รศ.ดร.สมชาย กล้าหาญ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แนะนำว่า การตัดแต่งกิ่งมะม่วงนั้น เริ่มตั้งแต่งเมื่อมะม่วงยังเป็นต้นกล้าอยู่ โดยเฉพาะมะม่วงที่เพาะในถุงพลาสติกหรือเพาะลงในแปลงปลูก และเวลาที่ปลูกลงหลุมจำเป็นต้องตัดแต่งรากและใบเพื่อลดการคายน้ำลงด้วยประการหนึ่ง
ซึ่งระบบการตั้งพุ่มต้นมะม่วงนั้น นิยมเปิดกลางของทรงพุ่มให้โปร่งโดยเฉพาะการปลูกในระบบปลูกชิด จำนวนต้นที่ปลูกหนาแน่น ถ้าทรงต้นหนาทึบอาจจะทำให้เป็นที่สะสมของโรคและแมลงศัตรูได้ โดยเฉพาะโรคแอนแทรกโนส ฉะนั้นต้องตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ระบบกิ่งภายในทรงพุ่มโปร่ง เพื่อแก้ปัญหาโรคแมลงได้น้อยลง
ระบบการเลี้ยงกิ่งข้างนี้จะทำให้การตั้งพุ่มของมะม่วงมีทรงพุ่มได้ดีคือ จากช่วงที่ 1 เลี้ยงกิ่งไว้ 1-2 กิ่ง พอช่วงที่ 2 เลี้ยงกิ่งที่แตกจากช่วงที่ 1 ไว้กิ่งละ 3 กิ่ง รวมกันเป็น 6 กิ่ง พอช่วงที่ 3 เลี้ยงไว้ 18 กิ่ง (1-2-6-18) การแตกกิ่งของมะม่วงแตกด้านข้างละ 3 ช่วง และรวมทั้งการเลี้ยงกิ่งจากลำต้นอีก 2 ช่วง รวมเป็น 5 ช่วง จะใช้เวลาเลี้ยงดูทั้งหมดประมาณ 7-8 เดือน การเลี้ยงระบบนี้กิ่งจะค่อยๆ โปร่งขึ้นและโคนกิ่งแข็งแรง กิ่งจะไม่หักหรือห้อยลงมาขณะที่มะม่วงติดผล
close
arrow_forward_iosคลิก
pause
volume_off
Play 00:00
00:01
01:31
Unmute
Play
จุดประสงค์ของการตัดแต่งกิ่งมะม่วงระบบปลูกชิด
รศ.ดร.สมชายยังบอกข้อดีของการตัดแต่งกิ่งมะม่วงไว้ ดังนี้ 1. เพื่อเอาโครงสร้างให้ทรงพุ่มและลำต้นเตี้ย จะเริ่มตัดเมื่อยอดพันธุ์ดีเจริญได้สูงจากพื้นดิน 2 ฟุต หรือ 2 ชั้นใบ และเมื่อกิ่งที่แตกออกมาใหม่ซึ่งแตกจากตาข้างนั้น เราก็เริ่มตัดกิ่งหรือปลิดกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออกเพื่อให้ได้โครงสร้างตามที่เราต้องการให้เหลือไว้ 2 กิ่ง หรืออาจจะไว้ 3 กิ่งก็ได้ (ในขั้นแรก)
2. เพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติงาน มะม่วงระบบปลูกชิดนั้น เมื่อเราตัดแต่งกิ่งแล้วจะได้ลักษณะรูปทรงพุ่มต้นเตี้ยสะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น ฉีดสารเคมี การเก็บเกี่ยวผล การใส่ปุ๋ย ซึ่งการปลูกมะม่วงระบบชิดต้นเตี้ย การเก็บเกี่ยวมะม่วงก็จะไม่เกิดความเสียหายหรือเกิดขึ้นน้อย
3. เพื่อให้ปริมาณกิ่งและผลสมดุลกับลำต้นและธาตุอาหาร คือตัดแต่งเพื่อให้มะม่วงมีจำนวนกิ่งที่ออกดอก และถือผลในปริมาณที่พอดีกับสัดส่วนของลำต้นและปริมาณธาตุอาหาร ซึ่งจะทำให้ได้ผลมะม่วงที่สมบูรณ์เป็นที่ต้องการของตลาด ถ้าหากไม่ได้ตัดแต่งกิ่งมะม่วงจะติดผลมาก กิ่งใบมาก จะทำให้ผลเล็กและอาจทำให้มะม่วงทรุดโทรมได้
4. เพื่อป้องกันโรคและแมลง การปลูกมะม่วงระบบชิด ถ้าไม่ทำการตัดแต่งกิ่งจะทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและแมลงได้ เพราะจำนวนต้นมะม่วงที่ปลูกต่อไร่นั้นมีความหนาแน่น และถ้าไม่ตัดจะทำให้ทรงพุ่มทึบ แสงแดดส่องเข้าไปไม่ถึงบริเวณโคนกิ่งจะทำให้เกิดโรคจากเชื้อราได้หรือเป็นที่หลบซ่อนหรือวางไข่ของพวกแมลงศัตรูได้
การตัดแต่งกิ่งมะม่วงแบบเลี้ยงยอด 2 และ 3 กิ่ง
ที่มา : สนั่น ขำเลิศ, 2527
รูปแบบของการตัดแต่งกิ่งในระบบปลูกชิด
การปลูกมะม่วงในระบบปลูกชิดนั้น ต้องการตัดทรงพุ่มเตี้ย แคระเป็นหลัก รูปแบบที่นิยมใช้และเหมาะสมกับการปลูกมะม่วงระบบปลูกชิดนั้น คือแบบทรงแจกันซึ่งทำได้โดยตัดยอดหรือวิธีเดียวกันกับตั้งพุ่มต้น ซึ่งได้กล่าวมาแล้วคือ การตัดยอดหรือลำกระโดงให้สูงจากพื้นดินประมาณ 2 ฟุต หรือ 2 ชั้นใบ และเมื่อมียอดใหม่แตกออกมาตามด้านข้างของลำต้น เลือกกิ่งบริเวณบนสุดไว้ประมาณ 2-3 กิ่ง และเลือกกิ่งที่มีขนาดใกล้เคียงกันมากที่สุด และมีระยะห่างพอดีทำให้เกิดทรงพุ่มคล้ายแจกัน มีช่องว่างตรงกลางพุ่ม ถ้าหากตัดกิ่งกระโดงในขั้นแรกให้อยู่ในระดับที่เตี้ย ก็จะทำให้ทรงพุ่มต้นมะม่วงเตี้ย และถ้าตัดกิ่งที่แตกออกมาชุดแรกอีกแต่ละกิ่งจะแตกยอดอ่อนออกมาหลายยอด ในแต่ละกิ่งเลือกเอาไว้ 2 ยอด หรือ 3 ยอด การตัดยอดนั้นไม่ควรทำเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้ทรงพุ่มมะม่วงทึบเกินไป ซึ่งการตัดแต่งกิ่งมะม่วงแบบแจกันนี้ จะทำให้มะม่วงมีการกระจายผลดีมาก ผลมะม่วงจะมีคุณภาพดี ทรงพุ่มโปร่ง แต่อาจทำให้กิ่งฉีกหักได้ง่าย
สำหรับการตัดแต่งกิ่งมะม่วงระบบชิดในต้นที่ให้ผลแล้ว การตัดแต่งมะม่วงระยะนี้แบ่งทำ 2 ครั้ง คือ
การตัดแต่งครั้งแรก ควรทำการตัดแต่งกิ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วทุกปี ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่ฝนเริ่มตกแต่มะม่วงยังไม่แตกยอดอ่อน เลือกกิ่งเริ่มจากโคนกิ่งใดกิ่งหนึ่งจนถึงปลายกิ่ง กิ่งที่ควรตัดทิ้งนั้นคือ กิ่งกระโดง หรือกิ่งน้ำค้าง กิ่งแห้ง กิ่งที่มีกาฝาก กิ่งที่ทับซับซ้อนกันหลายๆ กิ่ง กิ่งที่ทำมุมแคบเกินไป และกิ่งที่ไม่สามารถยื่นออกไปรับแสงแดดได้เป็นต้องตัดออกเพื่อให้ได้ทรงพุ่มโปร่งและรูปทรงที่เราต้องการ และหลังจากตัดกิ่งแล้วควรใช้สารเคมีฉีดเพื่อจำกัดโรคและแมลง
BETAOLI
เตือนภัยไขมันในเลือดสูง! แก้ด้วยน้ำมันธรรมชาติต้านหลอดเลือดตีบ
เรียนรู้เพิ่มเติม
การตัดแต่งกิ่งครั้งที่ 2 เริ่มตัดเมื่อฝนหมดแล้วเพื่อเป็นการให้มะม่วงออกดอก โดยการตัดกิ่งที่เกิดจากการตัดในครั้งแรก เพื่อลดจำนวนกิ่งให้น้อยลงจะได้ไม่แย่งอาหารและน้ำจากลำต้น จะทำให้กิ่งที่เหลือนั้นสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมที่จะออกดอกติดผลต่อไป
สูตรการตัดแต่งกิ่งมะม่วง
ที่มา : กองบรรณาธิการกลุ่มบัณฑิตเกษตรก้าวหน้า, 2531
วิธีการตัดแต่งกิ่งในระยะชิด
1. จะเป็นการสร้างโครงสร้างให้กับต้นมะม่วงที่ปลูก ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงยอดหรือลำต้นที่เกิดจากการติดตา ต่อกิ่ง จนมีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร หรือประมาณ 2 ฟุตขึ้นไป (ถ้ามะม่วงเป็นกิ่งทาบ ปกติจะมีความสูงพร้อมที่จะตัดแต่งได้เลย)
2. ใช้เล็บสะกิดยอดออก หรือใช้ปลายมีดปาดเป็นรูปสามเหลี่ยม ตัดตายอดออกเพื่อให้ตาข้างที่อยู่ใกล้ในระดับเดียวกันแตกออกเป็นกิ่งข้าง ปล่อยให้ตาข้างแตกเป็นอิสระ เมื่อกิ่งแตกออกมามีความยาว 3-4 นิ้ว เลือกกิ่งที่แข็งแรง มีขนาดใกล้เคียงกันไว้ 2-3 กิ่ง และควรมีทิศทางที่เป็นมุมพอดีได้ระยะกัน ไม่แคบหรือกว้างเกินไป (กิ่งที่ทำมุมแคบเกินไปคือกิ่งที่ทำมุมกับลำต้นน้อยกว่า 45 องศา แต่ต้องไม่กว้างเกิน 60 องศา)
3. เป็นยอดที่เลี้ยงไว้ 2-3 กิ่ง เป็นใบแก่ให้ทำลายยอดของกิ่งใหม่อีกครั้งเพื่อให้แตกกิ่งแขนงพร้อมกัน และเลือกไว้ยอดละ 2 กิ่ง เลือกกิ่งที่สมบูรณ์สม่ำเสมอกัน พร้อมทั้งอยู่ตำแหน่งตรงข้าม มีง่ามกิ่งกว้าง มุมที่ง่ามกิ่งประมาณ 60 องศา ถึงขั้นนี้ยอดทั้งหมดจะได้ 6-9 ยอด
4. เมื่อยอดชั้นที่ 2 เลี้ยงไว้ 6 หรือ 9 กิ่ง ใบแก่อีกครั้งก็จะทำลายยอดเช่นกัน ขั้นตอนที่ 2 และ 3 และเลี้ยงไว้ยอดละ 3 กิ่ง มุมที่ง่ามกิ่งประมาณ 45 องศา ก็จะได้ยอกดรั้งสุดท้าย เท่ากับ 18 หรือ 21 กิ่ง
ถ้าเขียนเป็นสูตรตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงขั้นสุดท้าย คือ
1-2-6-18 หรือ 1-3-9-21
หรืออาจจะตัดแต่งสูตร 1-3-6-18 ก็ได้
สูตร 1-2-6-18
สูตร 1-3-9-21
สูตร 1-3-6-1
การตัดแต่งกิ่งมะม่วงที่ให้ผลในระยะชิด
การปลูกมะม่วงในระบบระยะชิดเมื่อปลูกไปได้ 3 ปี ถึงปีที่ 4 เป็นช่วงที่จะเริ่มให้ต้นมะม่วงออกดอกและผลอย่างเต็มที่ และเมื่อเก็บผลผลิตเก็บเกี่ยวไปแล้วจะต้องทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มของต้นมะม่วงให้มีขนาดที่เท่าเดิม มิฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาทรงพุ่มใหญ่เกินไป มีผลต่อการออกดอกติดผลในครั้งต่อไป และไม่สะดวกในการปฏิบัติงานภายในสวน
การตัดแต่งกิ่งมะม่วงในระบบชิดที่ให้ผลแล้ว
ที่มา : สนั่น ขำเลิศ, 2527
ตัดแต่งกิ่งมะม่วงในระบบชิดที่ให้ผลแล้ว ควรทำดังนี้ คือ
มะม่วงที่ปลูกในระยะชิด เมื่ออายุประมาณ 3-6 ปี ทรงพุ่มก็เริ่มจะชนกัน การตัดแต่งกิ่งจะต้องตัดให้เหลือสั้น โดยตัดจากปลายกิ่งลึกเข้ามา 3 ช่วงใน ทุกกิ่ง ทุกต้น ซึ่งตัดแล้วทรงพุ่มของต้นมะม่วงจะเหลือประมาณ 2 ช่วงใบ (ช่วงการเจริญ) และการตัดในครั้งต่อๆ ไป ก็จะทำในลักษณะเดียวกันนี้ แต่จะเหลือโคนกิ่งของช่วงใบที่ 3 ติดอยู่ที่ปลายกิ่ง ช่วงใบที่ 2 กิ่งยาวประมาณ 10 เซนติเมตร โดยเลือกเอากิ่งที่แตกเข้าพุ่มไว้ เพื่อป้องกันมิให้ทรงพุ่มขนาดเกิน 1 เมตร จะทำให้มีพื้นที่ว่างระหว่างต้นได้กว้างขึ้น สะดวกต่อการปฏิบัติงานต่างๆ ภายในสวน
การแตกของกิ่งจะอาศัยตาที่โคนกิ่ง เมื่อกิ่งที่แตกออกมาโตพอสมควร ควรจะทำการปลิดกิ่งที่ไม่ต้องการออก เหลือไว้แต่กิ่งที่เจริญเหมาะสม
การตัดแต่งกิ่งในลักษณะนี้ ควรจะต้องมีการวางแผนและเตรียมการไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ซึ่งจะทำให้ยอดที่แตกออกมาแก่และสมบูรณ์พอที่จะออกดอกได้ในปีนั้นเลย ถ้าไม่มีการเตรียมการไว้ก่อนตัดแต่งช้าเกินไป จะส่งผลต่อผลผลิตที่จะได้ในปีนั้นอาจจะลดลงไปได้มาก และควรจะตัดแต่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งยอดก็จะแก่ในเดือนพฤศจิกายน ใช้เวลาประมาณ 5 เดือน นับตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งที่มีอายุขนาดนี้จะสามารถออกดอกติดผลได้ดี
ให้ผลผลิตดีสม่ำเสมอ