ระวัง เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ในมันสำปะหลัง
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศแห้งแล้ง เตือนผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง พบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ตามส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลัง เช่น ใบ ยอด และตา โดยเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังดูดน้ำเลี้ยงแล้วขับถ่ายมูลของเหลวออกมา ทำให้เกิดราดำบนใบ มันสำปะหลังสังเคราะห์แสงได้น้อย เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ โค้งงอ ใบหงิกยอดแตกพุ่มหรือแห้งตาย
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
ก่อนปลูก
๑. ไถและพรวนดินหลายๆ ครั้ง เพื่อลดปริมาณของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่อยู่ในดิน
๒. ใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง
๓. แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลง เป็นเวลา ๕-๑๐ นาที โดยเลือกใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ไทอะมีทอกแซม ๒๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๔ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด ๗๐% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๔ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือไดโนทีฟูแรน ๑๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๔๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
หลังปลูก
เมื่อมันสำปะหลังอายุ ๑-๔ เดือน ควรสำรวจการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ถ้าพบการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้ทำการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. ถอนต้นมันสำปะหลังและเก็บทำลาย
๒. พ่นสารฆ่าแมลงเฉพาะจุดที่พบเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โดยเลือกใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ไทอะมีทอกแซม ๒๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๔ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด ๗๐% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๔ กรัมต่อ น้ำ ๒๐ ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน ๑๖% เอสจี อัตรา ๑๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน ๑๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๒๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ โพรไทโอฟอส ๕๐% อีซี อัตรา ๕๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ พิริมิฟอส-เมทิล ๕๐% อีซี อัตรา ๕๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม/แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน ๒๔.๗% แซดซี อัตรา ๑๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
ที่มา : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร