นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมนำเสนอผลงาน ของผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วย นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมธารทิพย์ 01 ชั้น 4 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน ว่า การประชุมนำเสนอผลงานของผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 12 ท่าน ได้นำเสนอผลงานในการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา และให้ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานตามภารกิจที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิด การพัฒนาภาคเกษตรให้มีความเข้มแข็ง เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการตรวจราชการ โดยเน้นให้ผู้ตรวจราชการกระทรวง ตรวจราชการตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากบริการของรัฐ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ตรวจติดตามการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญทุกมิติส่งผลให้การขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญ มีผลการดำเนินงานคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม
โดยได้กำหนดประเด็นการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตาม 9 นโยบายสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1) จัดตั้ง “ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช” 2) ขับเคลื่อนภารกิจ ยกระดับ MR. สินค้าเกษตร 3) ป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู รับมือภัยแล้ง หรือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 4) ปราบปราม การลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย 5) ผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง 6) ส่งเสริมเกษตรกร สถาบันเกษตรกร เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรแบบครบวงจร 7) ทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) ด้วย BCG หรือ Carbon Credit 8) สร้างระบบประกันภัยเกษตรกรไทย สุขใจถ้วนหน้า และ 9) บริการทางการเกษตรที่ใช่ เลือกใช้ให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังรวมถึง 8 ประเด็นข้อสั่งการ ได้แก่ 1) เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร 2) โครงการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เกษตรกร ที่ได้รับการพักชำระหนี้ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร อันเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจและสังคมไทย และผลักดันให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง สามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตอันใกล้