ARDA โชว์งานวิจัยรักษ์โลก นำใบมันสำปะหลังเหลือใช้พัฒนาสูตรอาหาร “จิ้งหรีด” ลดต้นทุน
พร้อมเดินหน้าสร้างมาตรฐานฟาร์ม ก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมอาหารโลก
จากการที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้ “แมลง” เป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก ทดแทนแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพื่อรองรับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “จิ้งหรีด” ได้รับการยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งในแมลงโปรตีนแห่งอนาคตที่ได้รับความสนใจจากผู้เลี้ยงและกลุ่มคนรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจิ้งหรีดจะได้รับความนิยมในตลาดมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันเกษตรกรยังประสบปัญหาในด้านมาตรฐานการผลิตและต้นทุนการผลิตและความมั่นใจของผู้บริโภค สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พัฒนาสูตรอาหารลดต้นทุนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ยกระดับกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดไทยให้มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดของอาหารโปรตีนจากแมลงทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท และจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) คาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่า 5 เท่า มีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาท ประเทศไทย ถือเป็นเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงและผลิตโปรตีนทางเลือกจากแมลง เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเติบโตของแมลง โดยพบว่าประเทศไทยสามารถผลิตแมลงเศรษฐกิจได้มากกว่า 7,000 ตัน ต่อปี และมีฟาร์มเลี้ยงมากกว่า 20,000 ฟาร์ม โดยจิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีความต้องการของตลาดและเกษตรกรนิยมเลี้ยงมากที่สุด อีกทั้งยังที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็วให้ผลผลิตสูง โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว ให้ลูกถึง 1,000 ตัว รวมถึงใช้พื้นที่และปริมาณน้ำในการเลี้ยงน้อย ภายในเวลา 1 ปี จะเลี้ยงจิ้งหรีดได้ 7 - 8 รุ่น เกษตรกรจึงนิยมเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมไว้บริโภคและจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้
ARDA ได้เล็งเห็นปัญหาและโอกาสในลดต้นทุนโดยเฉพาะด้านอาหารซึ่งปัจจุบันราคาประมาณ 600 บาท ต่อ30 กิโลกรัม พร้อมทั้งต้องการยกระดับฟาร์มเลี้ยงให้ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยเพื่อผลักดันสู่อาหารปลอดภัยมูลค่าสูง จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ดำเนินโครงการ “การยกระดับคุณภาพการเลี้ยงจิ้งหรีดสู่อาหารปลอดภัยมูลค่าสูงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านผาแดง อำเภองาว จังหวัดลำปาง” เพื่อพัฒนาและทดสอบสูตรอาหารลดต้นทุนที่เหมาะสมด้วยพืชผลทางการเกษตรในท้องถิ่น โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน พร้อมพัฒนาระบบจัดการข้อมูลเพื่อติดตามและประเมินผลการผลิตและการตลาด ภายใต้การบริหารจัดการเพื่อพัฒนา RAINS for Upper Northern Food Valley (Increase the value of agricultural products and food by BCG model ) ประจำปี 2566 ซึ่งมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ การจัดทำคู่มือฟาร์มมาตรฐานเพื่อสร้างแนวทางการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค การพัฒนาผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดแปรรูปต่างๆ อาทิ ผงโรยข้าว อาหารเสริม เครื่องดื่ม การพัฒนาแบรนด์โดยชูจุดเด่นเรื่องความปลอดภัยและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิฏิกานต์ สุริยะสาร กล่าวเพิ่มเติมในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ว่า คณะผู้วิจัยฯ ได้ลงพื้นที่คัดเลือกฟาร์มต้นแบบในพื้นที่บ้านผาแดง จ.ลำปาง จำนวน 3 ฟาร์ม ได้แก่ ขุนงาวฟาร์ม วรางคณาฟาร์ม รัตน์บ้านสวนฟาร์ม เป็นฟาร์มนำร่องดำเนินโครงการฯ เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดพื้นที่บ้านผาแดงประสบปัญหาการเลี้ยงจิ้งหรีดที่ได้ผลผลิตน้อย โตช้า ตายมาก และมีค่าอาหารสูง ทางคณะฯ จึงได้ค้นหาพืชที่มีอยู่ทั่วไป หาได้ง่าย และมีราคาถูกในพื้นที่มาทดลองทำอาหารสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีด พบว่าชาวบ้านในพื้นที่บ้านผาแดงปลูกต้นมันสำปะหลังและทิ้งหรือเผาใบมันเป็นจำนวนมาก จึงได้ทดลองนำใบมันสำปะหลังแป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำการทดลอง โดยใช้ใบมันสับปะหลังบดผงทดแทนอาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายในท้องตลาด ในปริมาณที่แตกต่างกัน โดยผลการทดลองพบว่าสูตรที่เหมาะสมมี 2 สูตร ได้แก่ สูตรอาหารที่ประกอบด้วยอาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปคิดเป็นร้อยละ 70 และมีใบมันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนอบแห้งเรียบร้อยแล้วคิดเป็นร้อยละ 30 ทำให้สามารถเก็บผลผลิตจิ้งหรีดได้ภายใน 43 - 45 วัน และ สูตรที่ประกอบด้วยอาหารจิ้งหรีดสำเร็จรูปทางการค้าคิดเป็นร้อยละ 80 และมีใบมันสำปะหลังที่ผ่านกระบวนเรียบร้อยแล้วคิดเป็นร้อยละ 20 สามารถเก็บได้ภายในระยะเวลา 45 - 50 วัน โดยสูตรอาหารเลี้ยงจิ้งหรีดทั้ง 2 สูตรสามารถผลิตจิ้งหรีดที่มีปริมาณไขมัน ปริมาณโปรตีน ปริมาณใยอาหาร ปริมาณเถ้า ปริมาณคาร์โบไฮเดรต ปริมาณไคติน ปริมาณแคโรทีนอยด์ ปริมาณคลอโรฟิลล์เอ ปริมาณคลอโรฟิลล์บี ไม่มีคอเลสเตอรอลและไม่มีไซยาไนด์ ส่งผลให้ต้นทุนในการเลี้ยงจิ้งหรีดลดลงร้อยละ 30 และ 20 ตามลำดับ และจากการนำไปทดลองเลี้ยงเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่า ทั้ง 3 ฟาร์ม พึงพอใจกับสูตรอาหารเป็น อย่างมาก สามารถผลิตจิ้งหรีดได้ขนาด 3 นิ้ว ภายในระยะเวลา 45 วัน ช่วยร่นระยะเวลาการเลี้ยงจากปกติ 50 – 60 วัน ทำให้ต้นทุนด้านอาหารลดลงได้มากถึงประมาณ 6,200 บาทต่อปี สร้างรายได้รวมกว่า 273,000 บาทต่อปี ที่สำคัญโครงการยังมีส่วนช่วยลดการเผาใบมันสับปะหลังที่สร้างปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่ได้อย่างมาก
ผอ.วิชาญฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การเลี้ยงจิ้งหรีด ถือเป็นหนึ่งในเทรนด์อาหารแห่งอนาคตที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเลี้ยงเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการเลี้ยงและการแปรรูปจิ้งหรีด จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรรายย่อยในการเพาะเลี้ยงแมลงโปรตีนทางเลือกซึ่งจะเข้าไปทดแทนโปรตีนกระแสหลักได้ ในที่สุด สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนับสนุนงานวิจัย – ARDA โทรศัพท์. 0-2579-7435 ต่อ 1304
ที่มา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์