“ป่าไม้” มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อวิถีชีวิตของชุมชนในสังคมชนบท ในฐานะเป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเห็ดป่า แต่เนื่องจากการให้ผลผลิตของเห็ดป่าในแต่ละปีไม่แน่นอนอยู่กับปัจจัยแวดล้อมตามธรรมชาติ อีกทั้งผลผลิตเห็ดป่าลดน้อยลงทุกปี เนื่องจากความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ ความแห้งแล้ง และการทำลายระบบนิเวศป่าไม้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณา มังกิตะ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และดร.สุจิตรา โกศล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าวและต้องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างชาญฉลาดและยั่งยืนแก่ชุมชน ด้วยการสร้างแหล่งอาหารโดยการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซากินได้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้เกิดชุมชนไม้มีค่า ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความรักและดูแลต้นไม้ที่ปลูกอย่างประณีตแบบอินทรีย์ งดการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช ลดการใช้ปุ๋ยเคมี