตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณที่ฟกช้ำ หรือจะผสมกับดินสอพองในอัตราส่วน ใบกุยช่าย 3 ส่วน / ดินสอพอง 1 ส่วน นำมาบดผสมกันให้ละเอียดจนเป็นเนื้อเหนียวข้น แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้งจนกว่าจะหาย (ใบ)
  32. ใบใช้ตำผสมกับเหล้าเล็กน้อย นำมารับประทานจะช่วยแก้อาการช้ำใน กระจายเลือดไม่ให้คั่งได้ (ใบ)
  33. ช่วยรักษาแผลที่หนองเรื้อรัง ด้วยการใช้ใบสดล้างสะอาดมาพอกบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)
  34. เมล็ดใช้ทำเป็นยาฆ่าสัตว์ต่าง ๆ ให้ตายได้ ด้วยการนำเมล็ดไปเผาไฟเอาควันรมเข้าในรู (เมล็ด)
  35. ช่วยแก้แมลงหรือตัวเห็บ ตัวหมัดเข้าหู ด้วยการใช้น้ำคั้นจากกุยช่ายนำมาหยอดเข้าไปในรูหู จะช่วยทำให้แมลงหรือเห็บไต่ออกมาเอง (ใบ)
  36. ช่วยบำรุงน้ำนมและขับน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร การที่แม่ลูกอ่อนรับประทานแกงเลียงใส่ผักกุยช่ายจะช่วยบำรุงน้ำนมแม่ได้เป็นอย่างดี (ต้น, ใบ)
  37. ต้นและใบมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ (Antiseptic) และช่วยลดการอักเสบ (ต้น, ใบ)
  38. น้ำมันสกัดจากต้นกุยช่ายมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อ Flavobacterium columnaris ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลานิลตาย และเมื่อนำน้ำมันชนิดนี้ไปผสมกับอาหารเลี้ยงปลาก็จะช่วยลดการตายของปลานิลจากการติดเชื้อชนิดนี้ได้ (น้ำมันสกัดจากต้น)
  39. สำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์แล้วมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือเบื่ออาหาร ให้ใช้น้ำคั้นจากกุยช่าย 1/2 ถ้วย / น้ำขิง 1/2 ถ้วย นำมาผสมกันแล้วนำไปต้มจนเดือด เติมน้ำตาลตามใจชอบแล้วนำมาดื่ม (ใบ)
  40. สำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ มักมีอาการหมดสติ สามารถแก้ด้วยการใช้ใบกุยช่ายสดนำมาสับละเอียด ใส่ในเหล้าที่ต้มเดือดแล้วกรอกเข้าไปในปาก แต่ถ้ามีอาการวิงเวียนศีรษะก็ใช้ใบกุยช่ายสับละเอียดใส่ขวดเติมน้ำส้มสายชูร้อน ๆ ลงไปแล้วนำมาใช้สูดดมแก้อาการวิงเวียนได้ (ใบ)

ข้อควรรู้ ! : ใบและรากของกุยช่ายจะมีสรรพคุณที่คล้าย ๆ กัน โดยในส่วนของใบจะมีฤทธิ์ช่วยกระจายห้อเลือด ด้วยการใช้ใบคั้นเป็นน้ำดื่ม แต่ในส่วนของรากจะออกฤทธิ์ในบริเวณขาได้ดีกว่า

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกุยช่าย

  • น้ำคั้นจากต้นกุยช่ายที่เจริญเติบโตเต็มที่ เมื่อฉีดเข้าไปในเส้นเลือดของหนูทดลอง (ในปริมาณ 0.1-0.5 มิลลิกรัม / 10 กรัม) จะทำให้เกิดอาการเกร็งและเกิดอาการคลุ้มคลั่ง หลังจากนั้นก็สลบ และทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงินเนื่องจากขาดเลือดและออกซิเจน หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมงหนูก็ตาย
  • เมื่อใช้กับกระต่าย จะทำให้ความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย และในระยะแรกจะมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเต้นของหัวใจ หลังจากนั้นจะมีฤทธิ์กระตุ้น หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นในช่วงที่หัวใจคลายตัว
  • มีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือดเพียงเล็กต่อขาหลังของกบและกระต่าย

ประโยชน์ของกุยช่าย

  1. ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  2. ผักกุยช่าย มีฤทธิ์ร้อน ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายได้ มันจึงเหมาะอย่างมากที่จะรับประทานในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูฝนที่มีอากาศชื้น
  3. ช่วยบำรุงและรักษาสายตา เนื่องจากผักกุยช่ายมีวิตามินเอที่ช่วยในการมองเห็น
  4. ช่วยบำรุงกระดูก เนื่องจากต้นกุยช่ายมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง
  5. กุยช่ายมีธาตุเหล็กสูง ซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดต่ำ รักษาภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำ แก้อาการอ่อนเพลีย (พบได้บ่อยในผู้ป่วยไข้เลือดออก ผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นหลังการเจ็บป่วย จากการผ่าตัดหรือคลอดบุตร) เม็ดเลือดแดงประกอบด้วยฮีโมโกลบินที่ทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย
  6. ประโยชน์ของใบกุยช่าย ช่วยปรุงแต่งรสอาหารให้อร่อยมากยิ่งขึ้น
  7. กุยช่ายนิยมใช้รับประทานเป็นอาหาร ด้วยการใช้ดอกนำมาผัดกับตับหมู หรือจะใช้ใบสดรับประทานกับลาบหรือผัดไทยก็ได้ นอกจากนี้ยังใช้ใบนำมาทำเป็นไส้ของขนมกุยช่ายอีกด้วยครับ

คุณค่าทางโภชนาการของดอกกุยช่าย ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 38 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 6.3 กรัม
  • เส้นใย 3.4 กรัม
  • ไขมัน 0.2 กรัม
  • เบตาแคโรทีน 152.92 ไมโครกรัม
  • วิตามินซี 13 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 31 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.6 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม

คุณค่าทางโภชนาการของต้นกุยช่าย ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 28 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 4.1 กรัม
  • เส้นใย 3.9 กรัม
  • ไขมัน 0.3 กรัม
  • เบตาแคโรทีน 136.79 ไมโครกรีม
  • ธาตุแคลเซียม 98 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม

ข้อควรระวังในการรับประทานกุยช่าย

  • การรับประทานกุยช่ายในปริมาณมากเกินไปอาจจะทำให้ธาตุในร่างกายร้อนและทำให้เป็นร้อนใน
  • ไม่ควรรับประทานกุยช่ายหลังจากการดื่มเหล้า เพราะจะทำให้ธาตุในร่างกายร้อนเข้าไปอีก
  • สำหรับผู้ที่ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ค่อยดี ไม่ควรรับประทานกุยช่ายในปริมาณมาก เพราะกุยช่ายมีเส้นใยมากเกินไปทำให้ย่อยยาก ถ้ารับประทานมากเส้นใยจะกระตุ้นลำไส้ ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวมากขึ้น ทำให้ท้องเสีย แนะนำว่าให้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมจะดีกว่า
  • ไม่ควรเลือกรับประทานกุยช่ายแก่ เพราะกุยช่ายยิ่งแก่มากเท่าไหร่ยิ่งมีปริมาณเส้นใยมากและเหนียวมาก ทำให้ยิ่งย่อยมากยิ่งขึ้น

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรคในปลา. (พงศ์ศักดิ์ รัตนชัยกุลโสภณ และปาริชาติ พุ่มขจร.), ดร.อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์ นักวิจัยทางด้านโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (วิทิต วัณนาวิบูล), นิตยสารครัว ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2544 หน้า 34

ภาพประกอบ : วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี (EN), ครัวบ้านพิม (pim.in.th), เว็บไซต์ pantip.com (by Calamity), เว็บไซต์ banmuang.co.th (by กิตติภณ เรืองแสน)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

ตกลง