แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน ปี 2566
12 ก.ค. 2566
114
359
แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน
แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน ปี 2566

 

               ด้วยประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะเริ่มประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งช้ากว่าปกติเล็กน้อย และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566 โดยปริมาณฝนรวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5-10 และจะน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยทั้งในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงเดือนกรกฎาคม) และช่วงครึ่งหลังฤดูฝน (เดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนตุลาคม) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5-10

               ช่วงประมาณปลายเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนมิถุนายน บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ กับจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ประกอบกับในบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ นอกจากนี้ในบางช่วงจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวบริเวณทะเลอันดามัน แล้วทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่นหรือพายุไซโคลน และเคลื่อนตัวเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทย

               จากนั้น ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง และจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน

               สำหรับช่วงตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะกลับมามีฝนตกชุก หนาแน่นอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย จะกลับมามีกำลังแรงและต่อเนื่อง ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่าน บริเวณประเทศไทยตอนบนในบางช่วง

               ส่วนในเดือนตุลาคม บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงและเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตอนบนของภาคเหนือ นอกจากนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้    ที่พัดปกคลุมประเทศไทย จะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมแทน

               ข้อควรระวัง บางช่วงจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันหลายวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวอากาศประจำวันอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ คาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย    1-2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ช่วงที่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้หรือเคลื่อนผ่านประเทศไทย จะมีลักษณะของพายุลมแรง ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติ และขอให้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีพายุหมุนเขตร้อน

               ดังนั้น ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ จึงได้จัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูฝน ปี 2566 ซึ่งเป็นการเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย ดินโคลนถล่ม ฝนทิ้งช่วง และศัตรูพืชระบาด ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร สร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตด้านการเกษตรเป็นวงกว้าง และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

          ที่มา : ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ (สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและโครงการพิเศษ โทรศัพท์ 045-523091-2) 

ตกลง