หลังจากเป็นที่แน่ชัดว่า วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะยังอยู่คู่กับโลกเราไปอีกนาน ทั้งวงการยาและวงการอาหารก็ดูจะมีปฏิกิริยาตอบรับต่อสถานการณ์นี้อย่างเคร่งครัดจริงจัง ในส่วนของอาหาร ผมคิดว่าได้เห็นความสนใจใส่ใจต่อสรรพคุณอาหารที่คนกินเข้าไปมากขึ้น ยังผลให้คำขวัญประจำใจที่แต่ก่อนดูเหมือนจะแค่ท่องๆ กัน ก็เริ่มมีคนสนใจมากขึ้น นั่นก็คือการ “กินอาหารเป็นยา” ซึ่งเท่าที่ผมเคยได้ยินนั้น มีการพูดเรื่องนี้มาตั้งกว่า 30 ปีแล้วเห็นจะได้
ในฐานะคนสนใจเรื่องอาหาร ผมก็ย่อมดีใจเป็นธรรมดา เพราะว่าการที่คนเราตัดสินใจจะกิน-ไม่กินอะไรนั้น มันย่อมส่งผลต่อเรื่องราวแวดล้อมอื่นๆ อีกมากมายนัก นอกเหนือจากผลต่อสภาพร่างกายของคนๆ นั้นเอง
เมื่อค่ำวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีวงเสวนาออนไลน์เรื่องกินอาหารให้เป็นยา จัดโดย มูลนิธิชีววิถี มีคนมาพูดเรื่องน่าสนใจหลายคนครับ ลองเสิร์ชหาฟังย้อนหลังกันได้ ผมเองสนใจประเด็นของ ดร.อุษา กลิ่นหอม อดีตอาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์พูดเรื่อง “รส” ของตัวยาในพืชผักได้อย่างน่าเอาไปคิดต่อ จึงจะขอสรุปตามความเข้าใจของผมมาลองให้อ่านกันดูนะครับ และเลยจะเล่าความเห็นของผมในเรื่องนี้ กับทั้งประสบการณ์ในการทำ “ยา” ให้เป็นอาหาร ว่ามันทำได้อร่อยจริงๆ ด้วย
เฉพาะประเด็นเรื่อง “กินผักเป็นยา” นั้น อาจารย์อุษา ยืนยันว่า มีงานวิจัยมากมายที่ระบุว่าการกินผักหลายชนิดช่วยต้านอนุมูลอิสระ (free radicals) ที่ก่อให้เกิดโรคร้ายสารพัดในร่างกายมนุษย์ การกินผักยังช่วยรักษาอาการอักเสบ ทำให้ร่างกายได้รับวิตามินและเกลือแร่เสริมอย่างพอเพียง ที่น่าสนใจ คือมีผักกว่า 200-300 ชนิด ในภูมิภาคต่างๆ ที่สามารถปลูกและเก็บมาปรุงอาหารได้ แม้ว่าทุกวันนี้ คนจะรู้จักผักน้อยกว่าแต่ก่อน แต่ทว่าผักพื้นบ้านเท่าที่มีขายในท้องตลาดก็ยังมากพอสำหรับผู้ที่ต้องการกินเป็นยา เสริมความแข็งแรงให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย