ข้าวตั้งท้องกลางฝน เฝ้าระวังโรคเมล็ดด่าง
30 ต.ค. 2567
4
0
ข้าวตั้งท้องกลางฝน เฝ้าระวังโรคเมล็ดด่าง
ข้าวตั้งท้องกลางฝน เฝ้าระวังโรคเมล็ดด่าง

ข้าวตั้งท้องกลางฝน เฝ้าระวังโรคเมล็ดด่าง

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรหมั่นสำรวจนาข้าวที่อยู่ในระยะตั้งท้องใกล้ออกรวง เฝ้าระวังโรคเมล็ดด่างในข้าว โดยจากสถานการณ์ล่าสุดพบรายงานจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่จังหวัดสระบุรีว่า พบพื้นที่นาข้าวแสดงอาการของโรคเมล็ดด่างแล้ว 41 ไร่ ซึ่งได้เร่งเข้าควบคุมไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายหรือใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เป็นโรคในฤดูกาลปลูกต่อไป รวมถึงเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวัง วิธีการป้องกันและกำจัดโรคเมล็ดด่างในข้าวให้แก่เกษตรกรในจังหวัดสระบุรีและพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้เกิดการตระหนักเท่าทันสถานการณ์ในช่วงที่มีฝนตกระยะนี้ และพร้อมรับมีได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

ลักษณะอาการของโรคเมล็ดด่าง สังเกตได้ตั้งแต่ระยะที่ดอกข้าวเริ่มโผล่จากกาบหุ้มรวงจนถึงระยะเมล็ดข้าวเริ่มเป็นน้ำนม จะพบแผลเป็นจุดสีน้ำตาลหรือสีดำที่เมล็ด บางส่วนมีลายสีน้ำตาลดำ และบางครั้งอาจพบสีเทาปนชมพูบนเมล็ดข้าว เนื่องจากมีเชื้อราหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคเมล็ดด่างเข้าทำลาย และอาการของโรคเมล็ดด่างจะประกฎเด่นชัดยิ่งขึ้นในระยะใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งเชื้อราของโรคจะสามารถแพร่กระจายไปกับลม และติดไปกับเมล็ดพันธุ์

วิธีการป้องกันกำจัด เกษตรกรควรหลีกเลี่ยงพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อโรค เช่น สุพรรณบุรี 60 เป็นต้น และคัดเลือกพันธุ์ปลูกจากแปลงที่ไม่เป็นโรค จากนั้นควรป้องกันการเกิดโรคโดยแช่เมล็ดพันธุ์ด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ต่อเมล็ดข้าว 100 กิโลกรัม ก่อนนำไปปลูก หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ หรือคาร์เบนดาซิม ในอัตรา 3 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ข้าว 1 กิโลกรัม ก่อนนำไปปลูกได้เช่นกัน หากในกรณีเมื่อพบโรคเมล็ดด่างและควบคุมไม่ให้แพร่กระจาย ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มา ในอัตราส่วน 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 200 ลิตร และในระยะที่ข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวง หากมีฝนตกชุก ควรป้องกันการเกิดโรค โดยพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไดฟีโนโคนาโซลผสมกับโพรพิโคนาโซล หรือโพรพิโคนาโซลผสมกับไพรคอลราช หรือคาร์เบนดาซิม ในอัตราส่วนและวิธีการใช้ตามคำแนะนำในฉลากบนบรรจุภัณฑ์

เนื่องจากโรคนี้มักพบในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวข้าว จึงสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้โดยไม่นำพันธุ์ที่เป็นโรคมาเพาะปลูกอีกในฤดูกาลต่อไป ทั้งนี้ หากพบอาการของโรคเมล็ดด่างในข้าวแล้ว ควรเร่งควบคุมสถานการณ์อย่างถูกต้องเหมาะสมตามคำแนะนำของกรมการข้าว หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน

ตกลง