กษ.อำนาจเจริญ ร่วมนำเสนอผลงานของ นายวันนา บุญกลม ผู้เข้ารับการสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2568 ระดับเขตตรวจราชการที่ 14 (16/10/67)
16 ต.ค. 2567
37
0
กษ.อำนาจเจริญร่วมนำเสนอผลงานของ
กษ.อำนาจเจริญ ร่วมนำเสนอผลงานของ นายวันนา บุญกลม ผู้เข้ารับการสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2568 ระดับเขตตรวจราชการที่ 14 (16/10/67)

          วันพุธที่ 16 ตุลาคม 2567 นายชาญวิทย์ ธานี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและโครงการพิเศษ สำนักงานฯ เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานสรรหาปราชญเกษตรของแผ่นดินระดับเขต (เขตตรวจราชการที่ 14) ประจำปี 2568 ผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Meeting  โดยมีนายกฤต อุตตมะเวทิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขต 14 เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยคณะทำงานฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลในแต่ละสาขาของปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อเป็นตัวแทนเขตตรวจราชการที่ 14 ไปพิจารณาคัดเลือกเพื่อประกาศแต่งตั้งให้เป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ในปี พ.ศ. 2568 ต่อไป

          เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ ได้นำเสนอข้อมูลเกษตรกรตัวแทนของจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อเข้ารับการสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2568 ระดับเขตตรวจราชการที่ 14 คือ นายวันนา  บุญกลม อายุ 56 ปี  เกษตรกรบ้านห้วยไร่ ตำบลห้วยไร่ อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ มีประสบการณ์ในการทำงานภาคเกษตร 40 ปี (เริ่มปี 2526) กิจกรรมการเกษตรที่ดำเนินงาน ทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ สวนไผ่ และสวนมะม่วงหิมพานต์  นายวันนา เป็นผู้นำชุมชนและเครือข่ายที่มีผลงานสร้างสรรค์พัฒนาสังคมการเกษตร มีการจดทะเบียนเครือข่ายถูกต้อง มีวัตถุประสงค์เป้าหมายและคณะกรรมการบริหารจัดการที่ชัดเจน เป็นเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ มีความสัมพันธ์กับสมาชิกทั้งในระดับชุมชน และระดับจังหวัด ตลาดสินค้าอินทรีย์สร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดี คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ได้ความยอมรับจากสังคม มีคุณธรรม จริยธรรมและความเสียสละ

          ผลงานเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับ อาทิ  รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน ระดับดีเด่น ปี 2566 รางวัลชนะเลิศ “วิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับประเทศ” ปี 2566 ฯลฯ  ผลงานสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น สามารถอนุรักษ์และปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้สมบูรณ์ ลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตปลอดภัยต่อผู้บริโภค ส่งเสริมด้านสุขภาพแก่สมาชิกและให้ความรู้เฝ้าระวังโรคที่เกิดขึ้นจากการทำเกษตรกรรม สามารถลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชลงได้ แก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าการเกษตรที่มีสารเคมีที่เป็นพิษเจือปนและถูกประเทศผู้นำเข้ากีดกันสินค้าการเกษตรจากประเทศไทย ลดภาระงบประมาณของรัฐในการดำเนินการควบคุมตามกฎหมายและตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผลผลิตการเกษตรลงได้ เครือข่ายฯ มีระบบการรับสมัครสมาชิกที่ชัดเจนกระจายครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัด สามารถวางแผนระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ร่วมกัน วางแผนการตลาดเพื่อกระจายผลผลิตข้าวอินทรีย์ ได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ

          ตัวอย่างความสำเร็จในการนำผลงานไปปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรใช้การตลาดนำการผลิตขยายกำลังการผลิตเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี “ศูนย์เรียนรู้ข้าวอินทรีย์เมืองธรรมเกษตร” พัฒนาการปลูกพืชอินทรีย์ให้หลากหลายเพื่อเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์พืชใหม่ในอนาคต เป็นแหล่งผลิตข้าวเปลือกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ FAIRRADE,EU, NOP, JAS, และ COFCC มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อส่งออกยุโรปและอเมริกา พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแลนด์มาร์ก (landmark) ต้นแบบการผลิตข้าวอินทรีย์ และการดำเนินงานของเครือข่ายฯ สอดคล้องกับแผนพัฒนาการขับเคลื่อนประเทศด้วย BCG Model และมีผลงานในระดับประเทศและต่างประเทศผลผลิตข้าวอินทรีย์ของสมาชิกในเครือข่ายได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศโดยเป็นตลาดต่างประเทศร้อยละ 90 ตลาดภายในประเทศร้อยละ 10 มีการบูรณาการร่วมกับกับภาคีเครือข่ายบริษัทผู้ตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งสินค้าไปยุโรปและอเมริกา

ตกลง