เตือนการเฝ้าระวัง หนอนชอนใบส้ม ในพืชตระกูลส้ม (เช่น มะนาว มะกรูด ส้มโอ และส้มเขียวหวาน) ประจำเดือน พฤศจิกายน 2567
19 พ.ย. 2567
5
0
เตือนการเฝ้าระวัง
เตือนการเฝ้าระวัง หนอนชอนใบส้ม ในพืชตระกูลส้ม (เช่น มะนาว มะกรูด ส้มโอ และส้มเขียวหวาน) ประจำเดือน พฤศจิกายน 2567

เตือนการเฝ้าระวัง หนอนชอนใบส้ม ในพืชตระกูลส้ม (เช่น มะนาว มะกรูด ส้มโอ และส้มเขียวหวาน)

     สภาพอากาศในช่วงนี้ช่วงต้นฤดูหนาวอุณหภูมิต่ำ อาจมีฝนตกบางพื้นที่ มีความชื้นในอากาศสูง เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลส้ม (เช่น มะนาว มะกรูด ส้มโอ และส้มเขียวหวาน) ในระยะ แตกใบอ่อน แตกยอดอ่อน รับมือหนอนชอนใบส้ม ผีเสื้อตัวเต็มวัย วางไข่ใต้เนื้อเยื่อใบใกล้เส้นกลางใบ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอนจะกัดกินและชอนไชอยู่ในระหว่างผิวใบ หนอนจะทำลายด้านใต้ใบมากกว่าบนใบ รอยทำลายสังเกตได้ง่ายตั้งแต่เริ่มทำลายโดยเห็นเป็นเส้นทางสีขาวเรียวยาวในระยะเริ่มแรกและขยายใหญ่ขึ้นเป็นทางคดเคี้ยวไปมา ใบมีลักษณะบิดงอลงทางด้านที่มีหนอนทำลาย นอกจากทำลายใบแล้ว ถ้ามีการระบาดมากหนอนจะเข้าทำลายกิ่งอ่อน และผลอ่อนด้วย รอยแผลที่เกิดจากการทำลายจะเป็นช่องทางให้เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas citri subsp citri ซึ่งทำให้เกิดโรคแคงเกอร์รุนแรงขึ้น

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
     ๑. การบังคับยอดให้แตกพร้อมกัน สามารถควบคุมประชากรของหนอนชอนใบส้มได้ดีขึ้น สะดวกในการดูแลรักษา ช่วยลดจำนวนครั้งในการใช้สารเคมีในการแตกยอดแต่ละรุ่น และเป็นการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติอีกด้วย
     ๒. ใบอ่อนมะนาวที่พบหนอนชอนใบส้มลงทำลายมากควรเก็บทำลายทิ้ง เพื่อลดปริมาณหนอนชอนใบส้ม ในการแตกยอดของมะนาวรุ่นต่อไป
     ๓. สำรวจหนอนชอนใบส้มช่วงแตกใบอ่อน หากยอดอ่อนถูกทำลายเกินกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ของยอดที่สุ่มสำรวจทั้งหมด ให้พ่นสารฆ่าแมลง เช่น ปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ ๘๓.๙% อีซี อัตรา ๔๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ โคลไทอะนิดิน ๑๖% เอสจี อัตรา ๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม ๒๕% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๕ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด ๗๐% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา ๒ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นให้ทั่วทั้งหลังใบและหน้าใบ และถ้าสำรวจพบว่ายังมีการระบาดของหนอนชอนใบส้มให้พ่นซ้ำ

    *การใช้ปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์ ในการป้องกันกำจัดหนอนชอนใบส้มให้มีประสิทธิภาพดีนั้น ต้องทำการพ่นสารโดยใช้อัตราน้ำมากกว่าการพ่นสารฆ่าแมลงทั่วไป เพื่อให้สารน้ำมันเคลือบใบพืช

ที่มา กรมวิชาการเกษตร

ตกลง