ระวัง โรคลำต้นไหม้ (เชื้อรา Phomopsis asparagi) ในหน่อไม้ฝรั่ง
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคลำต้นไหม้ (เชื้อรา Phomopsis asparagi) อาการเริ่มแรก พบลำต้นเป็นจุดฉ่ำน้ำเล็ก ๆ รูปกระสวย จากนั้นจุดจะขยายใหญ่ตามแนวยาวของลำต้น เป็นแผลยาวรีคล้ายรูปไข่ มีสีม่วงหรือสีน้ำตาลเข้ม ตรงกลางแผลสีน้ำตาลอ่อน พบส่วนของเชื้อราเป็นตุ่มสีดำเล็ก ๆ กระจายทั่วแผล ถ้าอาการรุนแรง จะพบแผลกระจายทั่วลำต้น ทำให้ลำต้นไหม้ แห้ง ต้นจะหักตรงรอยแผล นอกจากนี้ยังพบอาการของโรคได้บนกิ่ง ก้าน และใบ ทำให้ใบร่วง ต้นทรุดโทรม และแห้งตายในที่สุด
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคตัดส่วนที่เป็นโรค หรือถอนต้น นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรค
2. พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น อะซอกซีสโตรบิน 25% SC อัตรา 5 - 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม 50% SC อัตรา 10 - 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน ไม่ควรพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานาน
3. นำต้นที่ตัดแต่งและถอน จากการพักต้น ไปทำลายนอกแปลงปลูก
4. เมื่อรื้อแปลงเพื่อปลูกใหม่ ไม่ควรไถกลบต้นที่เป็นโรคลงไปในดิน เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคสามารถอยู่ข้ามฤดูในเศษซากพืช
5. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรครุนแรงควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของโรค