เตือนการเฝ้าระวัง โรคเหี่ยวเขียว (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum) ในมันฝรั่ง
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกมันฝรั่ง ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคเหี่ยวเขียว (เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum)
ต้นมันฝรั่งแสดงอาการเหี่ยว ใบและกิ่งลู่ลง ในช่วงกลางวันคล้ายอาการขาดน้ำ และต้นจะฟื้นเป็นปกติในช่วงกลางคืน จะแสดงลักษณะอาการแบบนี้ 3 – 5 วัน หลังจากนั้นต้นมันฝรั่งจะเหี่ยวทั้งต้น และยืนต้นตาย จะสังเกตเห็นบริเวณโคนต้นเหนือดินความสูงไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร มีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อตัดลำต้นตามขวางแช่ในน้ำสะอาด จะมีของเหลวสีขาวเหมือนน้ำนม (bacterial ooze) ไหลออกมา
กรณีที่เชื้อเข้าสู่มันฝรั่งช่วงอายุ 70 - 90 วัน และมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม มีความชื้นในดินสูง เชื้อจะเข้าทำลายส่วนของหัวมันฝรั่ง ทำให้หัวมันฝรั่งนิ่ม หรือเน่าเละ เมื่อผ่าดูจะพบส่วนของท่อลำเลียงเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เกิดอาการเน่าสีน้ำตาล (brown rot) เมื่อบีบหัวจะพบของเหลวสีขาวเหมือนน้ำนมไหลออกมา
กรณีที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม คือ อากาศแห้งและหนาวเย็นมาก ๆ ติดต่อกันหลายวัน เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคจะแฝงอยู่ในหัวมันฝรั่ง โดยไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคแฝงติดไปกับหัวพันธุ์ได้
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดี
2. ไถพรวนดินให้ลึกเกินกว่า 20 เซนติเมตร จากผิวดินและตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคในดินลงได้มาก
3. พื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค สามารถฆ่าเชื้อโรคในดิน โดยใช้ยูเรียผสมปูนขาว อัตรา 80 : 800 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านลงในแปลงหลังไถพรวนดินครั้งแรก จากนั้นไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว้ 3 - 4 สัปดาห์ จึงเริ่มปลูกพืช
4. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นที่แสดงอาการของโรค ให้ขุดต้นที่เป็นโรค นำไปทำลายนอกแปลงปลูกทันที และโรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
5. ควรทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม ทุกครั้งหลังใช้กับต้นที่เป็นโรค
6. ในแปลงที่มีการระบาดของโรค หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว นำส่วนต่าง ๆ ของพืชที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก
7. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อสาเหตุโรค เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือ มันฝรั่ง พริก และถั่วลิสง ให้สลับปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชอาศัย เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรของโรค
8. ใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus subtilis สายพันธุ์ BS-DOA24 ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
ที่มา กรมวิชาการเกษตร